อิสราเอลผลิตเบียร์จากยีสต์อายุเฉียดพันปีซึ่งเก็บจากแหล่งโบราณคดีสำเร็จ

โถโบราณขนาดใหญ่ถูกนำมาแสดงในการแถลงข่าวของทีมนักวิทยาศาสตร์อิสราเอล เมื่อ 22 พ.ค. 2019 ซึ่งทีมนักวิทย์ระบุว่า สามารถผลิตเบียร์จากยีสต์ที่สกัดจากเครื่องปั้นดินเผาโบราณอายุเฉียดพันปี (ภาพจาก THOMAS COEX / AFP)

เมื่อเหล่านักวิทยาศาสตร์และนักโบราณคดีอิสราเอลสานต่องานร่วมกัน เมื่อนั้นผู้บริโภคที่สนใจลิ้มลองรสชาติเครื่องดื่มโบราณก็กำลังจะสมหวัง จากที่ทีมนักวิทยาศาสตร์อิสราเอลประสบผลสำเร็จในการผลิตเบียร์จากยีสต์ซึ่งเก็บตัวอย่างจากเครื่องปั้นดินเผาในแหล่งโบราณคดีมาเพาะแล้วผลิตเป็นเบียร์แบบที่พอจะเรียกว่าจำลองเครื่องดื่มเมื่อครั้งอดีตกาลก็ว่าได้

กระแสเครื่องดื่มย้อนยุคดูเหมือนกำลังกลับมาก่อตัวขึ้นในฟากยุโรป (อ่านเพิ่มเติม : เบียร์สงฆ์โบราณคืนชีพ หลังบาทหลวงเบลเยียมถอดสูตรผลิตเบียร์เก่าแก่กว่า 220 ปีได้) ขณะที่ฝั่งตะวันตกกำลังสนใจในเบียร์สูตรโบราณ รายงานข่าวจากเว็บไซต์ Times of Israel เปิดเผยความสำเร็จของทีมนักชีววิทยา, นักโบราณคดี และนักผลิตเบียร์ ซึ่งจับมือกันผลิตเบียร์ที่เรียกได้ว่าจำลองเครื่องดื่มเมื่อครั้งอดีตกาล จากที่พวกเขาใช้ยีสต์ซึ่งเพาะเลี้ยงขึ้นจากตัวอย่างที่เก็บได้จากเครื่องปั้นดินเผาในแหล่งโบราณคดี 4 จุด

การทดลองครั้งนี้กินระยะเวลายาวนาน และใช้ทีมนักวิทยาศาสตร์หลายด้านทำงานร่วมกัน โดยนักวิทยาศาสตร์สกัดยีสต์จากเครื่องปั้นดินเผาจำนวน 21 ชิ้นที่ค้นพบในแหล่งโบราณคดีอันเป็นที่รู้จักกันในนาม “ดินแดนศักดิ์สิทธิ์” (Holy Land) พื้นที่ระหว่างแม่น้ำจอร์แดน และทะเลเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งเชื่อว่าภาชนะเหล่านี้เป็นที่ใส่เบียร์หรือไวน์ ทีมนักวิทยาศาสตร์สกัดยีสต์ที่หยุดการเติบโตมายาวนานได้ 6 สายพันธุ์

พื้นที่ 4 แห่งที่เป็นแหล่งของการค้นพบคือ แหล่งขุดค้นทางโบราณคดีของเมืองเทลล์ เอส–ซาฟิ (es-Safi/Gath) 850 ปีก่อนยุคปัจจุบัน, เอน-เบซอร์ (En-Besor) ยุคสัมฤทธิ์ในเนเกฟ (Negev), ฮา-มาสเกอร์ (Ha-Masger) ในเทลอาวีฟ (Tel Aviv) และ เรเมต-ราเชล (Ramat Rachel) ในเยรูซาเล็ม (Jerusalem)

หลังจากหาลำดับเบสของดีเอ็นเอ (DNA sequencing) ประมวลผลภาพด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูง และกระบวนการบ่งชี้ต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ยีสต์ 6 ชนิดที่ยังสามารถเจริญเติบโตได้ถูกนำมาฟื้นฟูให้กลับมา จากนั้นจึงนำมาผลิตเป็นเบียร์แบบเครื่องดื่มโบราณที่สามารถบริโภคได้ รายงานข่าวเผยว่า ผลผลิตที่ได้แต่ละชนิดให้กลิ่นแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของยีสต์

Dr. Yitzhak Paz นักโบราณคดีจากหน่วยงานอนุรักษ์วัตถุโบราณระบุในแถลงการณ์เกี่ยวกับการทดลองครั้งนี้ว่า ผลที่ได้ถือเป็นหลักไมล์ใหม่ และถือเป็นครั้งแรกที่ทีมสามารถผลิตเครื่องดื่มแบบโบราณที่มีแอลกอฮอล์จากยีสต์โบราณ โดยเฉพาะการใช้วัตถุดิบดั้งเดิมซึ่งเป็นต้นตอของการผลิตซึ่งไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน นอกจากนี้ นักโบราณคดียังระบุว่า เป็นครั้งแรกที่สามารถสกัด ระบุชนิด และสร้างยีสต์ขึ้นมาใหม่จากตัวอย่างในเครื่องปั้นดินเผา การทดลองครั้งนี้จะเป็นการเปิดประตูไปสู่ความท้าทายในการระบุชนิดของเศษอาหารจากภาชนะบรรจุโบราณและนำกลับมาผลิตใหม่

รายงานข่าวเผยว่า ทีมขุดค้นแหล่งโบราณคดีค้นพบเหยือกเบียร์จากแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีของเมืองเทลล์ เอส–ซาฟิ ขณะที่เครื่องดื่มประเภทเบียร์เป็นที่แพร่หลายในอดีตกาล ถูกบริโภคทั้งในหมู่ชนฐานะรวย จน และไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ อีกทั้งยังถูกใช้ในพิธีกรรมด้วย อย่างไรก็ตาม นักโบราณคดีอธิบายว่า เบียร์โบราณไม่ได้มีลักษณะเป็นของเหลวใสสีเหลืองอำพันเหมือนทุกวันนี้ แต่อาจพบเห็นตะกอน และน่าจะทำจากธัญพืชหลากหลายชนิด

ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวได้ลิ้มรสเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ 6 เปอร์เซ็นต์ด้วย รายงานข่าวจากเอเอฟพี เผยว่า รสชาติของเบียร์ที่ให้ผู้สื่อข่าวชิมรสเหมือน Ale หรือเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ที่ทำจากข้าวมอลต์

สำหรับผู้ที่สนใจ และมีคำถามในใจว่าจะมีโอกาสได้ลิ้มรสเบียร์โบราณที่จะถูกพัฒนาในอนาคตหรือไม่ Dr. Yitzhak Paz กล่าวกับสื่อดังว่า ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังทำงานร่วมกับหน่วยงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Hebrew เพื่อหานายทุนที่สนใจจะนำไปผลิตเชิงพาณิชย์ด้วย


อ้างอิง:

AMANDA BORSCHEL-DAN. “Israeli scientists brew groundbreaking ‘ancient beer’ from 5,000-year-old yeast”. The Times of Israel. Published 22 MAY 2019. Access 24 MAY 2019. <https://www.timesofisrael.com/israeli-scientists-brew-groundbreaking-ancient-beer-from-3000-year-old-yeast/>