จอมพล ป. นำนศ.ปฏิญาณตนต่อพระแก้วมรกต ในเหตุการณ์เรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส

จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับบรรดานักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง กระทำการปฏิญาณตนต่อพระแก้วมรกต ในการเรียกร้องดินแดนคืน วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2483 ที่หน้ากระทรวงกลาโหม (ภาพจากหนังสือ ไทยสมัยสร้างชาติ)

เมื่อ พ.ศ. 2479 รัฐบาลไทยภายใต้การนําของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี กําลังเจรจาแก้ไขสนธิสัญญากับนานาประเทศนั้น รัฐบาลไทยได้เสนอต่อรัฐบาลฝรั่งเศส ขอให้ปรับปรุงเส้นเขตแดนกันใหม่ แต่ฝ่ายฝรั่งเศสขอให้รอการเจรจาออกไปก่อน ต่อมา ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสได้ขอทํากติกาสัญญาไม่รุกรานกับรัฐบาลไทย

รัฐบาลไทยยินดีที่จะทํากติกาสัญญาเช่นนี้ แต่ขอให้ฝรั่งเศสยอมปรับปรุงเขตแดนกันตามหลักกฎหมาย ระหว่างประเทศ คือขอให้ถือร่องน้ำลึกในแม่น้ำโขงเป็นเส้นเขตแดน ตามกฎหมายระหว่างประเทศ และให้ไทยมีเส้นเขตแดนธรรมชาติตามหลักยุติธรรม เมื่อการเจรจาเรียบร้อยแล้วจึงได้มีการลงนามในกติกาสัญญาไม่รุกรานกัน เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ซึ่งถัดจากนั้นอีกเพียงสัปดาห์เดียว กองทัพฝรั่งเศสก็จํานนต่อกองทัพเยอรมันในสมรภูมิที่ยุโรป

ต่อมาเมื่อฝรั่งเศสลงนามสงบศึกกับเยอรมนีแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสได้แจ้งมาทางเอกอัครราชทูตไทยประจําประเทศฝรั่งเศสอีกว่า ขอให้กติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส มีผลบังคับใช้ได้ทันทีโดยมิต้องรอการแลกเปลี่ยนสัตยาบัน

จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับบรรดานักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง กระทำการปฏิญาณตนต่อพระแก้วมรกต ในการเรียกร้องดินแดนคืน วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2483 ที่หน้ากระทรวงกลาโหม (ภาพจากหนังสือ ไทยสมัยสร้างชาติ)

ฝ่ายรัฐบาลไทยเมื่อได้รับคําตอบจากฝรั่งเศสเช่นนั้น จึงได้มีการประชุมพิจารณาคําตอบของฝรั่งเศสกันอย่างเคร่งครัด เมื่อได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางละเอียดลออทุกแง่ทุกมุมแล้ว ฝ่ายไทยจึงได้ตอบฝรั่งเศสไป เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2483 ว่ายินดีตกลง ตามที่ฝรั่งเศสได้แจ้งมาขอให้ฝรั่งเศสได้ตกลงปัญหาต่างๆ ที่รัฐบาลไทยได้เสนอขอทําความตกลง จํานวน 3 ข้อ ดังนี้ 

1. วางแนวเส้นเขตแดนตามลําน้ำโขง ให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวคือ ถือร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์

2. ปรับปรุงเขตแดนให้เป็นไปตามธรรมชาติ คือให้ถือว่าแม่น้ำโขงเป็นเขตแดนระหว่างประเทศไทยและอินโดจีนตั้งแต่ทิศเหนือมาจนทิศใต้จนถึงเขตแดนกัมพูชา โดยให้ฝ่ายไทยได้รับดินแดนทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงตรงข้ามหลวงพระบางและปากเซคืนมา

3. ขอให้ฝ่ายฝรั่งเศสรับรองว่าถ้าอินโดจีนเปลี่ยนจากอธิปไตยฝรั่งเศสไป ฝรั่งเศสจะคืนอาณาเขตลาว และกัมพูชาให้แก่ไทย 

