เผยแพร่ |
---|
สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา หัวข้อ “ผ้ากับชีวิต ในราชสำนักฝ่ายใน” โดย ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ดำเนินการเสวนาโดย เอกภัทร เชิดธรรมธรณ์ วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน 2562 เวลา 13.30-16.30 น. ณ ห้องโถง มติชนอคาเดมี
ข้าราชบริพารผู้ถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคคลบาทพระมหากษัตริย์นั้นแบ่งออกเป็น ราชสำนักฝ่ายหน้าและ ราชสำนักฝ่ายใน อ. ธีรพันธุ์ อธิบายว่าราชสำนักฝ่ายในคือสตรีที่เกี่ยวข้องกับเขตพระราชฐานชั้นใน ไม่เฉพาะแค่เจ้านายสตรีเท่านั้น ยังรวมถึงสตรีชนชั้นสูงที่อาศัยอยู่นอกพระบรมมหาราชวัง สามารถเข้านอกออกในได้ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของฝ่ายใน ก็ล้วนแต่เป็นสตรีในราชสำนักฝ่ายใน
ภายในราชสำนักฝ่ายในนี้เองคือศูนย์กลางของสรรพวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับ “สตรี” คือสารพัดงานช่างของผู้หญิงอันเป็นประเพณีที่ละเมียดงดงาม เป็นที่หมายปองของบรรดาขุนนางทั้งหลายที่ต้องการส่งลูกหลานเข้ามาในฝ่ายในเพื่อเรียนรู้ “วิถี” ของชาววัง บางคนเข้ามาถวายตัวเป็นบาทบาริจาริกา บางคนมาเป็นข้าหลวง บางคนมาเพื่อ “ชุบตัว” เรียนรู้กิจการงานต่าง ๆ เพื่อให้ตนเป็น “ชาววัง” ก่อนจะออกไปแต่งงานสร้างครอบครัว
“วิถี” ของฝ่ายในนี้สืบทอดเป็นแนวปฏิบัติมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่ฝังวัฒนธรรม ขนบ ธรรมเนียม ประเพณี ลงหยั่งลึกในวัฒนธรรมไทย จนเมื่อเข้าสู่สมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ “วิถี” เหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดทั้งการจนบันทึก การบอกเล่ามุขปาฐะ และการสืบทอดปฏิบัติเรื่อยมา จากรุ่นสู่รุ่น แม้มีการปรับเปลี่ยนไปตามสภาวะการณ์ต่าง ๆ จากสงคราม เศรษฐกิจ การเมือง แต่วิถีของฝ่ายในเหล่านี้ก็มีรากเหง้ามาจากครั้งกรุงศรีอยุธยาทั้งสิ้น
สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็น “วิถี” ของชาววัง ของฝ่ายใน คือเรื่องของ “ผ้า” เพราะการแต่งกายคือเครื่องแสดงออกถึงฐานะของผู้สวมใส่ อ. ธีรพันธุ์ ได้เสนอภาพให้เห็นว่า ข้าราชสำนักฝ่ายในนั้นไม่ได้ดำรงชีวิตหรูหราหรือแต่งกายเต็มยศตลอดเวลา การแต่งกายอย่างเต็มยศนั้นจะแต่งเมื่อมีพระราชพิธีสำคัญหรือการออกรับแขกบ้านแขกเมือง ทั้งนี้ปรากฏภาพถ่ายที่ชาววังบางท่านนุ่งห่มเครื่องแต่งกายอย่างชาวบ้าน และใช้ชีวิตประจำวันตามปกติอย่างชาวบ้านก็มี แต่ส่วนที่ชาววังแตกต่างกับชาวบ้านนั้นคือชาววังจะมี “วิถี” ต้องปฏิบัติดำรงชีวิตตามประเพณีอย่างปราณีตและงดงามให้สมกับการเป็นชาววัง
วิถีของชาววังคือการนุ่งห่มเสื้อผ้าตามโฉลกสีและมงคลฤกษ์ตามกำลังวัน ซึ่งเป็นการนุ่งห่มอย่างพิถีพิถัน เหตุที่เรียกว่า “นุ่งห่ม” นั้น เพราะเป็นวัฒนธรรมหลักของไทยมาแต่โบราณ ดินแดนนี้มีวัฒนธรรมนุ่งห่มมิใช่ “สวมใส่” สำหรับการแต่งการของชาววังในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 1-3 จะนุ่งผ้าห่มผ้า หรือที่มักได้ยินคือ “นุ่งยกห่มตาด” นุ่งยก คือการนุ่งผ้ายกแล้วจีบทบด้านหน้าให้เป็นกลีบ ห่มตาด คือการนำสไบมาห่มแล้วทับด้วยผ้าสะพัก ซึ่งเป็นการแต่งกายตามโบราณราชประเพณีที่ถือปฏิบัติมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา
แล้วชาววังนุ่งโจง (กระเบน) ตอนไหน?
