นักวิจัยพบหลักฐาน “โคโรน่าไวรัส” มีแนวโน้มระบาดในเอเชียตะวันออกเมื่อ 2 หมื่นปีก่อน

ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพกราฟฟิกเป็นรูปไวรัสในกลุ่มคน

กลุ่มนักวิจัยเผยแพร่รายงานผลการศึกษาเชิงจีโนมิกส์ (Genomics) [การศึกษาเกี่ยวกับจีโนม (ข้อมูลทางพันธุกรรม) ของสิ่งมีชีวิต] ของมนุษย์ซึ่งทำให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 หรือที่สื่อเรียกกันว่า โควิด-19 (COVID-19) ขณะที่บางสื่อในตะวันตกยังใช้ชื่อว่า “โคโรน่าไวรัส” (Coronavirus disease 2019) มีแนวโน้มเคยแพร่ระบาดในแถบเอเชียตะวันออกตั้งแต่เมื่อ 20,000 ปีก่อน

งานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสในยุคโบราณกับความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงต่อลักษณะยีน (genes) ของผู้ติดเชื้อในพื้นที่เอเชียตะวันออกเมื่อกว่า 20,000 ปีก่อน (“An ancient viral epidemic involving host coronavirus interacting genes more than 20,000 years ago in East Asia”) เพิ่งเผยแพร่ในวารสาร Current Biology เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2021

รายงานผลจากการวิจัยระบุว่า พบหลักฐานที่บ่งชี้แนวโน้มว่าโคโรน่าไวรัสยุคโบราณระบาดในแถบเอเชียตะวันออกเป็นระยะเวลาหลายปี

ผู้นำทีมวิจัยครั้งนี้คือดร.เดวิด เอนนาร์ด (David Enard) นักชีววิทยาเชิงวิวัฒนาการ (evolutionary biologist) จากมหาวิทยาลัยแห่งอริโซน่า (University of Arizona) ทีมวิจัยมุ่งศึกษาผลกระทบจากไวรัสที่มีต่อดีเอ็นเอของมนุษย์ ซึ่งถือเป็นแนวทางการศึกษาอีกรูปแบบอันแตกต่างจากการศึกษาที่ผ่านมาที่มักศึกษายีนของโคโรน่าไวรัสเสียมากกว่า

ก่อนหน้าการศึกษานี้ นักวิทยาศาสตร์ยังสืบหาประวัติความเป็นมาของจุลชีพในสายพันธุ์นี้ซึ่งทำให้ก่อโรคโดยย้อนกลับไปได้ไม่ไกลมากนัก

ข้อมูลที่พบคือ ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมานี้ ปรากฏเชื้อโคโรน่าไวรัส 3 ชนิดที่ปรับตัวจนทำให้มนุษย์ติดเชื้อและทำให้ร่างกายของมนุษย์เกิดอาการในระบบทางเดินหายใจขั้นรุนแรงได้ เชื้อกลุ่มนี้คือ โควิด-19 (Covid-19), ซาร์ส (SARS) และ เมอร์ส (MERS)

รายงานข่าวจาก New York Times ระบุผลการศึกษาไวรัส 3 ชนิดนี้ซึ่งบ่งชี้ว่า ไวรัสข้ามมาจากค้างคาวและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นเข้ามาติดเชื้อในมนุษย์

ขณะที่โคโรน่าไวรัสอีก 4 ชนิดก็สามารถติดเชื้อในมนุษย์ได้เช่นกันแต่กลุ่มหลังนี้จะทำให้เกิดอาการเหมือนไข้หวัดมีอาการเล็กน้อยเท่านั้น เชื้อโคโรน่าไวรัสที่ทำให้เกิดอาการระดับเล็กน้อยซึ่งพบครั้งล่าสุดเรียกว่า HCoV-HKU1 กระโดดมาติดเชื้อแบบข้ามสายพันธุ์เมื่อทศวรรษ 1950s ส่วนเชื้อที่เก่าแก่สุดซึ่งสืบย้อนกลับไปได้คือ HCoV-NL63 อาจปรากฏย้อนกลับไปได้ถึง 820 ปี

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเกี่ยวกับโคโรน่าไวรัสที่เก่าแก่กว่านั้นยังไม่มีข้อมูลที่สืบย้อนกลับไปไกลกว่าข้อมูลข้างต้น กระทั่งทีมงานวิจัยล่าสุดของเดวิด เอนนาร์ด (David Enard) ได้เริ่มศึกษาผลกระทบจากไวรัสต่อดีเอ็นเอของมนุษย์

รายงานข่าวอธิบายเพิ่มว่า ไวรัสส่งผลกระทบต่อจีโนมของมนุษย์อย่างมากเมื่อเวลาผ่านไปหลายรุ่นหลายสมัย เมื่อร่างกายมนุษย์พัฒนาตัวเองให้สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมสร้างความแตกต่างระหว่างความเป็นกับความตายได้

อย่างไรก็ตาม ตัวไวรัสเองก็พัฒนาไปเช่นกัน ส่วนโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของเชื้อปรับเปลี่ยนรูปทรงเพื่อเอาชนะระบบป้องกันในร่างกายของผู้ที่มันเข้าไปอยู่ในร่างกายได้ แต่ความเปลี่ยนแปลงนี้เองก็เป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้ร่างกายของเหยื่อให้พัฒนาตัวเองในรูปแบบที่สามารถต่อต้านเชื้อได้เข้มข้นมากขึ้นอีก