จอมพล ป. พิบูลสงคราม กล่าวปราศรัยเรียกร้องดินแดนคืน หน้ากระทรวงกลาโหม 8 ตุลาคม พ.ศ. 2483 (ภาพจากหนังสืออนุสรณ์ครบรอบ 100 ปี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม 14 กรกฎาคม 2540)
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ปราศรัยแก่บรรดานักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ที่มาเรียกร้องดินแดน วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2483 ที่หน้ากระทรวงกลาโหม (ภาพจากหนังสือ ไทยสมัยสร้างชาติ)
จอมพล ป. พิบูลสงคราม โบกธงรับบรรดานักศึกษาที่มาเรียกร้องดินแดน วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2483 ที่หน้ากระทรวงกลาโหม (ภาพจากหนังสือ ไทยสมัยสร้างชาติ)

ประชาชนชาวไทยทั้งชาติได้ให้การสนับสนุนอย่างพร้อมเพรียง กล่าวคือ เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2483 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติขอบคุณรัฐบาลที่ได้เสนอข้อตกลงกับฝรั่งเศสทั้ง 3 ข้อ ที่กล่าวข้างต้น

ส่วนบรรดานิสิตนักศึกษา ยุวชน และประชาชนก็พากันเดินขบวนสนับสนุน บ้างก็บริจาคของกินของใช้ให้ทหาร บ้างก็บริจาคทรัพย์สินส่วนตัวเพื่อซื้ออาวุธให้ทหารเป็น ครั้งแรกที่คนไทยรู้จักคําว่า “ถุงของขวัญ” ซึ่งพี่น้องชาวไทยทุกครอบครัวส่งมาให้เป็น “กองภูเขา ๆ” ที่หน้ากระทรวงกลาโหม

อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสปฏิเสธข้อเสนอทั้ง 3 ข้อโดยสิ้นเชิง ต่อมาในเที่ยงคืนของวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2483 กองทหารญี่ปุ่นได้เคลื่อนพลเข้าสู่ดินแดนอินโดจีน และได้มีการสู้รบกับกองทหารฝ่ายฝรั่งเศสแล้ว กองทหารญี่ปุ่นก็เข้าสู่อินโดจีนได้สําเร็จ ฝ่ายรัฐบาลไทยได้พยายามเจรจากับฝรั่งเศสอีกครั้งแต่ได้รับการปฏิเสธเช่นเดิม ในระหว่างที่การเจรจากําลังดําเนินอยู่นั้น การกระทบกระทั่งกันทางชายแดนได้เกิดขึ้นบ้าง ประชาชนชาวไทยต่างได้ให้ความสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล

บรรดาครู นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ และประชาชนในจังหวัดพระนครและธนบุรี ร่วมหลายหมื่นคนเดินขบวนแห่เรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส กำลังชุมนุมหน้ากระทรวงกลาโหม วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2483 (ภาพจากหนังสือ ไทยสมัยสร้างชาติ)

ในช่วงบรรยากาศการเรียกร้องนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับบรรดานักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง กระทำการปฏิญาณตนต่อพระแก้วมรกต ในการเรียกร้องดินแดนคืน เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2483 ที่หน้ากระทรวงกลาโหม ดังภาพที่ปรากฏข้างต้น

แต่เมื่อการเจรจาไม่สำเร็จผล รัฐบาลไทยได้ประกาศยับยั้งการให้สัตยาบันกติกาสัญญาไม่รุกรานกับฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2483 เป็นเหตุให้ประเทศไทยจําเป็นต้องประกาศสงครามกับอินโดจีนและฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2484

 


อ้างอิง: อนุสรณ์ครบรอบ 100 ปี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม 14 กรกฎาคม 2540.  (2540).  กรุงเทพฯ: ป. สัมพันธ์พาณิชย์.


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 8 มีนาคม พ.ศ.2562