เรื่องนี้ อ. ธีรพันธุ์ บรรยายว่าเกิดจากเหตุปะทะกันระหว่าง เจ้าคุณจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 5 กับสมเด็จฯ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร หรือ “เสด็จยาย” ในรัชกาลที่ 5 โดยกรมพระยาสุดารัตนราชประยูรนิยมนุ่งจีบตามแบบโบราณ แต่เจ้าคุณจอมมารดาแพนิยมนุ่งโจงที่พึ่งนิยมกันช่วงต้นรัชกาล ดังนั้น รัชกาลที่ 5 ทรงตัดสินพระราชหฤทัยว่าผู้ใดจะนุ่งจีบหรือนุ่งโจงก็เป็นเรื่องของผู้นั้น แต่การพระราชพิธีต้องนุ่งจีบตามโบราณราชประเพณีเท่านั้น
ผ้านุ่งนับเป็นเครื่องแต่งกายที่มีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนักหากเทียบกับอาภรณ์แต่งกายส่วนอื่น จึงสรุปได้ดังนี้
- ผ้านุ่ง จากอดีตที่นิยมนุ่งจีบและนุ่งโจง ภายหลังเมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อมีพระราชนิยมให้สตรีนุ่งซิ่น จากนั้นมาจึงหันมานุ่งซิ่นกันมาก ครั้นต่อมาได้รับอิทธิพลจากยุคแกต์สบี (The Great Gatsby) จึงนิยมนุ่งซิ่นที่สั้นขึ้น
- ผ้าห่ม ผ้าห่มอย่างสไบนั้นเริ่มลดทอนจากสไบหน้ากว้าง สู่สไบหน้าแคบลง และลดทอนจนกลายเป็นผ้าสะพายเฉวียงซ้าย ส่วนผ้าสะพักนั้นยังคงนำมาใช้แต่งกายสำหรับการพระราชพิธีที่จำเป็นต้องแต่งกายตามโบราณราชประเพณี
- เสื้อ นับแต่อดีตชาววังจะไม่นิยมสวมเสื้อ หากสวมเสื้อจะเป็นเสื้อแขนกระบอกยาว มีทั้งคอกลมและคอตั้ง เมื่อมีแฟชั่นตะวันตกเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงนิยมเสื้อแบบใหม่ ทั้งเสื้อ Military Jacket เสื้อแขนพองแบบแขนหมูแฮม เสื้อลายลูกไม้
(จากภาพด้านบน สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ทรงนุ่งโจง ทรงสวมเสื้อลูกไม้เข้ารูปแบบแขนหมูแฮม ซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงเวลาหนึ่งของชาววัง)
นอกจากเรื่องของผ้าแล้ว เครื่องแต่งกายอื่นทั้งถุงเท้า รองเท้า เครื่องประดับ ก็ล้วนเปลี่ยนไปตามสมัย แต่ล้วนเป็นอิทธิพลของตะวันตกแทบทั้งสิ้น อ. ธีรพันธุ์ ให้ข้อมูลว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 หากมีแฟชั่นออกใหม่ที่กรุงปารีส เพียง 3 เดือน แฟชั่นนั้นก็เข้าสู่กรุงเทพ และผู้ที่นำแฟชั่นเข้าสู่ราชสำนักฝ่ายในเป็นคนแรก ๆ คือสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ
จึงอาจกล่าวได้ว่า ผู้นำแฟชั่นในอดีตคือสตรีในราชสำนัก
ในช่วงท้ายของการเสวนา อ. ธีรพันธุ์ ได้เล่าวิธีการรักษาผ้าตามวิถีของชาววังที่มีความละเมียดมาก โดยเฉพาะการลงแป้งด้วยลูกซัด เมื่อลูกซัดที่ติดอยู่ตามผ้าได้รับไอความร้อนจากคนก็จะระเหยมีกลิ่นหอมอบอวนออกมา และรวมไปถึงการทาตัวด้วยน้ำอบหลายรอบ ทาน้ำอบ พัดให้แห้ง ทำแบบนี้หลายรอบจนกลิ่นหอมติดตัว สมกับคำกล่าวที่ว่า ชาววังไปนั่งที่ใดก็ “หอมติดกระดาน” ที่นั่น
ช่วงที่ 1
ช่วงที่ 2