Frauenkirche โบสถ์เยอรมนีที่ไฟไหม้เหลือแต่ซาก แต่สร้างใหม่จนสวยแทบเหมือนเดิม

เฟราเอ็นเคียเชอะ โบสถ์ประจำเมืองเดรสเด็น รัฐแซกโซนี ประเทศเยอรมนี (ซ้าย) โบสถ์ใน ค.ศ. 1930 ที่มีการบูรณะเปลี่ยนโครงสร้างบางส่วนจากไม้เป็นเหล็ก (กลาง) ภาพเมื่อ ค.ศ. 1952 ไม่กี่ปีให้หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เมืองถูกโจมตีด้วยระเบิด และโบสถ์ถูกไฟไหม้จนอาคารพังทลายแทบจะทั้งหมด (ขวา) เฟราเอ็นเคียเชอะ เมื่อ ค.ศ. 2005 ภายหลังการบูรณะกว่า 13 ปี

Dresden Frauenkirche (เดรสเด็น เฟราเอ็นเคียเชอะ) เป็นโบสถ์ในคริสต์ศาสนา ตั้งอยู่ที่เมืองเดรสเด็น (Dresden) เมืองหลวงของรัฐแซกโซนี (Saxony) ประเทศเยอรมนี โบสถ์แห่งนี้ได้รับการยกย่องว่าสวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ แต่เรื่องที่ทำให้โบสถ์แห่งนี้มีชื่อเสียงโด่งดังก็เนื่องมาจากโบสถ์เคยถูกทำลายจนเหลือแต่ซากปรักหักพังจนแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิม แต่ก็สามารถบูรณะให้สวยงามสมบูรณ์แทบจะเหมือนเดิมทุกประการได้อย่างน่าอัศจรรย์

พัฒนาการของศาสนากับการเติบโตของโบสถ์

หากจะย้อนถึงประวัติของเฟราเอ็นเคียเชอะ ก็สามารถย้อนได้ไปกว่าพันปีในที่ดินที่อุทิศขึ้นให้คริสต์ศาสนาและพระมารดาของพระผู้เป็นเจ้าในช่วงยุคกลาง โดยมีการขนานนามที่ดินแห่งนี้ว่า Frauenkirche กระทั่งมีการก่อสร้างโบสถ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในราวศตวรรษที่ 11 โดยพวกมิชชันนารี มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนศาสนาของชาวซอร์เบียน (Sorbian) ให้หันมานับถือคริสต์ศาสนา โดยก่อสร้างแบบศิลปะโรมันเนสก์ (Romanesque)

เมื่อมีการขยายตัวของชุมชนมากขึ้น ราวช่วงท้าย ๆ ของศตวรรษที่ 12 ก็ปรากฏว่าเฟราเอ็นเคียเชอะกลายเป็นโบสถ์ประจำของเมืองที่สำคัญในการใช้ทำพิธีทางศาสนา เช่น พิธีศีลจุ่ม พิธีแต่งงาน และพิธีศพ กระทั่งมีการการสร้างหอขึ้นมาใหม่ตามรูปแบบศิลปะโกธิก (Gothic) ในราวศตวรรษที่ 13 และสร้างใหม่อีกครั้งในศตวรรษที่ 15

ภาพวาดเมืองเดรสเด็น ค.ศ. 1521 จะเห็นเฟราเอ็นเคียเชอะที่มุมบนขวา (ภาพจาก Wikimedia Commons/ไฟล์ Public Domain)

เมื่อเข้าสู่ต้นศตวรรษที่ 18 โบสถ์อยู่ในสภาพทรุดโทรมอย่างมาก สภาแห่งเมืองเดรสเด็นจึงตัดสินใจที่จะสร้างอาคารขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 1722 โดยมอบหมายให้นาย George Bähr สถาปนิกและช่างไม้ที่มีฝีมือชำนาญเป็นผู้ออกแบบการสร้างโบสถ์หลังใหม่ ในวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1726 ได้มีการวางศิลาฤกษ์อย่างเป็นทางการหลังจากวางแผนการก่อสร้างมานานถึง 4 ปี

โบสถ์ใหม่แห่งนี้ถูกเปลี่ยนจากนิกายโรมันคาทอลิกเป็นนิกายลูเธอรัน ภายหลังจากการปฏิรูปศาสนาในดินแดนเยอรมนีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1517 โดยมาร์ติน ลูเทอร์ (Martin Luther)

จอร์จออกแบบโบสถ์แห่งใหม่ให้มีโดมทรงระฆังบนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส เป็นศิลปะแบบบาโรก (Baroque) ตามแผนการของจอร์จนั้น เขาออกแบบสร้างโดมด้วยทองแดง แต่นั่นจะทำให้งบประมาณเพิ่มสูงขึ้นไปมาก เนื่องจากการก่อสร้างโบสถ์ได้รับการสนับสนุนอย่างจำกัด จึงไม่มีเงินมากพอจะสร้างโดมทองแดงหรือประดับตกแต่งอย่างหรูหราได้

