นานาสาระว่าด้วย “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”

“พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” ภาพเขียนโดย อาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ ภาพนี้อยู่ที่อาคารรัฐสภา

สำหรับคนไทยเดือนพฤษภาคม 2562 จะไม่เหมือนเดือนพฤษภาคมอื่น ด้วยมี “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” อันเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญของชาติเกิดขึ้น ที่มีขั้นตอนการเตรียมงานมาอย่างต่อเนื่อง

เพื่อร่วมกับคนทั้งชาติในการถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ครั้งนี้

ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม 2562

นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนพฤษภาคม 2562 จัดทำเป็นวาระพิเศษอีกครั้ง ครั้งนี้บทความทั้งเล่มนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ในมิติต่างๆ จำนวน 19 เรื่อง ด้วยเนื้อหาข้อมูลที่ลุ่มลึก จากการทำงานหนักของนักเขียน นักวิชาการนับสิบคน จึงขอยกตัวอย่าง 2-3 บทความมาแจ้งท่านผู้อ่านให้ได้ทราบ และโปรดอุดหนุน ดังนี้

“ข้อสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับสถานที่ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พ.ศ. 2328” โดย บ. บุหงามาศ เขียนถึงความรับรู้โดยทั่วไปเกี่ยวกับสถานที่ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พ.ศ. 2328 เป็นไปตามพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงกล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ความว่า

…แต่การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ทำในรัชกาลที่ 2 มีการเปลี่ยนแปลงข้อสำคัญอย่าง 1 ที่ย้ายสถานที่มาทำพิธีที่ราชมนเทียรหมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ด้วยพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 1 แทนพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาทที่ไฟไหม้นั้น เป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพอยู่…”

ภาพถ่ายทางอากาศพระบรมมหาราชวัง (ภาพจากหนังสือสถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง สำนักราชเลขาธิการ พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2531)

แต่ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับ “สถานที่ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ในครั้งนั้นแตกต่างไป เนื่องจากได้พบหลักฐานคือ “ต้นฉบับสมุดไทยอันเป็นที่มาของพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)” มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับถึงสถานที่ตั้งการพระราชพิธี “แตกต่าง” กับเนื้อความใน “พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 1 ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรวจชำระและทรงพระนิพนธ์คำอธิบาย” ซึ่งนับเป็นหลักฐานสำคัญที่ใช้ในการอ้างอิงสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ต้นฉบับสมุดไทยอันเป็นที่มาของพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ระบุว่า สถานที่ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พ.ศ. 2328 คือ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ไม่ใช่ พระที่นั่งอัมรินทราภิเษก อย่างที่เข้าใจกันมาแต่เดิม

“งานบรมราชาภิเษก บูรพมหากษัตริย์ไทย ประวัติศาสตร์ที่เคยขึ้นหน้า 1” โดย ไกรฤกษ์ นานา ที่เล่าให้เห็นว่า ความสนใจของต่างชาติเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทยว่า

ภาพประกอบข่าวขึ้นหน้าหนึ่ง หนังสือพิมพ์กรุงปารีส เมื่อเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์เสวยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 5 โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนจนกว่าจะทรงบรรลุนิติภาวะ (เอกสารต้นฉบับของสะสม คุณไกรฤกษ์ นานา)

การสืบทอดราชวงศ์ของราชสำนักสยามตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 (ครองราชย์ พ.ศ. 2394-2411) เป็นที่สนใจของชาวตะวันตกเรื่อยมา เพราะจะเกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศของพระเจ้าแผ่นดินในช่วงเปิดประเทศซึ่งผูกพันอยู่กับชาติตะวันตกโดยตรง

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ตรัสเล่าว่าสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษ ยังทรงฉงน และมีรับสั่งถามพระองค์ถึงสถานะของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ 2 (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) เพราะไม่เข้าพระราชหฤทัยว่าสำคัญอย่างไรกับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรก (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัตินั้นเป็นข่าวเกรียวกราวไปทั่วทวีปยุโรป และขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์หลายฉบับ สื่อมวลชนในโลกตะวันตก ทั้งยุโปรและอเมริกา เผยแพร่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดินไทยพระองค์ใหม่ และต่างพากันคาดการณ์กันว่ายุคใหม่ของสยามประเทศจะเป็นอย่างไร เนื่องจากในหลวงทรงเป็นคนหนุ่มหัวก้าวหน้าทำให้มีแนวโน้มว่าสยามกำลังดำเนินไปสู่ยุคแห่งความศิวิไลซ์

