เผยแพร่ |
---|
ในช่วงที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19, โควิด-19) เริ่มระบาดในประเทศไทยเมื่อช่วงต้นปีนี้ (2020) คนไทยทุกคนได้รับผลกระทบมากบ้างน้อยบ้างต่างกัน สำหรับคนในวงการบันเทิงนั้นได้รับผลกระทบอย่างเฉียบพลันและรุนแรง นำมาสู่การปรับตัวเพื่อหาทางรอดท่ามกลางวิกฤตที่อาจจะไม่จบในเร็ววัน
ศิลป์สโมสรเสวนา Thai PBS จัดเสวนาหัวข้อ “New Normal ความปกติที่ไม่ปกติ ของวงการบันเทิงหลังโควิด-19” เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้เชิญ “คนเบื้องหลัง” ในวงการบันเทิงหลายแขนงมาสะท้อนปัญหาจากการได้รับผลกระทบในช่วงที่เกิดโรคระบาด และพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการปรับตัว หรือ “New Normal” จากเหตุการณ์โควิด-19
พูนศักดิ์ จตุระบุล หรือ อ๊อฟ BIG ASS นักดนตรี โปรดิวเซอร์ ผู้บริหารค่ายเพลงร็อก, เกรียงไกร วชิรธรรมพร หรือ ปิง ผู้กำกับละครโทรทัศน์, อนุชา บุญยะวรรธนะ หรือนุชชี่ ผู้กำกับภาพยนตร์ รางวัลสุพรรณหงส์ และพล หุยประเสริฐ นักออกแบบคอนเสิร์ต รวมพูดคุยกันหลากหลายประเด็นที่มีความน่าสนใจ
หลังจากศบค. ออกมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 4 ส่งผลให้วงการบันเทิงกลับมา “เดินหน้า” ต่อได้ เช่นการอนุญาตให้กองถ่ายละครและภาพยนตร์สามารถถ่ายทำได้ แต่ยังจำกัดจำนวนคนให้ไม่เกิน 150 คน คุณอนุชากล่าวว่า กองถ่าย 150 คน เป็นกองถ่ายขนาดมาตรฐานอยู่แล้ว ไม่ได้มีปัญหามาก แต่ต้องมีบางจุดที่ต้องระวัง เช่น การรวมตัวกันรับประทานอาหาร แต่อุปสรรคไม่ได้อยู่ที่จำนวนคนหรือการเว้นระยะห่างในกองถ่าย แต่เป็นการจำกัดการถ่ายทำฉากบางฉาก เช่น ฉากบู๊และฉากรัก ซึ่งยังคงถูกห้าม
คุณอนุชาอธิบายว่า ฉากบู๊และฉากรักจำเป็นต้องเลื่อนการถ่ายทำออกไปก่อน แล้วสลับถ่ายทำฉากอื่นแทน มองว่า ฉากทั้งสองรูปแบบต้องทำแบบสมจริง ไม่ควรใช้มุมกล้อง เพราะจะส่งผลกระทบต่อเนื้อเรื่อง ต่อภาพยนตร์ และต่อคนดู ทำให้เสียอรรถรส แต่หากจำเป็นต้องใช้มุมกล้อง ก็ต้องทำ หรืออาจใช้ตัวเลือกอื่น เช่น ให้นักแสดงกักตัว 14 วัน เพื่อถ่ายทำฉากที่ต้องใกล้ชิดกันในระหว่างการแสดง
คุณเกรียงไกรกล่าวเสริมถึงกรณีนี้ว่า ในต่างประเทศ กองถ่ายต้องการความสมจริงของการแสดง ยอมลงทุนเสียค่าใช้จ่ายให้นักแสดงกักตัว 14 วัน เพื่อทำให้การถ่ายทำเดินหน้าต่อไปได้ แต่เรื่องนี้ต้องสร้างความสบายใจให้กับทุกฝ่าย ต้องตกลงกันระหว่างกองถ่ายกับนักแสดง หรือระหว่างนักแสดงกับนักแสดงด้วยกันเอง
เช่นเดียวกับโปรเจกต์ “กักตัว Stories” ละครโทรทัศน์ที่ถ่ายทำแบบ “Social Distancing” โดยได้ลดหรือตัดการทำงานของทีมงานบางส่วนออกไป แล้วให้นักแสดงรับทำหน้าที่นั้นแทน เช่น การถ่ายทำ การบันทึกเสียง คุณเกรียงไกรอธิบายว่า วิธีการทำงานในโปรเจกต์นี้ไม่ง่าย และไม่มีทางที่จะทำสิ่งนี้ซ้ำไปเรื่อย ๆ ได้ เช่น การ “Brief” ระหว่างผู้กำกับกับนักแสดง ที่ผู้กำกับบางคนต้องการ “Brief” แบบตัวต่อตัวหรือเห็นกันซึ่งหน้า อันจะทำให้การทำงานไหลลื่นและเป็นไปตามที่ต้องการ