ดังนั้น วัสดุหลักจะเป็นหิน ก้อนอิฐ ไม้ จะใช้หินทรายเป็นองค์ประกอบหลัก โดยถือว่าโดมทรงระฆังนี้เป็นงานที่ท้าทายทางสถาปัตยกรรมอย่างมาก เนื่องจากต้องคำนวนน้ำหนักของโดมหินให้กระจายอย่างสมดุล ซึ่งโดมหินทรงระฆังนี้ถือเป็นจุดเด่นของโบสถ์ เนื่องจากไม่มีการสร้างโดมทรงระฆังมาก่อน ปกติแล้วมักนิยมสร้างโดมทรงกลมมากกว่า ดังนั้นหลายคนจึงเรียกโดมหินทรงระฆังนี้ว่า “Stone Bell”

ในภาพรวมโบสถ์แห่งนี้เปรียบเสมือนหินก้อนเดียวจากพื้นถึงจุดสูงสุด เพราะล้วนสร้างมาจากหินเป็นส่วนใหญ่ ส่วนของโดมหินก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1738 กระทั่งโบสถ์สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1743

สงครามโลกครั้งที่ 2 

ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายพันธมิตรเริ่มปฏิบัติการโจมตีเมืองเดรสเด็นด้วยระเบิด เครื่องบินทิ้งระเบิดของกองทัพอากาศอังกฤษและสหรัฐอเมริกากว่า 1,200 ลำทิ้งระเบิดน้ำหนักรวมกันกว่า 40,000 ตัน ใส่เมืองเดรสเด็นอย่างหนักหน่วง ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 25,000 คน บ้านเรือนกว่า 75,000 หลังถูกทำลาย

เฟราเอ็นเคียเชอะรอดจากการโจมตีด้วยการทิ้งระเบิดมาได้ แต่ไฟที่ลุกลามไปทั่วเมืองได้ลามมาไหม้ที่โบสถ์ ความร้อนที่เกิดขึ้นหลายชั่วโมงยาวนานต่อเนื่องหลายวัน ซึ่งอาจมีอุณหภูมิสูงสุดถึง 1,000 °C ทำให้ในช่วงเช้าในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ โครงสร้างอาคารได้รับความเสียหายหนัก ไม่สามารถรองรับน้ำหนักมหาศาลจากโดมหินที่มีน้ำหนักกว่า 12,000 ตันได้ เสาหลักที่รองรับน้ำหนักก็ระเบิดออก และในที่สุดโดมหินจึงพังทะลายลงมา

ภาพถ่ายเฟราเอ็นเคียเชอะ เมื่อ 13 กันยายน ค.ศ. 1957 (Photo by SLUB DRESDEN / AFP)

นับเป็นความโชคดีที่ชาวเมืองยังเห็นคุณค่าของซากหินที่กองอยู่ตรงนั้นและไม่ได้ทำลายไปเสียก่อน เฟราเอ็นเคียเชอะถูกทิ้งให้เป็นซากปรักหักพังกลางเมืองเดรสเด็นเป็นเครื่องเตือนใจถึงความพินาศและความน่าสะพรึงกลัวของสงคราม

ซากปรักหักพังถูกทิ้งไว้เช่นนั้นนานหลายสิบปี แม้ขณะนั้นยังไม่มีการวางแผนจะสร้างใหม่แต่ก็นำเศษซากก้อนหินเหล่านั้นไปเก็บไว้อย่างเป็นระเบียบ แต่สำหรับนักวางผังเมืองมองว่าโบสถ์เก่านี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเมืองในยุคใหม่ และควรรื้อทิ้งเสีย

ความพยายามการบูรณะมีขึ้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไรก็ตาม คริสตจักรแห่งรัฐแซกโซนีและสภาแห่งเมืองเดรสเด็นไม่มีเงินทุนมากพอที่จะซ่อมแซมโบสถ์ได้ ทั้งยังขาดทรัพยากรด้านเทคนิคและบุคลากร ดังนั้นโครงการบูรณะเฟราเอ็นเคียเชอะจึงถูกระงับไว้ก่อน

