
เผยแพร่ |
---|
พงศาวดารกระซิบเขียนว่าเจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามีของควีนวิกตอเรีย พระราชินีอังกฤษ เป็นแรงขับเคลื่อนที่แท้จริงส่งเสริมให้รัชกาลของควีน (ครองราชย์ ค.ศ. 1838-1901) เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ในยุคนี้อังกฤษได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่ตกดิน เพราะมีอาณานิคมมากมายกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก
แต่การจากไปของเจ้าชายอัลเบิร์ตด้วยโรคไข้ไทฟอยด์อย่างกะทันหันขณะพระชนม์เพียง 42 พรรษา ทั้งที่ยังหนุ่มและแข็งแรง สร้างความผิดหวังและเศร้าโศกเสียพระทัยให้ควีนเป็นอย่างมาก จนพระนางกลายเป็นคนเงียบขรึมและไว้ทุกข์อย่างขื่นขม ทั้งยังเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่สู้หน้าสังคม และไม่ทรงแย้มพระสรวลอีกเลยให้ใครได้เห็น แม้แต่พระโอรสธิดา
ทรงกลายเป็นแม่หม้ายผู้เศร้าหมอง และปลีกพระองค์ออกจากที่สาธารณะ ครุ่นคิดถึงแต่พระสวามีสุดที่รัก ทุกครั้งที่ทรงฉายพระรูป (ถ่ายภาพ) ก็จะทรงถือพระรูปของเจ้าชายอัลเบิร์ต (ภาพที่ 1) หรือมองไปที่พระรูปปั้นของเจ้าชายอัลเบิร์ตแบบคนอมทุกข์ เพราะทำใจไม่ได้ที่จะร่าเริงเหมือนคนอื่นๆ บุคคลรอบข้างก็พลอยต้องแสดงความเศร้าสลดไปด้วยเช่นกันเพื่อเอาใจควีน

แต่ในโอกาสที่หายากที่สุดในช่วงบั้นปลายชีวิต ภาพหลุดของควีนก็เผยให้เห็นการแย้มพระสรวลน้อยครั้งที่หาชมได้ยากยิ่ง แต่ก็ไม่มีใครบันทึกไว้ว่าทรงครึ้มอกครึ้มใจอะไรขึ้นมาในวันนั้น ทำให้ทรงลืมความเศร้าโศกไปได้ชั่วขณะ (ภาพที่ 2)

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “‘ภาพหลุด’ ทางประวัติศาสตร์ เขย่าเก้าอี้นักประวัติศาสตร์” เขียนโดย ไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2556
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มกราคม 2561