ผู้เขียน | ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ |
---|---|
เผยแพร่ |
บรรยากาศการทำนาบริเวณสาทร กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ แสดงให้เห็นว่าการขยายตัวของกรุงเทพฯ เมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ#ชั้นใน ส่วนบริเวณถนนสีลม สาทรยังคงเป็นชานพระนคร มีลักษณะแบบชนบททั่วไป คือ การทำนา
คลองสาทรขุดเมื่อไรไม่ปรากฏ แต่น่าจะก่อน พ.ศ. ๒๔๓๐ เพราะมีหลักฐานในแผนที่กรุงเทพฯ จ.ศ. ๑๒๔๙ (พ.ศ. ๒๔๓๐) แล้ว (ในแผนที่ปรากฏตึกเพียง ๓ หลัง ในริมคลองด้านทิศเหนือ ช่วงใกล้มาทางถนนเจริญกรุง)
บุคคลซึ่งริเริ่มให้ขุด คือ หลวงสาทรราชายุกต์ (ยม พิศลยบุตร) โดยขุดคลองเชื่อมระหว่างถนนเจริญกรุงกับถนนหัวลำโพง เรียกกันลำลองว่า คลองพ่อยม และได้จัดสรรที่ดินขายให้กับผู้สนใจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกงสุลต่างประเทศ พ่อค้าและผู้มีฐานะ และหลวงสาทรราชายุกต์ (ยม พิศลยบุตร) ได้สร้างบ้านส่วนตัวขึ้นบริเวณด้านเหนือของคลอง (ปัจจุบัน คือ โรงแรมดับเบิลยู ก่อนหน้านี้ คือ สถานทูตรัสเซีย และโรงแรมรอแยล ตามลำดับ) ครั้นถึง พ.ศ. ๒๕๒๒ มีโครงการพัฒนาถนนสาทรเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด จึงมีการสร้างถนนขนาด ๔ ช่องจราจร ทั้งเหนือและใต้ โดยคร่อมคลองสาทรไว้ตรงกลาง ทำให้ต้องตัดต้นไม้ริมคลองทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย
หลวงสาทรราชายุกต์ (ยม พิศลยบุตร) กรมท่าซ้าย เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ เป็นบุตรพระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ (เจ้าสัวยิ้ม) กับปราง (ขรัวยาย) ป่วยเป็นอหิวาตกโรค อาการทรุดหนักลง ถึงแก่กรรม วันที่ ๑ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๔ (พ.ศ. ๒๔๓๘) อายุได้ ๓๘ ปี มีบุตร ธิดากับริ้ว ภรรยา ๓ คน คือ
๑. พระสมบัตยานุกูล (ฉิม พิศลยบุตร)
๒. ชื่น
๓. แช่ม มีสามี ชื่อ หลวงจิตจำนง (ถมยา รงควานิช)