สตรีคนสุดท้ายในหน่วยปกป้องวัตถุมีค่าช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียชีวิตจากผลของโควิด

(ซ้าย) ชาวเยอรมันกับภาพ Camilla and the Centaur ผลงานชิ้นเอกของ Sandro Botticelli จิตรกรอิตาเลียน เป็นงานที่อยู่ใน Uffizi ภาพจาก National Gallery of Art in Washington, D.C. ไฟล์ภาพ Public Domain (ขวา) Motoko Fujishiro Huthwaite ภาพจาก Monuments Men Foundation

โมโตโกะ ฟูจิชิโร ฮัธเวต (Motoko Fujishiro Huthwaite) สตรีเชื้อสายอเมริกัน-ญี่ปุ่น หนึ่งในทีมที่ช่วยมนุษยชาติเก็บรักษาวัตถุทางวัฒนธรรม อาทิ งานศิลปะอันมีมูลค่าเกินประเมิน ทั้งในช่วงระหว่างและหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนจากไวรัสโควิด-19

รายงานข่าวจาก New York Times เปิดเผยข่าวเศร้าสำหรับเหล่านักอนุรักษ์ รายงานเผยว่า โมโตโกะ สตรีหนึ่งในทีมค้นหาที่มีสมาชิกราว 345 คนจาก 14 ประเทศ ซึ่งเรียกกันว่า “The Monuments Men” หรือ The Monuments Women มีบทบาทเป็นที่รู้จักจากการทำงานช่วยมนุษยชาติเก็บรักษาวัตถุล้ำค่าทางวัฒนธรรมและงานศิลปะทั้งในช่วงระหว่างเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังสงครามจบลง เธอเสียชีวิตที่สถานฟื้นฟูในวัย 92 ปี จากภาวะแทรกซ้อนจากไวรัสโควิด-19

รายละเอียดของการเสียชีวิตครั้งนี้มาจากการเปิดเผยของโรเบิร์ต เอ็ม เอ็ดเซล (Robert M. Edsel) ผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิ The Monuments Men โรเบิร์ต เปิดเผยสาเหตุของการเสียชีวิตว่ามาจากภาวะแทรกซ้อนของไวรัสโคนา (complications of the coronavirus)

รายงานข่าวยังเผยว่า โมโตโกะ เป็นสมาชิกสตรีรายสุดท้ายของกลุ่มก่อนที่เธอจะเสียชีวิตลงในวันที่ 4 พฤษภาคม ปี 2020 ตามเวลาท้องถิ่น ขณะที่สมาชิกคนสุดท้ายของ Monuments Men ที่ยังมีชีวิตอยู่คือ ริชาร์ด เอ็ม บาแรนสิค (Richard M. Barancik เกิดเมื่อปี 1924)

สำหรับกลุ่ม Monuments Men เป็นกลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวของชายหญิงชาวอเมริกันและบริติช มีทั้งนักประวัติศาสตร์, ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์, ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ และอีกหลายอาชีพ พวกเขากังวลเรื่องความเสียหายจากสงครามต่อวัตถุทางวัฒนธรรมที่สำคัญของโลก กลุ่มนี้มีบทบาทในการดูแลรักษาวัตถุที่มีค่าทางวัฒนธรรม ป้องกันการโจรกรรม และบูรณะซ่อมแซมหากวัตถุนั้นเสียหาย

เมื่อสงครามจบลง พวกเขาแกะรอยวัตถุมีค่านับล้านชิ้นที่ถูกทหารนาซีหยิบฉวยไปและนำมันกลับคืนประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดต้นทาง เรื่องราวของกลุ่มนี้เคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อ The Monuments Men เมื่อปี 2014 มีเนื้อหาอ้างอิงจากหนังสือชื่อเดียวกัน

โมโตโกะ เข้าร่วมกลุ่มหลังจากกลุ่มนี้เริ่มปฏิบัติงานไปได้สักระยะหนึ่ง ลำดับเลขสมาชิกของเธอคือ 27 ขณะที่โมโตโกะ กำเนิดจากพ่อแม่ชาวญี่ปุ่นที่อาศัยในบอสตัน เมื่อปี 1927 เธอได้รับคำแนะนำจากนายแลงดอน วอร์เนอร์ (Langdon Warner) ซึ่งเล่าลือกันว่าเป็นต้นแบบของตัวละครอินเดียน่า โจนส์ (Indiana Jones) ในสื่อบันเทิงอเมริกัน ให้ทำงานกับกลุ่มนี้ เนื่องจากเธอเป็นคนอเมริกันที่ใช้ได้ทั้งภาษาอังกฤษและญี่ปุ่น เธอได้รับว่าจ้างเป็นเสมียน ทำหน้าที่เตรียมเอกสารรายงานภาคสนามและเอกสารเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสาร

