ร่องรอย “ขนบ” ทางวรรณคดีไทย ปรากฏในเพลงสมัยใหม่ “อุทยานดอกไม้”

เสภาขุนช้างขุนแผน ขุนแผน วันทอง นางวันทอง ฉาก ใน ป่า เล่นน้ำ
“ขุนแผนพานางวันทองลงเล่นน้ำในป่า” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี เขียนโดย เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย

วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม 2565 เวลา 13.30-16.30 น. ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และศิลปวัฒนธรรม ร่วมกันจัดงาน สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “ก่อเกิดวรรณคดีไทย” วิทยากรโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กุสุมา รักษมณี, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธเนศ เวศร์ภาดา และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ญาดา อารัมภีร ผู้ดำเนินรายการ

เป็นที่ทราบกันว่า “วรรณคดี” คือ บทประพันธ์ที่ได้รับยกย่องว่าแต่งดี มีคุณค่าทางวรรณศิลป์ แต่บทประพันธ์ที่ถูกยกย่องหรือถูกยอมรับว่าทรงคุณค่าเหล่านี้มีที่มาหรือก่อเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง ? ในยุคที่สื่อสมัยใหม่เกิดขึ้นมากมายและมีบทบาทเป็นความบันเทิงหลักของผู้คน วรรณคดี จะอยู่ตรงไหนของสังคมและควรสืบทอดให้ดำรงอยู่ต่อไปอย่างไร ?

ดร. กุสุมา อธิบายการสร้างงานวรรณคดีว่า “วรรณคดี คืองานศิลปะทางภาษา นักเขียนต้องมีแรงบันดาลใจหรือเรื่องประทับใจ อยากส่งต่อให้ผู้อื่น เลยเขียนเป็นหนังสือขึ้นมา ให้ผู้รับสื่อได้ประสบการณ์ร่วม…” ฉะนั้น “…วรรณคดีคือการสื่อสาร ผู้ส่งสาส์นคือผู้เขียน สาส์นคือวรรณคดี ผู้รับสาส์นคือผู้อ่าน”

ดร. ธเนศ กล่าวเสริมเกี่ยวกับที่มาว่า “ผู้เขียนต้องเกิดอารมณ์สะเทือนใจ” ซึ่งความสะเทือนใจดังกล่าวไม่ใช่อารณ์ลบหรือการฟูมฟาย แต่เป็นอารมณ์ที่ทำให้ผู้เขียนเกิดกระบวนการทบทวนประสบการณ์ แล้วคัดกรองหลอมรวมมาเป็นตัวบท ส่วนผู้รับ/ผู้เสพงานก็รับรู้และเข้าใจร่วมกับผู้เขียนด้วย “นอกจากซาบซึ้ง ผู้เสพ [ผู้รับรู้ – ผู้เขียน] ควรเข้าถึงปรัชญาชีวิตด้วย” ดร. ธเนศ กล่าว

ดร. กุสุมา ได้อธิบายถึงที่มาหรือกลุ่มผู้สร้างงานวรรณคดี โดยจำแนกเป็น

1. แวดวงวัง เป็นวรรณคดีจากชนชั้นสูงหรือกลุ่มกวีในราชสำนัก มักจะมีศัพท์ระดับสูง ภาษายาก ๆ ที่มีความวิจิตร ผู้เสพจะต้องมีระดับความรู้หรือเป็นกลุ่มชนชั้นสูง

2. แวดวงวัด เป็นงานวรรณคดีทางศาสนา จะมีศัพท์ภาษาบาลีจำนวนมาก แต่ถ่ายทอดสู่ชาวบ้านได้โดยการแปลให้เข้าใจไปด้วย บางครั้งอาจมีภาษาระดับสูงหากมีที่มาจากพระที่เป็นชนชั้นสูง เช่น “นันโทปนันทสูตรคําหลวง” ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรฯ

3. แวดวงบ้าน เป็นงานวรรณคดีของชาวบ้าน เช่น นิทานที่เล่าปากตต่อปากหรือมุขปาถะ จะมีการแต่งเติมดัดแปลงไปด้วยก่อนมาเป็นลายลักษ์อักษร ประเภทนี้เป็นของมหาชนทั่วไป บางครั้งผู้แต่ง-ผู้อ่านสลับบทบาทกัน มีการแต่งเติมแก้ไขไปด้วย

