ประมวลภาพเก่า “เมืองภูเก็ต” ครั้งรัชกาลที่ 7 เสด็จประพาส

ถนนระนอง (ภาพถ่ายเมืองภูเก็ตคราวรัชกาลที่ 7 เสด็จประพาส)

“ภูเก็ต” แต่ก่อนนิยมเรียกกันว่า “เมืองถลาง” เป็นชุมชนโบราณมาตั้งแต่ราว พ.ศ. 700 ในบันทึกของ ปโตเลมีเคยกล่าวถึงการเดินทางจากสุวรรณภูมิไปแหลมมลายูที่อยู่ทางใต้ว่า จะต้องผ่านแหลมจังซีลอน (Junk Ceylon) เสียก่อน แหลมจังซีลอนนี้ก็คือ “แหลมสลาง” หรือ “แหลมถลาง” นั่นเอง 

หญิงชาวภูเก็ตนำถาดผลไม้นั่งแถวทูลเกล้ารับเสด็จรัชกาลที่ 5

ในสมัยต่อมา กัปตันเรือเรือชาวอังกฤษชื่อ โธมัส ฟอร์เรสต์ เดินเรือจากอินเดียมายังหมู่เกาะมะริด ได้แวะพักที่เกาะถลาง เมื่อ พ.ศ. 2327 ได้เขียนบันทึกไว้ว่า “เกาะ Jan Sylan ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของอ่าวเบงกอล และแยกออกจากผืนแผ่นดินใหญ่โดยช่องแคบ อันเต็มไปด้วยทรายยาวประมาณหนึ่งไมล์ ช่องแคบนี้จะถูกน้ำท่วมเวลาน้ำขึ้น (น้ำขึ้นสูงสุดประมาณ 10 ฟุต) และตอนเหนือสุดของช่องแคบก็เป็นท่าเรือที่ดีเยี่ยม เรียกว่า ปากพระ Popra”

ชาวภูเก็ตรอรับเสด็จรัชกาลที่ 6

คำว่า Junk ของปโตเลมี หรือ Jan ของกัปตันฟอร์เรสต์นั้น มีผู้สันนิษฐานว่า มาจาก อุยัง หรือ Ujung ซึ่งแปลว่า ปลายสุด คือแหลม ส่วนคำว่า Ceylon หรือ Sylan หรือซาลังนั้น อาจจะมาจากคำว่า ลาแล ซึ่งแปลว่า หญ้าคา หรือคำว่า สิแร ซึ่งแปลว่า พลู ซึ่งทั้งสองคำนี้เป็นภาษาพื้นเมืองดั้งเดิม

รัชกาลที่ 7 เสด็จประพาสภูเก็ต

แต่เดิมเมืองถลางมีเพียงชุมชนเล็ก ๆ สำหรับแวะพักของเรือสินค้าเท่านั้น จนกระทั่งมีชื่อปรากฏในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชว่า เป็นเมืองรวมกับเมืองตะกั่วป่า เรียกว่า เมืองตะกั่วถลาง เป็นเมืองหนึ่งในเมืองสิบสองนักษัตร ใช้ตราประจำเมืองเป็นรูปสุนัข อันหมายถึงปีจอ

เกาะถลางเพิ่มความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีแร่อุดมสมบูรณ์มาก โดยเฉพาะดีบุก จึงเกิดการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นเมืองท่าและการค้าที่สำคัญเมืองหนึ่ง และยกฐานะเมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง และถลาง เป็นหัวเมืองชั้นตรี

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรเรือดูดแร่ที่ภูเก็ต
รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรเหมืองนาลึก ภูเก็ต
รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรเหมืองนาลึก ภูเก็ต