ขณะที่การ “Brief” ผ่านหน้าจอนั้นอาจมีประสิทธิภาพน้อยกว่า เช่นเดียวกับนักแสดง การถ่ายทำฉากรักหรือฉากปะทะอารมณ์ก็ต้องการนักแสดงเข้าฉากด้วยกัน เพื่อให้เห็นปฏิกิริยา ท่าทาง การส่งอารมณ์ ฯลฯ อันจะช่วยทำให้การแสดงเป็นธรรมชาติ ไม่ติดขัด ลื่นไหล แต่ขณะที่การรับส่งอารมณ์ผ่านหน้าจอ ส่งผลต่อการแสดงของนักแสดงมากพอสมควร
อย่างไรก็ตาม สำหรับ “กักตัว Stories” คุณเกรียงไกรมองว่า ทำให้เรียนรู้ถึงหน้าที่และความสำคัญของทีมงานแต่ละคนแต่ละส่วนในกองถ่ายว่ามีส่วนสำคัญต่อการผลิตผลงาน และกล่าวว่า เรื่องนี้เป็น “โปรเจกต์แก้ปัญหา” เท่านั้น ไม่ใช่ “New Normal” ซึ่งสุดท้ายก็ต้องการกลับไปทำ “Content” ในวิธีการแบบเดิม คุณอนุชากล่าวเสริมในมุมของการถ่ายทำภาพยนตร์ว่า “New Normal” บางอย่างไม่สามารถทดแทนการปฏิบัติแบบเดิมได้
ทางด้านวงการเพลงดูเหมือนว่าจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หนักกว่าวงการละครและภาพยนตร์มากพอสมควร เพราะสถานบันเทิงซึ่งเป็นสถานที่สำหรับนักร้องนักดนตรีทำการเปิดการแสดงหรือคอนเสิร์ตถูกสั่งปิดทั้งหมด คุณพูนศักดิ์อธิบายว่า นักร้องนักดนตรีในยุคนี้ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไปอีก 2 เดือน จะทำให้คนดนตรีแย่หนักไปกว่านี้
คุณพูนศักดิ์เล่าย้อนเมื่อโควิด-19 เริ่มระบาดในประเทศว่า ในช่วงเวลานั้นมีกำหนดการณ์ปล่อยผลงานของศิลปิน ตนไม่อยากทำอะไรที่กระทบต่อจิตใจของศิลปินที่มีความตั้งใจทุ่มเทการทำเพลงมานานแรมปี จึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนรูปแบบของผลงาน เช่น กรณีเพลง ฉันควรจะนอน ของศิลปิน Uefa Hari ได้ปรับเปลี่ยนการถ่ายทำ MV ให้นักแสดงถ่ายทำด้วยตนเอง หรือใช้การถ่ายทำด้วยจำนวนคนน้อยมาก ๆ รวมถึงกรณีของงานแถลงข่าวเปิดอัลบัมใหม่ของวง Lomosonic ซึ่งเดิมจะมีการแถลงข่าว หากเปลี่ยนเป็นการแถลงข่าวออนไลน์ก็จะไม่น่าสนใจ จึงปรับให้เป็นคอนเสิร์ตออนไลน์แทน ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีมาก
อย่างไรก็ตาม คุณพูนศักดิ์มองว่า คอนเสิร์ตออนไลน์จะคงมีต่อไป แต่เป็นเฉพาะกลุ่มเฉพาะกรณีเท่านั้น เป็น “New Normal” ในช่องทางหนึ่ง แต่สำหรับช่องทาง “On Ground” หรือ “Offline” อย่างไรก็ต้องมีต่อไป เพราะการแสดงคอนเสิร์ตในรูปแบบปกติที่มีการรับส่ง “พลัง” ระหว่างนักร้องนักดนตรีกับคนดูนั้น ยังเป็นสิ่งสำคัญของวงการเพลง คุณพูนศักดิ์กล่าวถึงการปรับตัวของคนในวงการเพลงท่ามกลางโควิด-19 ว่า “มันเป็นวิธีแก้ปัญหาช่วงนี้แค่นั้นเอง”
คุณพูนศักดิ์มองว่า งานผลิตเพลงหรืองานเบื้องหลังการทำเพลง เช่น การบันทึกเสียงเสียง ไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าใด แต่ส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักมากที่สุดคือการทำการแสดงหรือคอนเสิร์ต ซึ่งนับเป็นรายได้หลักของคนในวงการเพลง แม้จะมีรายได้จากการทำเพลงจำหน่าย ค่าลิขสิทธิ์ ฯลฯ แต่ก็เป็นแค่ส่วนเสริมเท่านั้น คุณพูนศักดิ์อธิบายว่า รายได้หลักกว่า 90% ของนักร้องนักดนตรีมาจากการแสดงคอนเสิร์ต และโดยเฉพาะสำหรับน้องร้องนักดนตรีกลางคืนที่ยึดอาชีพนี้เป็นอาชีพหลัก ก็มีรายได้จากช่องทางนี้ 100%
