นักวิจัยชี้ “คัมภีร์ไบเบิลอายุ 1,500 ปี” ถูกย้อมด้วยสีผสมจาก “ปัสสาวะ”

ภาพถ่ายของ Codex Purpureus Rossanensis โดย Michele Abastante, via Wikimedia Commons

นักวิชาการพากันสงสัยมานานว่า “Codex Purpureus Rossanensis” เอกสารโบราณอายุกว่า 1,500 ปี จากยุคไบเซนไทน์ ถูกย้อมให้เป็นสีม่วงด้วยสารชนิดใด แต่ด้วยวิทยาการล่าสุดนักวิจัยเชื่อว่าพวกเขาน่าจะได้คำตอบเป็นที่เชื่อถือได้แล้วว่า เอกสารศักดิ์สิทธิ์ชิ้นนี้ถูกย้อมขึ้นด้วยส่วนผสมชนิดใด

เดิมทีเชื่อกันมานานว่า “สีม่วงแห่งไทร์” (Tyrian purple) ซึ่งสกัดจาก “Murex” (หอยทากทะเล) คือสี ที่ถูกนำมาใช้ในการย้อมแผ่นจารึกโบราณดังกล่าว แต่จากการวิเคราะห์ล่าสุดพบว่า สีม่วงปริศนาที่ถูกใช้ในเอกสารชิ้นนี้เป็นสีย้อมธรรมชาติที่สกัดมาจากไลเคน (สิ่งมีชีวิตจำพวกเห็ดราและสาหร่าย) พันธุ์ Roccella Tinctoria นำมาผ่านกระบวนการหมักด้วยน้ำปัสสาวะ ซึ่งถือเป็นแหล่งที่มาของสารแอมโมเนียเพียงแหล่งเดียวในยุคนั้น

เอกสารชิ้นนี้ถูกพบเมื่อปี 1879 (พ.ศ. 2422) ในโบส์แห่งรอสซาโน (Rossano) ในภูมิภาคคาลาเบรีย (Calabria) ทางตอนใต้ของอิตาลี และยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหนึ่งในมรดกความทรงจำของโลกขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโกในปี 2015 ด้วย

เอกสารดังกล่าวหลงเหลือเพียงบางส่วนหลังถูกทำลายจากเหตุไฟไหม้โบสถ์เมื่อราว ศตวรรษที่ 17 บอกเล่าชีวประวัติของพระเยซูตามพระวรสารของมัทธิว และมาระโก (Matthew and Mark) คาดว่าจะถูกเขียนขึ้นในประเทศซีเรียเมื่อราวศตวรรษที่ 5-6 ประกอบด้วยแผ่นเอกสารทั้งหมด188 แผ่น โดยใช้หมึกเงินและทอง

“แม้เอกสารหลายชิ้นจากต้นยุคกลางจะถูกศึกษาอย่างลึกซึ้งด้วยมุมมองในเชิงประวัติศาสตร์ แต่พวกมันยังไม่ค่อยได้รับการระบุถึงวัตถุดิบที่ถูกนำมาใช้” มารินา บิกชิเอรี (Marina Bicchieri) ผู้อำนวยการสถาบันกลางเพื่อการฟื้นฟูและรักษามรดกด้านจดหมายเหตุและหอสมุด (Icrcpal) ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี ซึ่งรับมอบเอกสารดังกล่าวไปทำการฟื้นฟู กล่าว

หลังการเอ็กซ์เรย์ด้วยแสงฟลูออเรสเซนส์ไม่พบสารโบรไมน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณลักษณะของสีม่วงแห่งไทร์ ทำให้ บิกชิเอรี หันไปหาข้อมูลจากการทดลองโดยอาศัยสูตรผสมสีที่บรรยายในปาปิรุสแห่งสต็อกโฮล์ม เอกสารภาษากรีกที่ทำขึ้นเมื่อราวปี ค.ศ. 300 (พ.ศ. 843) ซึ่งได้รวบรวมสูตรสำหรับการทำสีย้อม และสีต่างๆ กว่า 154 สูตร (เพื่อเลี่ยงการทดลองประการอื่นซึ่งอาจต้องคุกคามตัวเอกสาร)

“แฉดสีสเปกตรัมจากการสะท้อนของใยแก้ว (Fibre optics reflectance spectra, FORS) แสดงผลที่ตรงกันอย่างสมบูรณ์ของสารสีม่วงในประมวลเอกสารดังกล่าว กับสีย้อมที่ได้จากออร์ซิน [orcein, สารที่ได้จากสิ่งมีชีวิตจำพวกไลเคน] บวกกับโซเดียมคาร์บอเนต” บิกชิเอรีกล่าวกับ Discovery News

เธอกล่าวถึงแหล่งที่มาของโซเดียมไบคาร์บอเนตว่า น่าจะมาจากแร่นาตรอน (mineral natron) สารประกอบลักษณะคล้ายกับเกลือที่ใช้บริโภค ซึ่งชาวอียิปต์โบราณนำมาใช้ในการทำมัมมีด้วย

ผลวิเคราะห์โดยรวมพบว่า เอกสารโบราณชิ้นนี้ใช้สีผสมชนิดเดียวกันทั้งหมด ทำให้ช่วยตัดข้อสงสัยที่มีการอ้างกันว่า ภาพเขียนรูปนักบุญมาระโกขณะได้รับแรงดลใจจากพระจิต เป็นภาพที่เขียนขึ้นในศตวรรษที่ 12

“ประมวลเอกสารนี้มีความสำคัญที่โดดเด่นทั้งในด้านประวัติศาสตร์, ศิลปะ และความเชื่อ มันเป็นสัญลักษณะแห่งภูมิภาคอย่างคาลาเบรียซึ่งเป็นจุดประสานแห่งอารยธรรมตะวันออกและตะวันตก” พิพิธภัณฑ์ดิโอเชเซียนในรอสซาโนซึ่งเป็นผู้จัดแสดงเอกสารชิ้นนี้ในปัจจุบันระบุ

ข้อมูลจาก: “Urine-Based Dye Found in Ancient New Testament”. Live Science. <http://www.livescience.com/55310-urine-dye-found-in-ancient-gospel.html>