วันวาน “บ้านปลายเนิน” ที่ประทับสุดท้ายแห่ง “สมเด็จครู”

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และหม่อมเจ้าหญิงดวงจิตร จิตรพงศ์ พระธิดา ประทับพระเก้าอี้ในสวนด้านหลังตำหนัก

เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ประชวรด้วยพระโรคประจำพระองค์ ด้วยเหตุที่ทรงพระโอสถมวนเป็นนิจ จึงทำให้ประชวรบ่อยครั้งเมื่อประทับ ณ วังท่าพระ หรือวังท่าช้าง (มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระในปัจจุบัน) เนื่องจากเป็นที่ประทับ ‘ในเมือง’ อากาศถ่ายเทไม่สะดวกนัก คราวหนึ่ง เสด็จไปประทับ ณ บ้านเจ้าพระยาเทเวศรวงษ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) ซึ่งปลูกเรือนอยู่ ณ ตำบลคลองเตยแห่งนี้ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของตึกไทย ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของวังปลายเนิน) ก็ทรงพระสำราญ ไม่ประชวรบ่วยครั้ง

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประทับสำราญพระอิริยาบถกับพระธิดาในสวนด้านหลังตำหนักไทย

จึงมีพระประสงค์ที่จะปลูกตำหนักในบริเวณใกล้เคียงเช่นเดียวกัน ในที่สุด ทรงซื้อที่นาจำนวน ๔ ไร่ครึ่งของนางเหนี่ยง มารดาของภรรยานายเปลา เอี่ยมอักษร ซึ่งภายหลังได้รับพระเมตตาเป็นหลวงจำนงบริรักษ์ ปลัดกรมในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ด้วยราคาตารางวาละ ๔ บาท (ภายหลังทรงซื้อที่นาของชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงอีกราว ๑๐ ไร่) แล้วทรงซื้อเรือนไทยที่เจ้าของเดิมรื้อลงนั้นหลายหลัง นำมาปรุงเป็นเรือนใหม่ สำหรับตำหนักที่ประทับหรือ “ตำหนักไทย” นั้น แบ่งเป็นสองหลัง โดยเรือนใหญ่ เป็นหอนั่งเดิมของเรือนพระยาราชมนตรี (ภู่ ภมรมนตรี) ต่อกับอีกเรือนหนึ่ง ซึ่งใช้เป็นห้องบรรทม โดยที่ทางเขื่อมระหว่างทั้งสองหลัง ทรงใช้เป็นห้อง ‘ทรงเขียน’ หรือห้องทรงงาน

ตำหนักตึก ที่ประทับสุดท้ายแห่ง “สมเด็จครู”

เมื่อพระชันษาเข้าสู่ปัจฉิมวัย หม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์ ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ดำริให้สร้างตำหนักขึ้นอีกหลังหนึ่ง ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตำหนักไทยดังกล่าว เป็นอาคารอย่างตะวันตกสูง ๒ ชั้น ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ตำหนักตึก” ซึ่งตำหนักตึกแห่งนี้เคยมีเหตุการณ์สำคัญยิ่งคือ เป็นที่ประทับในพระอวสานกาลของ “สมเด็จครู” ซึ่งสิ้นพระชนม์ ณ ห้องบรรทมบนตำหนักแห่งนี้ ในวันที่ ๑๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๐

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และหม่อมเจ้าหญิงดวงจิตร จิตรพงศ์ พระธิดา ประทับพระเก้าอี้ในสวนด้านหลังตำหนัก

และเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๘๒ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ไปทรงเยี่ยมพระอัยกา และเสวยพระสุธารสชา ณ ตำหนักตึกแห่งนี้ โดยทรงพระดำเนินผ่านทางที่เรียกว่า “ทางเสด็จ” ซึ่งยังคงรักษาไว้จวบจนทุกวันนี้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ขวา) ในงานซึ่งจัดภายในบริเวณวังปลายเนิน

นอกจากนี้ สวนด้านหลังตำหนักไทยนั้น ยังคงร่มรื่นไปด้วยพรรณไม้นานาชนิด ซึ่งเป็นที่สำราญพระอิริยาบถกับพระโอรส พระธิดาเมื่อยังทรงพระชนม์อยู่ รวมทั้งในปัจจุบัน ยังเป็นที่จัดการแสดงในวันนริศรานุวัดติวงศ์ของทุกปีอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ ตำหนักไทย ตำหนักตึก และอาคารอื่นในบ้านปลายเนิน จึงมีคุณค่าต่อจิตใจของราชสกุลจิตรพงศ์ รวมถึงบุคคลอื่น ๆ ที่มีความผูกพันกับสถานที่แห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง ด้วยเป็นสถานที่อันเกิดจากการอนุรักษ์ จากรุ่นสู่รุ่น เป็นสถานที่อันแสดงถึงพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพระองค์นั้น เป็นสถานที่สำคัญที่พระยุคลบาทของพระเจ้าแผ่นดินถึงสองพระองค์ประทับยังผืนดินแห่งนี้

พระธิดา และพระนัดดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ฉายในสวนหลังตำหนัก

แม้ในปัจจุบัน บ้านปลายเนินจะถูกล้อมรอบไปด้วยอาคารสูงหลายแห่งด้วยสภาพของพื้นที่ได้เปลี่ยนแปลงไป จาก ‘ชานเมือง’ เป็น ‘กลางเมือง’ ซึ่งแน่ทีเดียวว่า เกิดผลกระทบต่อความคงทนของโครงสร้างตำหนักที่ประทับไม่มากก็น้อย

การที่จะมีอาคารสูงสร้างเพิ่มติมขึ้นในบริเวณใกล้เคียงถือเป็นความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายเป็นอย่างยิ่ง หากตำหนักทั้งสอง เกิดความเสียหายเกินกว่าจะซ่อมแซมให้ดีดังเดิมได้ ใคร หรือหน่วยงานใดจะสามารถรับผิดชอบได้?

ในที่สุดแล้วจะปล่อยให้ความเจริญ บ่อนทำลายรากเหง้าของชุมชนจริงหรือ?

“บ้านปลายเนินบอบช้ำมามากพอแล้ว”


[ข้อมูลและภาพจากเพจ : สมเด็จครู]

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 ตุลาคม 2561