ขณะเดียวกันก็มองว่า การทำเพลงผ่านช่องทางออนไลน์ อย่างนักร้องนักดนตรีสาย “Hip Hop” ที่ประสบผลสำเร็จในช่องทานนี้อย่างมากนั้น ก็จำเป็นต้องพึ่งพาช่องทางออฟไลฟ์และการแสดงคอนเสิร์ตเช่นกัน เพราะการแสดงคอนเสิร์ตมีส่วนสำคัญต่อการโปรโมทเพลงให้เป็นที่นิยม เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
คุณพลแสดงทัศนะว่า “New Normal” คือเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่แล้วทุกวันแล้ว แต่โควิด-19 เป็นแค่ตัวเร่งเท่านั้น เมื่อการแสดงคอนเสิร์ตถูกระงับ จึงจำเป็นต้องคิดหาทางออก ด้วยการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วมาสร้างคอนเสิร์ตออนไลน์ขึ้นมา
ในช่วงที่เริ่ม “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” มีศิลปินหลายคน “Live” บนช่องทางต่าง ๆ จำนวนมาก คุณพลจึงเกิดการตั้งคำถามว่า พวกทีมงาน เช่น ช่างไฟ ฝ่ายฉาก จะอยู่กันอย่างไร จึงคิดจัดคอนเสิร์ตออนไลน์แบบเสียเงินเข้าชมขึ้น
โดยคอนเสิร์ตของวง “Whal&Dolph” เป็นคอนเสิร์ตออนไลน์เต็มรูปแบบครั้งแรกที่เสียเงินเข้าชม คุณพลอธิบายว่า การวางแผนทำคอนเสิร์ตครั้งนี้ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจ ต้องคำนึงถึงศิลปินที่จะแสดงคอนเสิร์ตในรูปแบบใหม่นี้ รวมถึงวิธีการดึงดูดผู้ชม, ต้นทุน, ราคาบัตร ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการแสดงคอนเสิร์ตรูปแบบนี้ก็คือการรับส่ง “พลัง” ตามที่คุณพูนศักดิ์ได้กล่าวไว้ข้างต้น
การทำคอนเสิร์ตออนไลน์ของศิลปินมีให้เห็นหนาตาในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา “Play from home” ของวง BIG ASS ก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่คุณพูนศักดิ์กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ผมรู้สึกว่ามันทำได้ครั้งเดียว แต่ถ้าเล่นคอนเสิร์ต ผมเล่นได้ทุกวัน เดือนหนึ่งผมเล่นได้ 20 วัน ผมสบายมาก” นี่เป็นเสียงสะท้อนของคนดนตรีที่มองว่า การแสดงคอนเสิร์ตออนไลน์ ที่หลายคนจะให้เป็น “New Normal” นั้น หลายคนมองว่าไม่ใช่สิ่งที่ควรจะคงอยู่ตลอดไป เช่นเดียวกับผู้ชมผู้ฟังเองที่ต้องการ “Experience” ของการชมคอนเสิร์ตด้วยตาของตนเอง ไม่ใช่ผ่านทางหน้าจอบนช่องทางออนไลน์
คุณพลและคุณพูนศักดิ์สะท้อนมุมมองต่อมาตรการผ่อนปรนที่ว่า ให้จัดคอนเสิร์ตได้แต่ให้เว้นระยะห่าง และลดจำนวนผู้เข้าชมลง ว่า ในแง่ของการทำธุรกิจทำไม่ได้ การจัดคอนเสิร์ตบนเวทีใหญ่ ๆ จากขนาดความจุหมื่นคน เหลือเพียงหลักพันหรือสองพันคนนั้น ไม่คุ้มทุน เพราะรายได้หลักยังคงมาจากการขายบัตร แม้แต่การทำคอนเสิร์ตออนไลน์ ก็ไม่ได้มีต้นทุนที่ลดลงไปเยอะมาก เพราะต้องนำเงินไปลงทุนกับเทคโนโลยี นอกจากนี้ หากจัดคอนเสิร์ตแบบยืนห่างกัน 5 เมตร จะกระทบถึงบรรยากาศด้วยรวม คุณพูนศักดิ์มองว่ามาตรการเว้นระยะห่าง 5 เมตรสำหรับการเข้าชมคอนเสิร์ตนี้ ยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยากและแทบจะเป็นไม่ได้