ราว พ.ศ. 2229 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์แห่งกรุงศรีอยุธยา พ่อค้าชาวฝรั่งเศสที่ได้มาทําการค้าขายกับเมืองถลาง ได้บรรยายสภาพทั่ว ๆ ไปของเมืองถลางไว้ว่า “เป็นเกาะเล็ก ๆ วัดโดยรอบยาวประมาณ 35 ไมล์ ตั้งอยู่ริมชายทะเลฝั่งตะวันตกแหลมมะละกา ห่างจากฝั่งประมาณระยะทางปืนสั้น และอยู่ในระหว่าง 6 และ 8 ดีกรีของละติจูดเหนือ… ตามเกาะภูเก็ตนี้เต็มไปด้วยป่าไม้ทึบ ซึ่งมีแต่เสือ ช้าง แรด และสัตว์ร้ายอย่างอื่นอาศัยอยู่เท่านั้น และแรดนั้น บางทีพวกเราก็ต้องรับประทานเป็นอาหารต่างเนื้อโคก็มี”

พลับพลารับเสด็จรัชกาลที่ 7 ที่อ่าวมะขาม

นอกจากนี้ เมืองถลางยังมีท่าเรือฝั่งตะวันตก ดังที่กัปตันฟรานซิส ไลท์ ได้เขียนรายงานเมื่อ พ.ศ. 2326 ว่า “เกาะภูเก็ตมีท่าเรือกว้างมาก ทางด้านตะวันตกปลอดภัยทุก ๆ ฤดู ท่าเรือดียิ่ง ดินก็อุดม และอากาศก็ถูกสุขลักษณะ”

ถนนกระบี่ (ภาพถ่ายเมืองภูเก็ตคราวรัชกาลที่ 7 เสด็จประพาส)
ถนนถลาง (ภาพถ่ายเมืองภูเก็ตคราวรัชกาลที่ 7 เสด็จประพาส)

ก่อนหน้า พ.ศ. 2384 ไม่มีหลักฐานระบุว่า เกาะถลางมีเมือง 2 เมือง คือเมืองถลาง และเมืองภูเก็ต มีการแบ่งเขตแดนกันอย่างไร กระทั่ง พ.ศ. 2384 พงศาวดารเมืองถลางได้บันทึกไว้ว่า เมืองถลางและเมืองภูเก็ตเป็นคนละเมืองกัน (ในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ) ได้ปรากฏชื่อเกาะภูเก็ตขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2169 โดยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้พระราชทานที่ดินให้พวกฮอลันดาสร้างสถานีเก็บสินค้าขึ้นที่แถบปากน้ำเจ้าพระยาแล้วให้ตั้งสาขาขึ้นที่เกาะภูเก็ตและนครศรีธรรมราช จึงเข้าใจว่า คงจะเป็นในสมัยนี้ที่ได้เกิด เมืองภูเก็ตขึ้นอีกเมืองหนึ่ง

ถนนเยาวราช (ภาพถ่ายเมืองภูเก็ตคราวรัชกาลที่ 7 เสด็จประพาส)

คลองบางคูคดทีว่านี้เป็นเส้นแบ่งเขตแดนของเมืองถลางและเมืองภูเก็ต ส่วนในทะเลด้านตะวันออกตั้งแต่เกาะมะพร้าวลงไปทางใต้ ไปทางแหลมงา แหลมพับผ้า เป็นเขตแดนเมืองภูเก็ต และตั้งแต่เกาะยาว เกาะลัง ขึ้นไปทางเหนือจนถึงแหลมปากพระ เป็นเขตแดนเมืองถลาง ส่วนปากพระอีกฟากหนึ่ง เป็นเขตแดนเมืองตะกั่วทุ่ง ดังนั้น จะเห็นได้ว่า เมืองถลางตั้งอยู่ทางเหนือของเกาะ และเมืองภูเก็ตอยู่ทางใต้ แนวเขตแดนเดิมนี้ยังคงใช้เป็นแนวเขตแดนระหว่างอำเภอเมืองภูเก็ตกับอำเภอถลาง

ถนนเยาวราช (ภาพถ่ายเมืองภูเก็ตคราวรัชกาลที่ 7 เสด็จประพาส)
ถนนเยาวราช (ภาพถ่ายเมืองภูเก็ตคราวรัชกาลที่ 7 เสด็จประพาส)