เฟราเอ็นเคียเชอะเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ ชาวเมืองจะออกมาชุมนุมอย่างสงบโดยเฉพาะในช่วงวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันครบรอบการทิ้งระเบิด นอกจากนั้นยังเป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิในเยอรมนีตะวันออก จึงนำไปสู่แนวคิดการฟื้นฟูและบูรณะโบสถ์ให้เป็นอนุสรณ์สถานแห่งสันติภาพของชาติกระทั่งเริ่มมีการระดมทุนโดยคริสต์จักรนิกายลูเธอรัน รวมถึงบุคคลที่มีชื่อเสียง และประชาชนทั่วไป สถาบันเดรสเด็นเพื่อการอนุรักษ์อนุสาวรีย์จึงผลักดันให้มีการบูรณะโบสถ์ขึ้นอีกครั้ง เมื่อถึงตอนต้นของทศวรรษ 1960 สภาเมืองเดรสเด็นจึงเริ่มแผนการบูรณะโบสถ์อีกครั้ง

การบูรณะจากเศษซาก

ภายหลังการรวมประเทศเยอรมนีใน ค.ศ. 1990 แนวความคิดและการผลักดันให้บูรณะเฟราเอ็นเคียเชอะก็ชัดเจนและขยายวงกว้างไปทั่วทั้งประเทศ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1992 สภาแห่งเมืองเดรสเด็นจึงอนุมัติให้มีการสร้างเฟราเอ็นเคียเชอะขึ้นมาใหม่ จนสามารถก่อตั้งมูลนิธิเพื่อการบูรณะโบสถ์แห่งนี้ขึ้นมาได้สำเร็จพร้อมทั้งประกาศระดมทุน และเริ่มงานอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน

แนวคิดพื้นฐานของการบูรณะเฟราเอ็นเคียเชอะมี 3 ประการคือ

  1. การบูรณะเฟราเอ็นเคียเชอะควรสร้างใหม่โดยใช้วัสดุดั้งเดิมให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และต้องบูรณะให้มีโครงสร้างเป็นแบบเดิมอย่างที่จอร์จ สถาปนิกผู้ออกแบบได้ทำไว้
  2. ต้องนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้กับการบูรณะโบสถ์ ทั้งทฤษฎีและวิธีการของฟิสิกส์และวิศวกรรมในสมัยปัจจุบัน
  3. ต้องคำนึงถึงการใช้งานอาคารอย่างคุ้มค่าให้มากที่สุด และต้องให้ความสำคัญกับบริบททางสังคม วัฒนธรรม และรูปแบบของอาคารสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 21

การดำเนินการโครงการเริ่มขึ้นปี ค.ศ. 1993 โดยเริ่มจากการวางแผนและศึกษาข้อมูลก่อนเป็นอันดับแรก ในการบูรณะครั้งนี้จะแตกต่างกับการบูรณะโบสถ์ครั้งก่อนหน้า ในศตวรรษที่ 19-20 การบูรณะในอดีตมักจะอาศัยข้อมูลจากจดหมายเหตุ บันทึก แผนผัง แบบร่าง หรือภาพถ่าย

การบูรณะครั้งใหม่นี้จำเป็นต้องใช้ข้อมูลเหล่านั้นเช่นกัน แต่ได้อาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยนำข้อมูลเหล่านั้นทั้งหมดมาแปลงเป็นภาพ 3 มิติ และใช้คอมพิวเตอร์สร้างโมเดลจำลองขึ้นมาเพื่อช่วยการทำงานให้ง่ายมากยิ่งขึ้น ช่วงระหว่าง ค.ศ. 1994-1995 ได้เริ่มการก่อสร้างขึ้น โดยเริ่มจากการรื้อกองหินออกไปก่อน เศษซากกองหินนั้นถูกนำมาจัดเก็บข้อมูลและจัดหมวดหมู่อย่างเป็นระบบ จากนั้นจึงสร้างหินแบบสามมิติในคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยสถาปนิกและวิศวกรในการหาตำแหน่งเดิมของหินแต่ละก้อน

แม้จะพยายามใช้หินก้อนเดิมมาใช้และคืนตำแหน่งเดิมให้มากที่สุด แต่ก็มีบางส่วนที่จำเป็นต้องนำหินก้อนใหม่เข้าไปแทนที่ โดยหินก้อนใหม่จะใช้เทคโนโลยีการตัดด้วยแรงดันน้ำสูงจึงทำให้หินมีความสมบูรณ์ได้รูปอย่างที่ต้องการ นอกจากนี้โครงสร้างบางส่วนที่เดิมเป็นไม้ก็เปลี่ยนมาใช้เหล็กกล้าเพื่อเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างส่วนที่รับน้ำหนัก ส่วนการก่ออิฐจะถูกเชื่อมประสานโดยวัสดุชนิดพิเศษ และเสริมโครงสร้างให้แข็งแรงกว่าเดิม ส่วนพื้นผิวที่ถูกไฟไหม้ได้รับความเสียหายอย่างหนักก็ได้รับการซ่อมแซม มีการเสริมพื้นคอนกรีตด้วยเหล็ก วางระบบสายไฟ ระบบระบายอากาศ และระบบทำความร้อน เป็นต้น