คุณพลมองว่า ในอนาคตมองเห็นความสำคัญของ “Hybrid” จาก “On Ground” และ “Online” แต่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี เชื่อว่าจะมีความหลากหลายขึ้น จะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ ๆ แม้จะเคยมีคำถามว่า หากแสดงคอนเสิร์ตและ “Live” ไปด้วยจะส่งผลกระทบหลายส่วน แต่ก็มองว่า การทำคอนเสิร์ตแบบออฟไลน์และออนไลน์นั้นมีกลุ่มเป้าหมายต่างกัน ให้ประสบการณ์ต่างกัน ขณะที่คุณเกรียงไกรและคุณพูนศักดิ์ก็มองว่า ช่องทางออนไลน์ในวงการเพลงและคอนเสิร์ตนั้นสำคัญ และเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มเป้าหมายแยกกันชัดเจน และคอนเสิร์ตออนไลน์นั้นไม่ได้ให้ประสบการณ์เหมือนการไปชมการแสดงด้วยตัวเอง
ทางด้านวงการภาพยนตร์ก็ต้องปรับให้เข้าสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน โดยผ่าน “Streaming” เจ้าดัง ๆ หลายเจ้า โดยเฉพาะ “Netflix” คุณเกรียงไกรกล่าวว่า ภาพยนตร์ในช่องทางออนไลน์ในประเทศไทยได้รับผลกระทบหนักตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบาดแล้ว เมื่อมีโควิด-19 เข้ามายิ่งซ้ำเติมสถานการณ์มากขึ้น โดยแหล่งรายได้นอกเหนือจากการฉายในโรงภาพยนตร์แล้ว อาจจะต้องหวังพึ่งการ “Streaming” มากขึ้น
ขณะเดียวกันคุณอนุชากล่าวว่า ช่องทางออนไลน์ก็ลำบากเช่นกัน เพราะประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์สูง รายได้จากช่องทางนี้เป็นเพียงส่วนเสริมเท่านั้น เพราะรายได้หลักยังต้องมาจากการจำหน่ายบัตรเข้าชมในโรงภาพยนตร์ และในกรณีของ “Netflix” ละครหรือภาพยนตร์ของไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น คุณภาพของภาพยนตร์หรือละคร และความนิยมในระดับนานาชาติ
คุณเกรียงไกรมองว่า “Streaming” เป็นการเสพ “Content” น้อยกว่าการเป็น “Lifestyle” ของการไปชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ ที่ควบคู่กับการพบปะเพื่อนฝูง การรับประทานอาหารกับแฟน หรือการชมภาพยนตร์กับครอบครัว ซึ่ง “Streaming” ทดแทนไม่ได้ คุณเกรียงไกรกล่าวว่า คนในวงการบันเทิงก็เป็นคนทำงาน เป็นประชาชนคนหนึ่งที่เดือดร้อนจากการไม่มีงานเช่นกัน และกล่าวว่า
“งานศิลปวัฒนธรรมมันถูกมองเป็นงานบันเทิง เรามองแต่ Output มัน แล้วเราคิดว่า ไม่มีมันไม่ตายหรอก แต่จริง ๆ แล้ว เนื้อในของมันจริง ๆ เป็นอาชีพ สุดท้ายแล้วมันมีคนอยู่หลังนั้น มันมีคนอยู่หลังคำว่าความบันเทิงนั้นอยู่”
“Online”, “Streaming” จะกลายมาเป็น“New Normal” ?
“New Normal” ในมุมมองของ “คนเบื้องหลัง” ในวงการบันเทิงจึงแทบไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่าใด เพราะเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด เนื่องจากพฤติกรรมของคนเราปรับเปลี่ยนมาโดยเสมอ โควิด-19 เป็นเพียงตัวเร่งให้เห็นชัดขึ้น แต่ไม่ใช่ “New Normal” ที่จะคงอยู่ตลอดไป ดังที่ทั้งสี่ท่านได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่า สุดท้ายแล้วพฤติกรรมของคนก็ยังคงชอบสิ่งที่เป็น “Normal” ในวิถีชีวิตแบบเดิมอยู่แล้ว
แล้ว “New Normal” จริง ๆ ของวงการบันเทิงคืออะไร? ทั้งสี่ท่านเห็นตรงกันว่า “การประชุมออนไลน์” ถือเป็นสิ่งที่ประสบผลสำเร็จมากที่สุด เพราะสะดวก รวดเร็ว และอาจจะได้เนื้องานมากกว่าการประชุมแบบเดิม ๆ เสียด้วยซ้ำไป
คลิกที่นี่เพื่อชมเสวนาย้อนหลัง “New Normal ความปกติที่ไม่ปกติ ของวงการบันเทิงหลังโควิด-19”
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มิถุนายน 2563