ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2537 |
---|---|
ผู้เขียน | เอนก นาวิกมูล |
เผยแพร่ |
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ หรือ ทัด บุนนาค (สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย) ผู้สร้างวัดพิชัยญาติ และผู้เคยเป็นแม่ทัพใหญ่ลงไปปราบกบฏหัวเมืองมลายูคราว พ.ศ. 2381 ถ่ายเมื่อราวต้นสมัยรัชกาลที่ 4 หรือก่อน พ.ศ. 2400 ที่ท่านถึงแก่พิราลัย
ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เนกาติฟ 8874 ตัวรูปต้นฉบับมีขนาดกว้างยาว 3.3 x 5.3 ซ.ม. อัดลงบนกระดาษกว้างยาว 6 x 9.3 ซ.ม. นับเป็นรูปก๊อบปี้รุ่นเก่าที่สําคัญมากรูปหนึ่ง ผู้บรรยาย (เอนก) ได้เห็นเป็นครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524 โดย คุณสวนีย์ วิเศษสินธุ์ เจ้าหน้าที่หอฯ กรุณานํามาให้ชม
ทันทีที่เห็นก็สามารถเชื่อมโยงกับภาพอื่นและตั้งข้อสันนิษฐาน ได้ 2 ประการคือ :
1. รูปถ่ายแผ่นนี้เป็นต้นแบบของรูปซึ่งถูกวาดแต่งแก้ไขตีพิมพ์ เผยแพร่ทั่วไปดังเห็นในหนังสือเรื่องตั้งเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร เป็นต้น (ในหนังสือเล่มนั้นมีการเพิ่มความคมของเส้นผม ดวงตา ลําตัว แขน เล็บ (ไว้เล็บยาว) บุหรี่ในมือและลายผ้าอย่างชัดเจน เฉพาะหน้าตานั้น ขอให้สังเกตว่า เปลี่ยนแปลงไปพอสมควร)
2. เชื่อว่าการถ่ายครั้งแรกสุด ถ่ายด้วยระบบดาแกโรไทพ์ ซึ่งเป็นระบบการถ่ายรุ่นแรกของโลก (ตัวรูปจะปรากฏบนแผ่นโลหะชัดเจน นิยมใส่กรอบวงรีหรือมุมมนจนมักเห็นเป็นคราบหรือรอยภายหลัง) ดัง ก.ศ.ร.กุหลาบ กล่าวในหนังสือสยามประเภท ฉบับวัน ศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม ร.ศ. 119 พ.ศ. 2444 หน้า 1167-8 ตอน หนึ่งว่า
“ในเวลาโน้นนั้นก็ทันมีช่างถ่ายรูปในกรุงเทพฯบ้างแล้ว คือท่านสังฆราชปาเลอกัว 1 พระยากระสาปนกิจโกศล (โหมด) แต่ยังเป็นนายโหมด มหาดเล็ก ก็เป็นช่างถ่ายรูปได้ 1 แต่ไม่มีโอกาศจะถ่ายพระรูปเสด็จอุปัชฌาย์ไว้ได้ จึงไม่มีพระรูปสําแดงให้ท่านผู้ถามเห็นได้ ครั้งนั้นก็ได้ถ่ายรูปสมเด็จองค์น้อย แต่ยังเป็นพระยาศรีพิพัฒน์ (ทัด) ได้ถ่ายไว้ ยังมีอยู่จนทุกวันนี้ ที่ข้าพเจ้าก็มีที่อื่น ๆ ก็มีอยู่หลายรูป แต่ในเวลาโน้นถ่ายรูปด้วยแผ่นเงินไม่ได้ถ่ายแผ่นกระจก พิมพ์ติดกระดาษหามิได้”
12 ปีให้หลัง ผู้บรรยายได้เห็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งซึ่งยืนยันว่ารูปดังกล่าวแรกสุดถ่ายด้วยระบบดาแกโรไทพ์จริงคือเมื่อวันจันทร์ ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2536 คุณลลิตา โรจนกร นักสะสมภาพได้นําหนังสือพิมพ์เก่ามาให้ชม ปรากฏว่าในหนังสือพิมพ์ ดิ อิลลัส เตรเด็ด ลอนดอน นิวส์ ฉบับวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2401 มีรูปลายเส้นสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยในอิริยาบถเดียวกันนี้ลงพิมพ์อยู่ บรรยายว่าวาดจากรูปถ่ายระบบดาแกโรไทพ์
แต่ฝรั่งเข้าใจผิดไปเล็กน้อย คือบรรยายว่าเป็นรูป ร.4
อ่านเพิ่มเติม :
- รัชกาลที่ 4 ทรงปิดเรื่อง “ฟันปลอม” เป็นความลับ-ไม่ทรงให้แพทย์แตะพระโอษฐ์
- “เหตุการณ์อัศจรรย์” หลังรัชกาลที่ 4 สวรรคต ในเอกสารอภินิหารการประจักษ์
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 ธันวาคม 2561