เปิดแง่มุม “กรุงธน-กรุงเทพฯ” ที่ (อาจ) ไม่รู้จัก ผ่านโบราณคดีเมืองและแผนที่

Live Book Launch: แกะรอยกรุงธน-กรุงเทพฯ

เรื่องราวของ กรุงธน และ กรุงเทพฯ อาจมีการศึกษาวิจัยแล้วมากมาย แต่ก็ยังมีเรื่องราวอีกไม่น้อยที่รอการค้นพบผ่านแง่มุมของโบราณคดีเมืองและแผนที่ ซึ่งเวที “แกะรอย กรุงธน-กรุงเทพฯ” ในงาน “Knowledge Book Fair เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม” เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 ที่มิวเซียมสยาม สองนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องโบราณคดีเมืองและแผนที่ ได้มาร่วมบอกเล่าถึงรากฐานกรุงธนและกรุงเทพฯ ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน 

รศ.ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ เจ้าของผลงาน “โบราณคดีกรุงธนบุรี” (สำนักพิมพ์มติชน)

รศ.ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ เจ้าของผลงาน “โบราณคดีกรุงธนบุรี” (สำนักพิมพ์มติชน) เริ่มต้นการเสวนาด้วยการอธิบายถึงความแตกต่างของ “โบราณคดี” และ “โบราณคดีเมือง” วิธีการศึกษาหนึ่งที่ยกมาใช้เพื่ออธิบายถึงรากฐานของกรุงธน-กรุงเทพฯ ว่า

“โบราณคดี” คือเรื่องของมนุษย์ในอดีต คล้ายกับประวัติศาสตร์มาก เพียงแค่โบราณคดีต่างตรงที่ศึกษาโดยเน้นหลักฐานที่คนสร้างขึ้น เช่น เจดีย์ รูปถ่ายที่คนทิ้งไว้ แล้วนำหลักฐานนั้นมาบอกเล่า แต่ถ้า “โบราณคดีเมือง” จะเป็นการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเมือง เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 

“ปัจจุบันเรามีตึกรามบ้านช่อง มีระบบสาธารณูปโภค เรามีอะไรเยอะแยะมากมายเต็มไปหมด ในขณะเดียวกันเราจะรู้ว่าผืนแผ่นดินที่เรากำลังเหยียบอยู่ หรือที่เรานั่งอยู่ มันมีอดีตซ้อนทับกันมาเป็นลำดับชั้น เพียงแค่ว่าเวลาที่เราอ่าน เราอ่านจากประวัติศาสตร์ จากพงศาวดารเป็นสำคัญ แต่งานขุดค้นโบราณคดีทำให้เราเห็นพยานหลักฐาน ให้เราเห็นโบราณวัตถุที่อยู่ใต้ดินที่เราไม่เคยรู้มาก่อน โดยเฉพาะในเมืองกรุงเทพฯ เชียงใหม่ หรือแม้กระทั่งเวนิส ล้วนแต่มีสิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์”

รศ.ดร.กรรณิการ์ บอกว่า หลักฐานด้านโบราณคดีเมืองถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะทำให้เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของเมือง ซึ่งเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของผู้คน พร้อมกับยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น กำแพงรัตนโกสินทร์ ที่พบตั้งแต่ทางเท้าที่ท่าช้าง ท่าพระจันทร์ โดยขุดแค่เพียง 50 เซนติเมตรก็เจอหลักฐานเหล่านี้แล้ว หรือเพียงแค่มีการขุดท่อระบายน้ำที่สนามหลวง ก็มีคนเจอระเบิดเป็นเรื่องปกติ ส่วนอีกอย่างหนึ่งคือหลุมฝังศพบริเวณวัดโพธิ์ 

สิ่งเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นความน่าสนใจ ที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่น ๆ อาจไม่สามารถมองเห็นร่องรอยดังกล่าวได้ แต่หลักฐานทางโบราณคดีเมืองสามารถระบุรากฐาน หรือพื้นที่เดิมของกรุงธน-กรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี

ไม่เพียงแค่หลักฐานทางโบราณคดีเมืองจะแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต ข้าวของเครื่องใช้ แต่ยังสามารถเล่าไปถึง “ราก” ของกรุงเทพฯ ได้อีกด้วย เช่นที่นักวิชาการคนเดิมเผยว่า พื้นที่ 4,000-5,000 ปีของกรุงธน-กรุงเทพฯ แต่เดิมนั้นเป็นทะเลมาก่อน แต่เมื่อ 800 ปีได้กลายมาเป็นป่าชายเลน และค่อย ๆ พัฒนาจนมีดินขึ้นมา มีโครงสร้าง มีแม่น้ำ แล้วก็ลำคลอง เริ่มมีการตั้งถิ่นฐาน มีพัฒนาการของเมืองมาเป็นระยะ จนเกิดประวัติศาสตร์ที่ทับซ้อนในกรุงธน-กรุงเทพฯ มากมาย เช่น ความแตกต่างของระดับพื้นทางเดินปัจจุบันกับสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งหากเป็นสมัยหลัง ขุดลึกไปลงไป 80 เซนติเมตร หรือ 1 เมตร ก็ถึงระดับทางเดินซึ่งคนในช่วงนั้นเดินกัน

