ผู้นำเยอรมนีแถลงรำลึกความผิด วาระครบ 75 ปี เดรสเดนโดนทิ้งระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ 2

ภาพถ่ายถนน Muenzgasse ในเมืองเดรสเดน ประเทศเยอรมนี เมื่อ ม.ค. 1952 (ภาพจาก SLUB DRESDEN / AFP)

นายแฟรงค์-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีเยอรมนี อ่านแถลงการณ์ในวาระครบรอบ 75 ปี เมืองเดรสเดน โดนทิ้งระเบิดอย่างหนักระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งทำให้เมืองพังราบ โดยนายแฟรงค์ กล่าวว่า ชาวเยอรมันสำนึกในความผิดของตัวเอง และจะซื่อตรงในความรับผิดชอบของตัวเองตลอดไป

วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ ตามเวลาท้องถิ่น ชาวเยอรมันร่วมพิธีรำลึกครบรอบ 75 ปีของเหตุการณ์สำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งสร้างความเสียหายให้เมืองทางตะวันออกของประเทศ และมีผู้เสียชีวิตจากการทิ้งระเบิดโดยฝ่ายสัมพันธมิตรลงที่เมืองเดรสเดน มากกว่า 2 หมื่นราย

เหตุการณ์ทิ้งระเบิดเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945 เดือนสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดที่มีพลังทำลายล้างสูง และอาวุธเพลิงที่เมืองเดรสเดน เพื่อบีบให้เยอรมนียอมแพ้ การทิ้งระเบิดเมืองนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้พลเมืองท้องถิ่นทั่วประเทศ และเหตุการณ์นี้ส่งผลตามมา ที่เห็นได้ชัดคือ ภาพถ่ายเมืองที่เสียหายพังราบ และภาพซากศพเกลื่อนพื้นคือภาพจำจากการทิ้งระเบิดที่เดรสเดน

ก่อนหน้าการทิ้งระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมืองเดรสเดน ขึ้นชื่อว่าเป็นอีกเมืองที่สวยงามอันดับต้นๆ ของโลกจากสถาปัตยกรรมและพิพิธภัณฑ์ในเมือง เมืองนี้ไม่มีบทบาทในสงครามเท่าใดนักหากเทียบกับบทบาทของเมืองอื่นในเยอรมนี ทำให้การทิ้งระเบิดครั้งนี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงในเวลาต่อมาตามที่ฝ่ายหนึ่งมองว่า เมืองเดรสเดนไม่ได้เป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อเยอรมนี และไม่ได้เป็นศูนย์กลางทางอุตสาหกรรมใดๆ

ภายหลังสงครามฝ่ายสัมพันธมิตรเปิดการสอบสวนและลงโทษผู้บัญชาการที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการ ขณะที่ชาวเมืองเดรสเดน ยังร่วมกันบูรณะเมืองขึ้นใหม่จนสมบูรณ์อีกครั้ง สัญลักษณ์ของเหตุการณ์คือโบสถ์ Frauenkirche (เดรสเด็น เฟราเอ็นเคียเชอะ) เป็นโบสถ์ในคริสต์ศาสนา ตั้งอยู่ที่เมืองเดรสเด็น (Dresden) เมืองหลวงของรัฐแซกโซนี (Saxony) ประเทศเยอรมนี โบสถ์นี้พังเสียหายอย่างหนักจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม แต่ภายหลังถูกบูรณะขึ้นใหม่ทัดเทียมของเดิม

Frauenkirche โบสถ์เยอรมนีที่ไฟไหม้เหลือแต่ซาก แต่สร้างใหม่จนสวยแทบเหมือนเดิม

“วันนี้เราร่วมรำลึกประวัติศาสตร์ของการทิ้งระเบิดในประเทศของพวกเรา เรารำลึกถึงผู้คนที่ได้รับความทุกข์ทรมานในเมืองของเยอรมัน และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคนเยอรมัน” ประธานาธิบดีเยอรมนี กล่าวตอนหนึ่งระหว่างร่วมพิธีรำลึกอย่างเป็นทางการ

“พวกเราชาวเยอรมันไม่เคยลืมความผิดของเรา และจะซื่อตรงต่อความรับผิดชอบตลอดไป”

สำหรับเหตุการณ์ในห้วงเวลานั้น รัฐภายใต้การปกครองของนาซีประกาศว่าการทิ้งระเบิดเป็นการโจมตีที่สร้างความตื่นกลัว และรายงานตัวเลขว่ามีผู้ได้รับผลกระทบราว 2 แสนราย ตัวเลขนี้เป็นที่อ้างอิงมายาวนานหลายทศวรรษ ขณะที่เดรสเดน กลายเป็นที่รู้จักในฐานะเหยื่อผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับผลจากสงคราม แต่จนกระทั่งการรวมชาติเยอรมันในปี 1990 นักประวัติศาสตร์และนักวิจัยบ่งชี้ว่า มีผู้ได้รับผลกระทบจากการโจมตีราว 25,000 คน

วาระการรำลึกอดีตนี้ถูกผู้นำเยอรมนีกระตุ้นให้ใช้เป็นกรณีศึกษาสำหรับพลเมืองในการถอดบทเรียนจากอดีต

ขณะที่โฆษกของพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี พรรคการเมืองฝ่ายขวาซึ่งมีท่าทีตั้งคำถามและดูถูกมุมมองทางวัฒนธรรมว่าด้วยการไถ่โทษอาชญากรรมของกลุ่มนาซีในประเทศเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทวีตข้อความว่า “ความเสียหายนี้ไม่สามารถประเมินได้ การโจมตีของฝ่ายสัมพันธมิตรต่อเมืองเดรสเดนที่เต็มไปด้วยผู้ลี้ภัยคืออาชญากรรมสงคราม”

นายแฟรงค์-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ ปธน.เยอรมนี ยังมีท่าทีเรียกร้องให้เยอรมนีคัดค้านท่าทีต่อต้านหรือให้มองข้ามความรับผิดชอบต่ออาชญากรรมในสงครามโลกครั้งที่ 2

“ใครก็ตามที่นำผู้เสียชีวิตของเดรสเดน มาเทียบกับเอาชวิตซ์ ใครก็ตามที่พูดแก้ตัวให้ความผิดของเยอรมัน ใครก็ตามที่พยายามทำให้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และองค์ความรู้ที่ได้รับการศึกษามานานให้เป็นสิ่งผิด เราในฐานะนักประชาธิปไตยต้องโต้แย้งให้กึกก้องและชัดแจ้ง เราต้องโต้แย้งพวกเขา” นายแฟรงค์ กล่าว

คำให้การวิศวกรแห่งความตาย กลุ่มผู้สร้างเตาเผา-ห้องรมแก๊สในค่ายเอาชวิตซ์ให้นาซี


อ้างอิง:

Eddy, Melissa. “How Dresden Looked After a World War II Firestorm 75 Years Ago”. The New York Times. Online. Published 14 FEB 2020. Access 14 FEB 2020. <https://www.nytimes.com/2020/02/13/world/europe/dresden-germany-anniversary.html>

“Bombing of Dresden”. History. Online. Updated 7 JUN 2019. Access 14 FEB 2020. <https://www.history.com/topics/world-war-ii/battle-of-dresden>