เธอทำงานโดยตรงกับร้อยโทจอร์จ เสตาท์ (George L. Stout) ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม (ในภาพยนตร์ ตัวละครนี้รับบทโดยจอร์จ คลูนีย์) ในช่วงที่ภาพยนตร์เข้าฉาย เธอให้สัมภาษณ์กับสื่อสหรัฐฯ ว่า เธอไม่รู้มาก่อนว่า เอกสารที่เธอทำขึ้นเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการของกลุ่มนี้เลยจนกระทั่งปี 2015 ที่ภาพยนตร์กำลังจะเข้าฉาย

ขณะที่ชินจิ ฟูจิชิโร บิดาของเธออาศัยในสหรัฐฯ โดยสอนและทำงานด้านทันตแพทย์ในฮาร์วาร์ด แต่หลังจากญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ ชาวอเมริกันเริ่มปฏิเสธรับการรักษาจากพ่อของเธอ หลังจากนั้น เขาถูกเอฟบีไอควบคุมตัวและส่งไปกักตัวที่ศูนย์กักกันในมอนทาน่า อีกปีให้หลังก็ถูกส่งกลับญี่ปุ่น ครอบครัวของเธอตั้งรกรากในโตเกียว ครอบครัวของเธอยังอาศัยในโตเกียวเมื่อกองทัพสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิม่า และนางาซากิ หลังสงครามจบไม่นาน พ่อของโมโตโกะ ก็เสียชีวิต

ภายหลังญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ เมื่อปี 1941 โมโตโกะ พร้อมแม่และพี่ชายถูกส่งไปญี่ปุ่น ช่วงเวลานั้นเธออายุ 14 ปี เธอมาถึงญี่ปุ่นในปี 1942 ครอบครัวของเธอรอดชีวิตจากการโจมตีโตเกียวโดยฝ่ายสัมพันธมิตร เธอเล่าความทรงจำว่า เธอพบเห็นกับตาว่าบ้านพักของเพื่อนร่วมชั้นไหม้จนเหลือแต่ซาก

ภายหลังญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม ครอบครัวของเธอจึงได้พบกันอีกครั้ง ช่วงเวลานั้นเอง แลงดอน วอร์เนอร์ เดินทางมาถึงโตเกียวเมื่อปี 1946 ในฐานะที่ปรึกษาฝ่ายศิลปะและอนุสาวรีย์ซึ่งอยู่ภายใต้ศูนย์บัญชาการสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตร (Supreme Commander for the Allied Powers หรือ SCAP) หลังจากนั้นโมโตโกะ จึงได้ทำงานเป็นเสมียนให้กับกลุ่ม The Monuments Men

เมื่อโมโตโกะ ได้สัญชาติอเมริกันกลับคืนมา หลังจากนั้นก็ทำงานเก็บเงินเพื่อใช้เป็นค่าเดินทางกลับมาสหรัฐฯ เธอเดินทางมาถึงบอสตันในปี 1948 และเรียนจบด้านภาษาอังกฤษจากวิทยาลัยแรดคลิฟฟ์ เมื่อปี 1952

ระหว่างปี 1955-1964 เธอทำงานเป็นครูให้โรงเรียนอเมริกันในญี่ปุ่น (American School in Japan  หรือ ASIJ) หลังจากนั้นก็ย้ายกลับมาสหรัฐฯ อาศัยร่วมกับพี่น้องในโคลอมเบีย เมื่อปี 1964

เธอศึกษาต่อและทำงานในสหรัฐฯ นับตั้งแต่นั้นจนเกษียณในปี 2002 โดยทำหน้าที่หลายบทบาททั้งเป็นครูในโรงเรียนรัฐ จนถึงพนักงานในบริษัทเอกชนที่ทำงานด้านวิจัยและสื่อการศึกษา

 


อ้างอิง:

Katharine Q. Seelye. “Motoko Fujishiro Huthwaite, 92, Last of the ‘Monuments Women,’ Dies”. New York Times. Online. Published 8 MAY 2020. Access 11 MAY 2020. <https://www.nytimes.com/2020/05/08/us/motoko-fujishiro-huthwaite-dead-coronavirus.html>

“Motoko Fujishiro Huthwaite”. Monuments Men Foundation. Online. Access 11 MAY 2020. <https://www.monumentsmenfoundation.org/fujishiro-motoko-huthwaite>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 พฤษภาคม 2563