ดร. ธเนศ อธิบายเพิ่มเติมว่า งานวรรณดีหลายงานเริ่มจากชาวบ้าน คือ เป็นมุขปาถะแล้วค่อยไปอยู่ในวังก็มี เช่น ลิลิตพระลอ และขุนช้างขุนแผน ซึ่งมีบันทึกที่มาไว้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องชาวบ้านก่อนนำมาแต่งเติมเป็นเรื่องยาวโดยการอุปถัมภ์ของราชสำนักในภายหลัง

สำหรับประเด็นเรื่องการสืบทอด รักษา และความเปลี่ยนแปลงของวรรณคดีไทย ดร. ธเนศ อธิบายและให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า แท้จริงแล้วศิลปินไทยจำนวนไม่น้อยได้รักษา “ขนบ” หรือ แบบแผน ทางวรรณคดีเอาไว้ในงานสมัยใหม่อยู่แล้ว คือ มีการสืบทอดเอาไว้อย่างรู้ตัวและอาจจะไม่รู้ตัว

ดร. ธเนศ ยกตัวอย่างวรรณคดีสมัยเก่าที่ปรากฏใน “เสภาขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนลุแก่โทษ” ซึ่งเป็นบทพรรณนาธรรมชาติตอนที่ขุนแผนและนางวันทองขี่ม้าสีหมอกผ่านป่าจะไปเมืองพิจิตร

“ที่เชิงเขาเหล่าพรรณมิ่งไม้   ลมพัดกวัดไกวอยู่หันเหียน

รกฟ้าขานางยางตะเคียน   กันเกราตระเบาตระเบียนและชิงชัน

สนสักกรักขีต้นกำยาน   ฉนวนฉนานคล้าคลักจักจั่น

ปรางปรูประดู่ดูกมูกมัน   เหียงหันกระเพราสะเดาแดง

เต็งแตวแก้วเกดอินทนิล   ร้อยลิ้นตาตุ่มชุมแสง

ขวิดขวาดราชพฤกษ์จิกแจง   สมุลแว้งแทงทวยกล้วยไม้”

บทข้างต้นเป็นการเอาชื่อต้นไม้มาเรียงร้อยกัน ไม่มีกริยา แต่สามารถทำให้รับสื่อจินตนาการได้ถึงผืนป่าอันมหึมา คล้ายภาพพาโนรามาของป่าใหญ่ไพรหนา กดทับตัวละครให้กลายเป็นคนตัวเล็กในป่าใหญ่ได้ ซึ่งในสมัยใหม่เทคนิคนี้ก็ไม่ได้หายไปไหน เพราะยังปรากฏอยู่ในเพลง อุทยานดอกไม้ ที่ประพันธ์โดยสกนธ์ มิตรานนท์ ขับร้องโดย วงจันทร์ ไพโรจน์ และ พุ่มพวง ดวงจันทร์ เคยนำมาขับร้องเช่นกัน

“ชมผกา จำปา จำปี กุหลาบ ราตรี พะยอม อังกาบ ทั้งกรรณิการ์.. ลำดวน นมแมว ซ่อนกลิ่น ยี่โถ ชงโค มณฑา สายหยุด เฟื่องฟ้า ชบา และสร้อยทอง..”

จะเห็นว่าบทเพลงไม่ได้ใส่กริยาใด ๆ เข้ามาเลย แต่ทำให้ผู้ฟังจินตนาการจากชื่อดอกไม้ เพลิดเพลินไปกับเสียง มีเสียงดนตรี/เสียงร้องช่วยตีความ เหมือนได้กลิ่นดอกไม้และสัมผัสความอ่อนละมุนไปด้วย

นอกจากนี้ ดร. ธเนศ ยังชี้ให้เห็นว่า มี รสทางวรรณคดี ทั้ง 4 ประเภท มีอยู่ในงานเพลงของสุนทราภรณ์ด้วย อันได้แก่

1. เสาวรจนี ในเพลง “นางฟ้าจำแลง”

2. นารีปราโมทย์ ในเพลง “หนึ่งน้องนางเดียว”

3. พิโรธวาทัง ในเพลง “เสียแรงรักใคร่”

4. สัลลาปังคพิสัย ในเพลง “ฟ้าหน้าฝน”

มีการอ้างอิงผลงานทางวรรณคดีอื่น ๆ และบทเพลงรวมถึงบทละครสมัยใหม่อีกหลายชิ้นที่ปรากฏ ขนบ ทางวรรณคดีให้เห็น สามารถรับชมได้ทาง Live สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “ก่อเกิดวรรณคดีไทย”

รับชมเสวนาช่วงที่ 1 :

รับชมเสวนาช่วงที่ 2 :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่