เมื่อร่างกายมนุษย์เกิดการพัฒนาครั้งใหม่ก็มีแนวโน้มจะส่งต่อการพัฒนาที่เกิดขึ้นนั้นจากคนรุ่นหนึ่งมาสู่คนรุ่นต่อมา เมื่อยีนเวอร์ชั่นหนึ่งพัฒนาขึ้นมาในคนหมู่มากจนยีนนั้นอยู่เหนือกว่าเวอร์ชั่นอื่น ขณะเดียวกันยีนเดียวกันในเวอร์ชั่นอื่นๆ ย่อมกลายเป็นสิ่งที่พบได้ยากมากขึ้นตามไปด้วย

นักวิทยาศาสตร์ทราบดีว่าปรากฏการณ์นี้คือสัญลักษณ์ของวิวัฒนาการในอดีตที่พบได้ทั่วไป ซึ่งไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ดร.เดวิด เอนนาร์ด (David Enard) และทีมผู้วิจัยพยายามค้นหารูปแบบยีนของมนุษย์ที่แตกต่างหลากหลายเพื่อสืบค้นหาประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับการลำดับตัวไวรัส

ทีมวิจัยนำดีเอ็นเอของมนุษย์จำนวนหลายพันคนจากกลุ่มประชากรที่แตกต่างกันกว่า 26 กลุ่มจากทั่วโลกมาเปรียบเทียบกันเพื่อค้นหาชุดของยีนที่จะส่งผลต่อเชื้อโคโรน่าไวรัสอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อดูในประชากรกลุ่มเอเชียทางตะวันออก ทีมนักวิทยาศาสตร์พบว่า เวอร์ชั่นของยีนที่พัฒนาขึ้นมาอยู่เหนือกว่าได้มีจำนวน 42 ยีนจากกลุ่มยีนทั้งหมด ข้อมูลนี้เป็นสิ่งบ่งชี้แนวโน้มว่า ประชากรในแถบเอเชียตะวันออกเคยปรับตัวกับเชื้อโคโรน่าไวรัสในสมัยโบราณมาก่อนแล้ว

42 ยีนที่ว่านี้มีจำนวนครั้งของการพัฒนาตัวเอง(อาจเรียกได้ว่ากลายพันธุ์ก็ว่าได้)แทบจะเท่ากันทั้งหมด นั่นบ่งชี้ว่า การพัฒนาตัวของยีนเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันอย่างมาก นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า การพัฒนายีนในส่วนต่อต้านเชื้อไวรัสของยีนทั้งหมดในกลุ่มนี้เกิดขึ้นระหว่างช่วง 20,000-25,000 ปีก่อน

ผลการประเมินนี้เป็นข้อมูลที่น่าประหลาดใจอยู่บ้าง หากพิจารณาจากข้อมูลลักษณะของเอเชียตะวันออกในช่วงเวลานั้นไม่ได้มีลักษณะการใช้ชีวิตแบบรวมตัวกันเป็นกลุ่มแบบหนาแน่น แต่การใช้ชีวิตเป็นลักษณะร่วมมือกันล่าสัตว์และหาอาหารร่วมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ มากกว่า

อย่างไรก็ตาม การประเมินระยะเวลาของการระบาดในอดีตนั้นยังคงไม่สามารถฟันธงได้อย่างชัดเจน ดังที่ไอดา แอนเดอร์ส (Aida Andres) นักพันธุศาสตร์เชิงวิวัฒนาการจาก University College London สถาบันการศึกษาวิจัยที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของโลกซึ่งเธอไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยนี้ได้แสดงความคิดเห็นโดยตั้งข้อสังเกตว่า การระบุระยะเวลาที่โรคระบาดเกิดขึ้นในอดีตกาลอันยาวนานขนาดนั้นเป็นเรื่องยากจะระบุชัดเจน และยังเป็นข้อมูลที่ไม่ควรปักใจเชื่อมั่นในทันที

ทั้งนี้ ทีมวิจัยมองว่าการศึกษาวิจัยครั้งล่าสุดอาจมีส่วนช่วยให้ข้อมูลกับนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังค้นหายาสำหรับต้านทานการติดเชื้อโคโรน่าไวรัสในปัจจุบันอยู่ ซึ่งการค้นหายีนตามรูปแบบการศึกษาวิจัยนี้อาจช่วยบ่งชี้ว่าควรหาวิธีทำให้ร่างกายมนุษย์ปรับเปลี่ยนในจุดไหนบ้างเพื่อให้ร่างกายปรับตัวสู้กับไวรัสได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Enard, David and Co., “An ancient viral epidemic involving host coronavirus interacting genes more than 20,000 years ago in East Asia”. Current Biology. Online. Published 24 JUN 2021. Access 29 JUN 2021. <https://www.cell.com/current-biology/fulltext/S0960-9822(21)00794-6>

Zimmer, Carl. “A Coronavirus Epidemic Hit 20,000 Years Ago, New Study Finds”. New York Times. Published 24 JUN 2021. Updated 28 JUN 2021. Access 29 JUN 2021. <https://www.nytimes.com/2021/06/24/science/ancient-coronavirus-epidemic.html>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มิถุนายน 2564