หลังจากอังกฤษเริ่มขยายกิจการค้ามายังบริเวณนี้ ทำให้การผลิตและค้าดีบุกในเมืองถลางขยายตัวอย่างรวดเร็ว ราชสำนักกรุงเทพฯ จึงเริ่มให้ความสนใจเมืองถลางมากขึ้น ส่งขุนนางออกไปดูแลโดยตรง กระทั่ง พม่ายึดและเผาทำลายเมืองถลางใน พ.ศ. 2352 เมืองถลางจึงเกือบกลายเป็นเมืองร้าง ชาวบ้านอพยพไปตั้งเมืองใหม่ที่พังงา บนฝรั่งตรงกันข้าม กระทั่งถึง พ.ศ. 2367 จึงย้ายกลับไปตั้งเมืองใหม่ที่ถลาง จน พ.ศ. 2383 รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้เมืองถลางขึ้นกับเมืองพังงา ในสมัยพระยาบริรักษ์ภูธร (แสง)

ถนนเทพกระษัตริย์ (ภาพถ่ายเมืองภูเก็ตคราวรัชกาลที่ 7 เสด็จประพาส)
จวนเทศามณฑลภูเก็ต (ภาพถ่ายเมืองภูเก็ตคราวรัชกาลที่ 7 เสด็จประพาส)
ศาลมณฑลภูเก็ต (ภาพถ่ายเมืองภูเก็ตคราวรัชกาลที่ 7 เสด็จประพาส)

ในระยะที่โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองถลางขึ้นใหม่ บริเวณบ้านทุ่งคาได้กลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ขึ้นมา คือเมืองภูเก็ต เนื่องจากมีแหล่งแร่ดีบุกที่อุดมสมบูรณ์

ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์เสด็จประพาสเมืองภูเก็ต ใน พ.ศ. 2433 ทรงบันทึกไว้ว่า “เป็นเมืองใหญ่โต แปลกกว่าที่เรามาเห็น 19 ปีมาแล้วมาก แต่เป็นเมืองจีนมีแต่เจ๊กมาก ตึกรามบางแห่งเก่า บางแห่งใหม่ อยู่ข้างสกปรก ถนนก็ว่าโทรม เพิ่งแต่งขึ้นแต่ทั้งแต่งแล้วเช่นนี้ก็ยังเต็มที ฝนตกลงมายังเป็นหล่มเป็นโคลนมาก จะต้องคิดแต่งใหม่ให้เสมออยู่จงได้… เหมืองที่ทำอยู่เดี๋ยวนี้ ยื่นบัญชีว่าเป็นเหมืองใหญ่ 62 ตำบล เหมืองน้อย 69 ตำบล รวม 131 เหมือง มีคนทำการอยู่ในเหมืองทั้งสิ้น 8,984 คน มากกว่าที่ตะกั่วป่าเท่าตัว และที่ระนอง 3 เท่าตัว”

สะพานพระอร่าม (ภาพถ่ายเมืองภูเก็ตคราวรัชกาลที่ 7 เสด็จประพาส)
ศาลากลางมณฑลภูเก็ต (ภาพถ่ายเมืองภูเก็ตคราวรัชกาลที่ 7 เสด็จประพาส)
น้ำตกโตนไทร (ภาพถ่ายเมืองภูเก็ตคราวรัชกาลที่ 7 เสด็จประพาส)
กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลฉลอง (ภาพถ่ายเมืองภูเก็ตคราวรัชกาลที่ 7 เสด็จประพาส)
นายตำรวจมณฑลภูเก็ต (ภาพถ่ายเมืองภูเก็ตคราวรัชกาลที่ 7 เสด็จประพาส)

ภาพถ่ายและข้อมูลประกอบจาก หนังสือ “ถลาง ภูเก็ต และชายฝั่งทะเลอันดามัน โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์และเศรษฐกิจ” จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร พ.ศ. 2532


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2563