‘ธ.ก.ส.’ เร่งดำเนินการ 3 มาตรการหลัก ช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยืนหยัดเคียงข้างเกษตรกรไทยเข้าสู่ปีที่ 55 มุ่งสร้างเด็กรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพ ปลูกฝังแนวคิดกอดบ้านเกิด กอดประเทศด้วยใจรัก กลับไปพัฒนาบ้านเกิด กระตุ้นการลงทุนในระดับชุมชน เป็นสื่อกลางเชื่อมต่อระหว่างชุมชนและภาครัฐ ภาคเอกชน นำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการตลาด ถ่ายทอดสู่พื้นที่ชนบท สร้างความเชื่อมั่นในอาชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

พร้อมอัดฉีดเม็ดเงินกว่า 220,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ยกระดับคุณภาพคุณภาพชีวิตของคนในชนบท สู่ชุมชนเข้มแข็ง และสร้างความภาคภูมิใจในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งถือเป็นอาชีพที่เป็นฐานรากอันเข้มแข็งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ให้ก้าวข้ามวิกฤตเศรษฐกิจและ COVID-19 นำไปสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืนในอนาคต

Advertisement

นายสุรชัย รัศมี รองผู้จัดการ รักษาการแทนผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ช่วงสถานการณ์วิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. มีนโยบายเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการมอบถุงยังชีพ มอบเงินช่วยเหลือ มอบอุปกรณ์ทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย รวมถึงสำรวจความเสียหายเพื่อรายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดย ธ.ก.ส. เองได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือไปแล้ว ดังนี้

1.มาตรการช่วยเหลือด้านภาระหนี้สิน

ธ.ก.ส. ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างการชำระหนี้ (Loan Review) เพื่อให้สอดคล้องกับที่มาของรายได้ โครงการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งระบบนาน 1 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดโครงการในเดือนมิถุนายน 2564 ปัจจุบันมีผู้ได้รับผลประโยชน์จากโครงการแล้วทั้งสิ้น 3.25 ล้านราย คิดเป็นวงเงิน 1.45 ล้านล้านบาท

2. มาตรการสนับสนุนสินเชื่อ

ธ.ก.ส. ดำเนิน โครงการสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจ SME โดยใช้ Soft Loan ของ ธปท. และธนาคารออมสิน ในอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 2/ปี ระยะเวลา 2 ปี เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ลดปัญหาการว่างงาน กระตุ้นกลไกการซื้อขายผลผลิตทางการเกษตร มีผู้ประกอบการได้รับผลประโยชน์จากโครงการแล้วจำนวน 5,974 ราย ในวงเงิน กว่า 5.1 พันล้านบาท

โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นภายในครัวเรือนของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ โดย ธ.ก.ส. อนุมัติวงเงินกู้ให้รายละไม่เกิน 10,000 บาท โดยไม่ต้องนำหลักประกันใดๆ มาค้ำประกัน และไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก อัตราดอกเบี้ยคงที่ ร้อยละ 0.1/เดือน กำหนดชำระไม่เกิน 30 เดือนนับจากวันขอยื่นกู้ โดย ธ.ก.ส. จ่ายสินเชื่อให้เกษตรกรที่ยื่นคำขอกู้แล้วกว่า 8.5 แสนราย คิดเป็นวงเงินกว่า 8.5 พันล้านบาท

3. มาตรการช่วยเหลือของรัฐผ่านระบบ ธ.ก.ส.

การจ่ายเงินชดเชยรายได้สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 “เราไม่ทิ้งกัน” ของกระทรวงการคลัง เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2563 เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท/เดือน ซึ่งมีผู้ใช้สิทธิ์ไปแล้วกว่า 2.7 ล้านราย คิดเป็นวงเงินกว่า 4.3 หมื่นล้านบาท

โครงการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2563 เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท/เดือน ซึ่งมีเกษตรกรใช้สิทธิ์ไปแล้วกว่า 7.56 ล้านราย คิดเป็นวงเงินกว่า 1.13 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังดำเนินการตามนโยบายของรัฐในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อาทิ จ่ายเบี้ยยังชีพให้แก่กลุ่มเปราะบาง จ่ายเงินเดือน อสม. จ่ายเงินประกันรายได้ให้เกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจทั้ง 5 ชนิด ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ปาล์มนำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด และยางพารา

นายสุรชัย กล่าวต่อว่า “กว่า 54 ปีที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ยังคงตระหนักถึงการพัฒนาภาคการเกษตรและชนบทของไทย เคียงคู่กับเกษตรกรไทยอย่างต่อเนื่อง ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ “เป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน มุ่งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชนบท” สู่เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ “Better Life Better Community Better Pride” รวมพลังพนักงานในองค์กรกว่า 25,000 คน พร้อมยืนหยัดเคียงคู่เกษตรกรไทยในทุกวิกฤต เป็นกำลังสำคัญในการช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ชุมชนที่ดี

เติมเต็มความภาคภูมิใจในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม สร้างรากฐานอันเข้มแข็งในทุกมิติให้แก่ประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้เจริญควบคู่กันไปกับคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน พร้อมตระหนักความสำคัญของคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ มีความรู้ ความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการและการตลาดที่ทันสมัย จึงส่งเสริมให้คนเหล่านี้หันกลับมาพัฒนาบ้านเกิดในเจนเนอร์เรชั่นต่อไปจากรุ่นพ่อแม่ เพื่อสานต่อเจตนารมณ์และภารกิจของครอบครัวที่ต้องการให้ภาคการเกษตรพัฒนาตามยุคสมัย ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ทั้งหมดนี้ จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมกระตุ้นการรับรู้ผ่านโครงการ “New Gen Hug บ้านเกิด” เป็นกิจกรรมที่ต้องการสื่อสารและมีจุดมุ่งหมายให้คนรุ่นใหม่หันกลับมาพัฒนาบ้านเกิด พัฒนาชุมชน กอดครอบครัว กอดประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการสินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด, สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ และสินเชื่อระยะสั้นฤดูการผลิตใหม่ อัตราดอกเบี้ยต่ำ ในวงเงิน 170,000 ล้านบาท แต่ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยใน 3 เดือนแรก ตั้งแต่เดือนที่ 4 เป็นต้นไป ดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR ร้อยละ 6.50/ปี) และสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงิน 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเพียง 0.01/ปี หรือล้านละ 100 บาท”

นายสุรชัย ยังกล่าวอีกว่า “นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังร่วมประสานผ่านเครือข่าย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็น กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมส่งเสริมการเกษตร กรมป่าไม้ สถาบันการศึกษา สำนักงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ห้างสรรพสินค้า โมเดิร์นเทรด ฯลฯ เพื่อเติมเต็มองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีในการบริหารจัดการด้านการผลิต ด้านการตลาด รวมถึงด้านงบประมาณให้แก่ผู้ลงทุน

สถานการณ์ COVID-19 ถือว่าเป็นโอกาสทองในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทในการจัดการด้านการบริการและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมและแจ้งข้อมูลทางด้านธุรกรรม เงินเข้า-ออก ผ่านแอปพลิเคชัน BAAC Connect โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น พร้อมช่องทางการรับข้อมูลข่าวสารของ ธ.ก.ส. ผ่าน LINE Official : BAAC Family ผ่าน Facebook Fanpage : BAAC Thailand และเว็บไซต์ www.เยียวยาเกษตรกร.com”