กุลีจีนในโรงสูบฝิ่นที่สิงคโปร์

โรงฝิ่นในสิงคโปร์ ภาพถ่ายเมื่อปี 1941 (ภาพจาก Rare Historical Photos)

กุลีคือแรงงานแบกหามไร้ฝีมือซึ่งนับเป็นกระดูกสันหลังของภาคแรงงานในช่วงต้นของสิงคโปร์ ส่วนใหญ่เป็นคนยากจนที่อพยพมาจากประเทศจีนในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เพื่อแสวงหาโอกาสในการทำกิน (คำว่า “กุลี” หรือ “coolie” มีรากศัพท์มาจากภาษาฮินดีอีกที ซึ่งนอกจากจะแปลว่าแรงงานแล้วยังหมายถึงชนพื้นเมืองในรัฐคุชราตซึ่งเชื่อกันว่าเป็น “กุลี” กลุ่มแรกๆ ที่อพยพมาใช้แรงงานในสิงคโปร์)

กุลีจีนที่ต้องเจอกับสภาวะยากลำบากในการใช้แรงงานในดินแดนอาณานิคมจำนวนไม่น้อยกลายเป็นทาสฝิ่น ยาเสพติดซึ่งถือเป็นสินค้าสำคัญของอังกฤษเพื่อใช้รักษาดุลการค้าแลกกับการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยจากเอเชียโดยเฉพาะจีน

ฝิ่นกลายเป็นสินค้าที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับรัฐบาลอาณานิคมนับแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ว่ากันว่า ตัวเลขรายได้ของรัฐบาลมากถึงราว 30-55 เปอร์เซนต์เป็นรายได้สืบเนื่องมาจากการค้าฝิ่น ก่อนที่คณะกรรมการว่าด้วยการค้าฝิ่น (Opium Commission) จะเสนอให้หยุดการทวีรายได้จากยาเสพติดชนิดนี้ในปี 1909 และค่อยๆ มีมาตรการเพื่อลดการใช้ฝิ่นตามมาเรื่อยๆ เริ่มจากการห้ามขายฝิ่นให้ผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี ควบคุมการจัดจำหน่าย ออกใบอนุญาตในการเสพเป็นรายบุคคล ไปจนถึงการเพิ่มโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนถึงขั้นประหารชีวิต (Thulaja, Naidu Ratnala.”Opium and Its History in Singapore”. National Library Board, Singapore. Web. 19 Apr. 2017 <http://eresources.nlb.gov.sg/infopedia/articles/SIP_622_2004-12-16.html>)

ปัจจุบันผู้เสพฝิ่นอาจหลงเหลืออยู่บ้าง ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุซึ่งจะได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ แต่สิงคโปร์ก็ยังคงมีปัญหายาเสพติดอยู่แม้จะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีกฎหมายที่รุนแรง และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดก็ตาม

โดยเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2017 K Shanmugam รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของสิงคโปร์กล่าวต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า ทางการได้ยึดสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทได้เป็นจำนวนมาก แต่ผู้ใช้ยาเสพติดในยุคใหม่ต่างออกไปจากสมัยก่อนมาก เนื่องจากสมัยนี้ กว่า 40 เปอร์เซนต์ของผู้กระทำความผิดมีอายุน้อยกว่า 30 ปี “พวกเขาเป็นนักศึกษา, ผู้ชำนาญการ, คนมีการศึกษาดีและหน้าที่การงานดี

“มีการเผยแพร่ทัศนคติอันน่าดึงดูดประการหนึ่งผ่านสื่อนอกประเทศว่า ยาเสพติดเป็นอะไรที่เจ๋ง และกัญชาไม่ได้มีลักษณะที่ทำให้เสพติด และถ้าเราไม่ระวัง พวกเขาอาจกลายมาเป็นคนติดยารุ่นต่อไป” รัฐมนตรีมหาดไทยของสิงคโปร์กล่าว (Channel News Asia)