โดยขั้นตอนเกี่ยวกับพระพิธีบรมราชาภิเษกที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักคุ้นตาที่สุด ซึ่งสื่อต่างประเทศเผยขึ้นหน้า 1 อยู่บ่อยครั้ง ก็คือการเสด็จเลียบพระนครอันเป็นกิจกรรมกลางแจ้งที่มิได้ปิดบัง ทำให้ประชาชนรวมทั้งชาวต่างประเทศในพระนครสามารถบันทึกภาพและจดจำได้ดี

“พระราชพิธีบรมราชาภิเษก : ศึกษาจากหลักฐานด้านวรรณคดี” โดย ศ. ดร. นิยะดา เหล่าสุนทร ราชบัณฑิต อธิบายว่า

พิธีราชาภิเษก ตามที่ปรากฏในวรรณคดีมีไม่มากนัก อาจจะเป็นเพราะไม่ใช่จุดหมายสำคัญของวรรณคดี แต่การอภิเษกสมรสจะมัการพรรณนาถึงมากกว่า เพราะเป็นการบรรลุเป้าหมายหรือสัมฤทธิผลที่กวีมุ่งหมายไว้ทีดำเนินเรื่องมาแต่ต้นจนสำเร็จลง วรรณคดีไทยมีน้อยเรื่องที่พรรณนาถึงการได้ราชสมบัติหรือพิธีราชาภิเษก เท่าที่สำรวจมีดังนี้

กาพย์ขับไม้เรื่องพระรถ-ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง, สังข์ศิลป์ชัยกลอนสวด-ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง, รามเกียรติ์ บทละครพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสิงหไกรภพ นิทานคำกลอนของสุนทรภู่

โดยในกาพย์ขับไม้เรื่องพระรถ เป็นวรรณคดีโบราณ ที่ไม่สามารถระบุปีที่แต่งได้ชัดเจนเพราะหลักฐานไม่ปรากฏ แต่ภาษาที่ใช้เป็นภาษาโบราณ และขนบที่ใช้แต่งที่เป็นกาพย์ขับไม้ดำเนินเรื่องแทบจะไม่พบในสมัยหลังเลย มีเนื้อเรื่องสั้นๆ แบ่งเป็นตอนได้ 8 ตอน ดังนี้

ตอนขึ้นเรือนหลวง ตอนสิบสองกำนัน ตอนสมโภช ตอนสมพาส ตอนเด็ดคลุก ตอนถามยา ตอนม้าชั่วน้อย และตอนสุดท้ายไม่ปรากฏชื่อ ตอนที่เกี่ยวข้องกับพิธีราชาภิเษกคือตอนแรกของเรื่อง ได้แก่ ตอนขึ้นเรือนหลวง และตอนสิบสองกำนัน เนื้อเรื่องของตอนแรกคือตอนขึ้นเรือนหลวง

สรุปจากบทประพันธ์ข้างต้นก็ได้แต่ความว่าพระรถทำพิธีราชาภิเษกโดยขึ้นไปประทับบนเกยที่ประดับไว้อย่างงดงาม มีข้าเฝ้าแวดล้อม จากนั้นนางเมรีก็มาเฝ้าเพื่อทำพิธีเสกสมรสต่อไป ท่ามกลางความชื่นชมของทุกฝ่าย

นอกจากนี้ยังมีบทความอื่น เช่น “ปัญจราชาภิเษก : วรรณกรรมตำราแบบแผนพิธีราชาภิเษกของสยาม เมื่อแรกสถาปนาพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์-อภิลักษณ์ เกษมผลกูล และ กมล การกิจเจริญ, พระที่นั่งองค์สำคัญที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระราชพิธีบรมราชาภิเษก-รศ. ยุวดี ศิริ , มะเดื่อ ไม้ที่เกี่ยวข้องกับประเพณีไทยโบราณ-พานิชย์ ยศปัญญา, เจ้านายฝ่ายในของจีน-ถาวร สิกขโกศล ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ท่านผู้อ่านสามารถติดตามได้ใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนพฤษภาคมนี้  ที่อยากเชิญชวนท่านผู้อ่านมาดูความงาม และสาระของพระราชพิธี  ตลอดจนร่วมกันถวายพระพรชัยมงคลในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

ดูรายละเอียดสั่งจองศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม 2562 ได้ตามลิงค์
https://www.matichonbook.com/p/2419/เปิดจอง-quot-ศิลปวัฒนธรรม-quot-เดือน-พฤษภาคม-quot-ฉบับพิเศษ-พระบรมราชาภิเษก-quot.html