พบซากโรงกลั่นโบราณใหญ่สุดในจีนโดยบังเอิญ คาดว่าทำการตั้งแต่ราชวงศ์หมิงถึงชิง

ภาพประกอบเนื้อหา - คนงานตักกวาดเนินข้าวหมักในโรงหมัก Luzhou Laojiao ที่จีน เมื่อ 24 เม.ย. 2019 (ภาพจาก HECTOR RETAMAL / AFP)

การขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกเป็นงานที่ท้าทายและมักค้นพบสิ่งใหม่อยู่เสมอไม่เว้นแม้แต่การค้นพบโดยบังเอิญ ดังเช่นกรณีการค้นพบล่าสุดในจีน เมื่อคนงานในจีนพบซากโรงกลั่นสุราโบราณขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบในจีนเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน

วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2562 สำนักข่าวซินหัวของจีนและสื่ออีกหลายแห่งในแดนมังกรรายงานการขุดค้นซากโรงกลั่นสุราขนาดใหญ่โดยอ้างอิงข้อมูลจากทางการท้องถิ่นว่า การค้นพบครั้งนี้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ เป็นกลุ่มคนงานที่ทำงานใน Suixi มณฑลอานฮุย Anhui ไปพบเข้า

คลิกชมภาพสถานที่ขุดค้นเพิ่มเติม

รายงานข่าวเผยว่า นักโบราณคดีที่เข้าไปขุดค้นภายในพื้นที่ 3,000 ตารางเมตร จากพื้นที่ทั้งหมด 18,000 ตารางเมตรก็พบชุดของซากสิ่งก่อสร้างที่เชื่อว่าเป็นสถานที่สำหรับกลั่นเครื่องดื่มยุคโบราณ อาทิ เตากลั่น แท็งก์หมักอีกมากกว่า 30 แท็งก์ และยังพบโบราณวัตถุขนาดเล็ก อาทิ เหยือกใส่เครื่องดื่ม, ขวด และที่คีบยาสูบในบริเวณเดียวกัน โดยการขุดค้นยังดำเนินต่อไป คาดว่าจะพบโบราณวัตถุอีกไม่น้อย

Chen Chao นักวิจัยจากสถาบันด้านโบราณคดีประจำภูมิภาคให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวเผยว่า โรงกลั่นที่พบล่าสุดเป็นซากโรงกลั่นโบราณแห่งที่ 4 ซึ่งนักโบราณคดีจีนขุดค้นพบ โบราณวัตถุและซากต่างๆ ที่ค้นพบยังอยู่ในสภาพค่อนข้างดีสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการกลั่นและภูมิปัญญาการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของชาวจีนโบราณทางตอนเหนือ

คาดว่าโรงกลั่นที่พบครั้งนี้ทำการยาวนานหลายศตวรรษ ตั้งแต่ราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368-1644) จนถึงราชวงศ์ชิง (1644-1911)

ก่อนหน้าการค้นพบครั้งล่าสุด นักวิจัยพบโรงกลั่นโบราณ 2 แห่งในมณฑลเสฉวน และอีกแห่งที่เจียงซี

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แพร่หลายในจีนโบราณ รายงานข่าวจากสื่ออ้างอิงคำบอกเล่าเกี่ยวกับความเชื่อโบราณที่คนมีการศึกษาส่วนใหญ่มองว่าการเขียนงานกวีที่สวยงามต่างๆ ต้องมาพร้อมเครื่องดื่มชั้นดี และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและวิถีชีวิต แต่แน่นอนว่าการดื่มจนเมามายก็ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมโบราณเช่นกัน

จากข้อมูลเบื้องต้น หากข้อมูลยุคสมัยของซากโรงกลั่นที่เพิ่งค้นพบตรงกับความเป็นจริง เท่ากับว่า ซากแห่งนี้อยู่ในยุคสมัยเดียวกับโรงกลั่น Shu Jing Fang ซึ่งยังทำการจวบจนปัจจุบัน Destination Asia รายงานว่า โรงกลั่นแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1408 ปัจจุบันตั้งอยู่ที่เมืองเฉิงตู โดยเชื่อว่า ทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาตั้งแต่ราชวงศ์หมิง และดำเนินการผลิตมายาวนานมากกว่า 600 ปี (อ้างถึงใน CMS Imports ผู้นำเข้าเครื่องดื่มแบรนด์ดังจากจีนไปสหรัฐฯ) เป็นผู้ผลิต “ไป๋จิ่ว” ขาว (เหล้าขาว) ที่โด่งดัง โดยไป๋จิ่ว (Baijiu) ถือกันว่าคือเครื่องดื่มที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของจีน เนื่องด้วยกรรมวิธีการผลิตที่เก่าแก่ตกทอดกันจนเป็นมรดกทางวัฒนธรรม

 


อ้างอิง :

Archaeologists discover China’s largest ancient ruins of distillery. Xinhua. Online. Published 5 SEP 2019. Access 11 SEP 2019. <http://www.xinhuanet.com/english/2019-09/05/c_138368169.htm>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กันยายน 2562