ดร.รัชดา โชติพานิช หนึ่งในผู้เขียนหนังสือ “เขตคลองมองเมือง” (สำนักพิมพ์มติชน)

ส่วน ดร.รัชดา โชติพานิช หนึ่งในผู้เขียนหนังสือ “เขตคลองมองเมือง” (สำนักพิมพ์มติชน) กล่าวถึงความสำคัญของ “แผนที่” ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งที่คนไทยอาจมองข้าม โดยอธิบายว่า 

“ในอดีตฝรั่งหรือชาวต่างชาติใช้แผนที่มานานแล้วก่อนเรามาก ระบบแผนที่ที่เรามาเรียนรู้แล้วเราหัดทำแบบฝรั่งเริ่มต้นขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 ลงมา คนไทยกับแผนที่ไม่ค่อยรู้จักกันมากเท่าไหร่ ทั้ง ๆ ที่เป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่สามารถทำให้เห็นที่ตั้งของพื้นที่ว่าแต่เดิมคืออะไร มันเห็นการเปลี่ยนแปลง แล้วยิ่งเราเอาแผนที่แต่ละยุคมาเปรียบเทียบ ก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพได้อย่างชัดเจน”

แผนที่ ถือเป็นหลักฐานหนึ่งที่สร้างคุณูปการแก่การศึกษารากฐานของกรุงธน-กรุงเทพฯ อย่างมาก เพราะแผนที่สามารถอธิบายชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนได้เป็นอย่างดี เช่น การเห็นวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ ที่มีความสัมพันธ์ร่วมกับคลองมาเป็นระยะเวลานาน 

ดร.รัชดา เล่าว่า คลองกับกรุงเทพฯ มีความสัมพันธ์กันมาก คนกรุงเทพฯ หรือคนบางกอกใช้ชีวิตกับคลอง ทั้งด้านคมนาคม หรือว่าการเกษตรต่าง ๆ รวมถึงเขตกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ทั้งหมด 50 เขต แม้ว่าชื่อเขตมีทั้งเป็นชื่อบุคคล ชื่อพระราชทาน ชื่อสัณฐานของพื้นที่ แต่พอมาคัดดูแล้วเป็นชื่อคลอง 28 เขต เช่น พญาไท บางกะปิ บางซื่อ บางเขน

ด้าน รศ.ดร.กรรณิการ์ เสริมว่า แผนที่ยังสะท้อนให้เห็น “ธรณีสัณฐาน” หรือที่เรียกกันว่าธรรมชาติวิทยา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงลักษณะธรรมชาติ เช่น แต่เดิมแม่น้ำนั้นเป็นอย่างไร แล้วคนเข้ามาเปลี่ยนธรรมชาติอย่างไรให้ท้ายที่สุดกลายเป็นเมือง 

เจ้าของผลงาน “โบราณคดีกรุงธนบุรี” ยังนำ “โบราณคดีเมืองและแผนที่” มาอธิบายถึงรากฐานเดิมของพื้นที่มิวเซียมสยาม เนื่องจากเมื่อปี 2548 มีมติคณะรัฐมนตรีให้เปลี่ยนแปลงกระทรวงพาณิชย์เป็นสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือมิวเซียมสยามในปัจจุบัน ทั้งยังมีการขุดค้นโบราณคดีบริเวณด้านหน้าของมิวเซียมสยาม ซึ่งจากการขุดค้นดังกล่าว รวมถึงข้อมูลจากแผนที่ ทำให้ทราบว่าพื้นที่บริเวณนี้แต่เดิมเป็นท้องพระโรงและพระราชวังถึง 4 แห่ง 

“ข้างหน้าตรงมิวเซียมสยามเป็นกองดินที่เรียงกันเป็นแนวเยอะแยะมากมายเต็มไปหมด แต่ถ้าเราเห็นแค่นี้เราไม่รู้หรอกว่าเป็นอะไร รู้แค่เพียงเป็นฐานรากของสิ่งก่อสร้างแห่งหนึ่ง แต่เพราะคุณูปการจากแผนที่…ทำให้ทราบว่าท้ายที่สุดพื้นที่ดังกล่าวเป็นท้องพระโรง และทางด้านหลังทั้งหมดเป็นพระราชวัง”

เหตุการณ์ดังกล่าวยิ่งตอกย้ำเห็นได้ว่า “โบราณคดีเมือง” และ “แผนที่” นั้น มีความสำคัญในการมองเห็นรากฐานของกรุงธน-กรุงเทพฯ อย่างมาก

สามารถรับชม Live Book Launch: แกะรอยกรุงธน-กรุงเทพฯ ย้อนหลังได้ที่นี่ คลิก 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2566