เผยแพร่ |
---|
ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อเสร็จสิ้นส่วนของพิธีหลวงแล้ว จะมีการเสด็จออก ณ สีหบัญชร เพื่อให้พสกนิกร เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล
สำหรับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 ในวันที่ 6 พฤษภาคม ถือเป็นรายการสำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับประชาชน ดังที่ราชการประกาศให้วันที่ 6 เป็นวันหยุดราชการเป็นพิเศษแล้ว
วันที่ 6 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯออก ณ สีหบัญชร บนกำแพงพระบรมมหาราชวังฝั่งพระราชอุทยานสราญรมย์ ณ ที่นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าเข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล นับเป็นโอกาสสำคัญที่ประชาชนจะได้เข้าเฝ้าฯ
“สีหบัญชร” หมายถึง หน้าต่างของพระที่นั่ง ที่พระมหากษัตริย์เสด็จออกให้ข้าราชการและประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในโอกาสสำคัญ มีลักษณะเป็นระเบียงยื่นออกไป เช่น สีหบัญชรที่พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต สีหบัญชรที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จออก ณ สีหบัญชรพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาทพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2493
เช่นเดียวกับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาทเช่นเดียวกัน
สำหรับพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ตั้งอยู่บนกำแพงพระบรมมหาราชวังระหว่างประตูเทวาพิทักษ์กับประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์ สร้างในรัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นที่ประทับทอดพระเนตรขบวนแห่ในพระราชพิธีสนานใหญ่ และการฝึกช้าง ลักษณะเป็นพลับพลาโถง ทำด้วยเครื่องไม้มีอัฒจันทร์ขึ้นลงทางทิศเหนือและทิศใต้ต่อมาในรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ก่อผนังอิฐฉาบปูนต่อเติมหลังคาเป็นยอดปราสาท พุทธศักราช 2492 มีการต่อเติมสร้างเฉลียงไม้ด้านตะวันออกเป็นสีหบัญชร
หมายเหตุ : เรียบเรียงจากหนังสือประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก จัดพิมพ์โดยกระทรวงวัฒนธรรม เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562