ภายในเฟราเอ็นเคียเชอะ ตกแต่งด้วยศิลปะแบบบาโรก (Photo by MATTHIAS HIEKEL / POOL / AFP)

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1997 ก็เริ่มงานส่วนหลังคา โดยหลังคาถูกยึดไว้กับไฮโดรลิกและถูกยกสูงกว่าเดิมหลายครั้งเนื่องจากต้องแก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างและน้ำหนัก การก่อสร้างยังคงดำเนินต่อไป เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2000 ซึ่งครบรอบ 55 ปี วันทำลายล้างเมืองเดรสเด็น ประเทศอังกฤษจึงได้มีส่งมอบของขวัญเป็นไม้กางเขนที่ใช้ประดับยอดหอเล็ก ๆ นอกโบสถ์ให้กับชาวเมืองเดรสเด็น

ส่วนของโดมทรงระฆังแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2002 จากนั้นจึงเริ่มประดับด้วยหินสลักภายนอกของตัวโบสถ์ตั้งแต่ยอดถึงฐานแล้วจึงรื้อนั่งร้านออกบางส่วน เมื่อถึงวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 2003 ชาวเยอรมันกว่า 40,000 คนมารวมตัวกันที่หน้าโบสถ์เพื่อฟังการลั่นระฆังทั้ง 8 ใบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่โบสถ์พังทะลายลงไปเมื่อ ค.ศ. 1945

สัญลักษณ์แห่งสันติภาพ

โครงสร้างหินของเฟราเอ็นเคียเชอะแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 2004 ขณะที่ส่วนงานตกแต่งภายในและงานวางระบบอื่น ๆ ยังคงดำเนินต่อไป เมื่อถึงวันที่ 22 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันครบรอบปีที่ 60 ของวัน D-Day ที่ฝ่ายพันธมิตรยกพลขึ้นบก ได้มีพิธีการยกยอดไม้กางเขนขึ้นประดับเหนือโบสถ์

ไม้กางเขนพร้อมลูกแก้วทองคำถูกปั้นแต่งขึ้นโดย Grant Macdonald Silversmiths ในกรุงลอนดอน โดยพยายามใช้เทคนิคการสร้างแบบดั้งเดิมในศตวรรษที่ 18 ให้ใกล้เคียงมากที่สุด และมี Alan Smith ช่างทองชาวอังกฤษอยู่เบื้องหลังการสร้างผลงานชิ้นนี้ด้วย Alan เป็นบุตรของ Frank หนึ่งในลูกเรือกองทัพอากาศที่ร่วมปฏิบัติการถล่มเมืองเดรสเด็นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2

ในวันนั้นมีผู้ร่วมชุมนุมกว่า 80,000 คน และผู้ที่ติดตามรับชมพิธีนี้ทางบ้านอีกกว่า 8 ล้านคน รูปทรงภายนอกของโบสถ์เริ่มปรากฏให้เห็นความสมบูรณ์แสดงถึงความงดงามและรุ่งเรืองสู่สายตาประชาชนด้วยการรื้อนั่งร้านออกไปทั้งหมดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ในปีนั้น ในที่สุดการบูรณะแล้วเสร็จอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 2005

นับตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1982 คนหนุ่มสาวมารวมตัวกันที่หน้าซากปรักหักพังแห่งเฟราเอ็นเคียเชอะ พวกเขาจะมาชุมนุมและจุดเทียนจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการสันติภาพ และเป็นสถานที่สำหรับการประท้วงที่ไม่ใช้ความรุนแรง จนถึงทุกวันนี้ผู้คนมากมายมารวมตัวกันทุก ๆ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พร้อมกับจุดเทียนเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในสงครามและเพื่อเรียกร้องสันติภาพ

ดังคำขวัญว่า “Peace be with you” (สันติภาพอยู่กับคุณ) ซึ่งเป็นคำขวัญอุทิศเพื่อการบูรณะเฟราเอ็นเคียเชอะ สิ่งก่อสร้างอันทรงคุณค่าทั้งทางจิตใจ ศาสนา วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม สังคม และวัฒนธรรม ของทุกคนทั่วทุกมุมโลก

เฟราเอ็นเคียเชอะ (Dresden Frauenkirche) เมืองเดรสเด็น ประเทศเยอรมนี (ภาพจาก Wikimedia Commons/ไฟล์ Public Domain)

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ALAN TAYLOR. (2015). Remembering Dresden: 70 Years After the Firebombing. Access 17/04/2019, from www.theatlantic.com/photo/2015/02/remembering-dresden-70-years-after-the-firebombing/385445/

Frauenkirche Dresden. (2019). History. Access 17/04/2019, from www.frauenkirche-dresden.de/en/history/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 เมษายน 2562