ศาลไม่รับพิจารณาคดี “บังคับทำท้อง” นโยบายเพิ่มประชากรของเขมรแดง

สาวเขมรแดงสะพานปืนขี่มอเตอร์ไซค์กลางกรุงพนมเปญเมื่อเดือนเมษายน 1975 ไม่นานหลังกองกำลังเขมรแดงบุกยึดเมืองหลวงของกัมพูชาได้สำเร็จเมื่อวันที่ 17 เมษายน 1975 ( AFP PHOTO / VNA / STF)

ศาลพิเศษที่ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาคดีอดีตผู้นำเขมรแดงมีคำสั่งไม่รับพิจารณาข้อกล่าวหา การบังคับหญิงให้ตั้งครรภ์ในสมัยรัฐบาลเขมรแดง อ้างยื่นคำร้องช้า รวมถึงเงื่อนไขด้านกฎหมาย และการขาดหลักฐานยืนยัน

การประกาศคำวินิจฉัยดังกล่าวมีขึ้นเมื่อช่วงเย็นวันพุธที่ผ่านมา (15 มิถุนายน) โดยทนายเอกชน และพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องแยกกันในประเด็นที่คล้ายกัน เพื่อขอศาลออกคำสั่งให้ทำการสอบสวนคดีบังคับการตั้งครรภ์ต่อผู้ต้องสงสัย 2 ราย แต่สำนักงานคณะตุลาการร่วมได้ยกคำร้อง เนื่องจากระหว่างปี 1975-1979 ที่เขมรแดงมีอำนาจ ขณะนั้นการบังคับตั้งครรภ์ยังไม่ถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (ธรรมนูญแห่งกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ รับว่าการบังคับตั้งครรภ์เป็นอาชญากรรมในปี 1998)

คำวินิจฉัยระบุต่อไปว่า “ในขณะนี้หลังทำการสอบสวนการบังคับแต่งงานมานานหลายปี ไม่มีหลักฐานใดๆที่จะช่วยสนับสนุนข้ออ้างว่ามีการดำเนินนโยบายบังคับให้ผู้หญิงตั้งท้อง หรือการบังคับการตั้งครรภ์แต่อย่างใด”

“คำร้องทั้งสอง ยื่นเข้ามาล่าช้าโดยไม่มีเหตุอันควร การยืดระยะเวลาการสอบสวนออกไปจะยิ่งเป็นการเพิ่มภาระให้กับฝ่ายจำเลย และทำให้การสอบสวนคดีต้องล่าช้าออกไปอีก”

ด้านทนายเอกชน ลินดา เบห์นเก (Linda Behnke) ผู้ยื่นคำร้องยอมรับว่าเธอผิดหวังกับคำตัดสินของคณะตุลาการ ซึ่งทำให้ศาลพลาดโอกาสที่จะสอบสวนอาชญากรรมที่เกิดขึ้น

“เรารู้ว่าการบังคับแต่งงานเป็นเรื่องปกติ…พวกเขาถูกบังคับให้ร่วมเพศกัน บ่อยครั้งมีคนคอยแอบสอดส่องคู่แต่งงานเหล่านี้ ซึ่งหากเขาอาจต้องโทษได้ [หากไม่ยอมร่วมเพศกัน]”

รายงานของพนมเปญโพสต์ระบุว่า พยานในคดีที่ยังอยุ่ระหว่างการพิจารณายืนยันว่า คู่แต่งงานเหล่านี้ต่างถูกจับตาอย่างใกล้ชิด และหากพบว่าพวกเขาไม่ยอมร่วมเพศกันก็จะต้องรายงานไปยังเจ้าหน้าที่ ฐานเป็นผู้ทรยศ

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสื่อกัมพูชา การบังคับตั้งครรภ์เพื่อเพิ่มประชากรของเขมรแดงเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ยากลำบากเนื่องจากระบบสาธารณสุขที่มีอย่างจำกัด และหญิงที่เพิ่งคลอดก็ถูกบังคับให้กลับไปทำงานทันดี และการให้นมตามธรรมชาติก็มีปัญหาเนื่องมาจากสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นของแม่เด็ก