เสวนา “อนาคตใหม่กำแพงเมือง-คูเมือง” แลกเปลี่ยนความรู้การอนุรักษ์มรดกของชาติ

(กลาง) นายสด แดงเอียด อดีตอธิบดีกรมการศาสนา และอดีตรองอธิบดีกรมศิลปากร, (ขวา) ผศ.ทิวา ศุภจรรยา ผู้อำนวยการสถาบันถิ่นฐานไทย, (ซ้าย) นายทวีชัย ลิยี่เก ผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีการสำรวจและฐานข้อมูลที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์

วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2562 สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์ ได้จัดงาน “ภูมิวัฒนธรรมชาวกรุง (รัตนโกสินทร์) ปีที่ 2 จากกำแพงเมือง-คูเมือง สู่พระตำหนักปลายเนิน” ณ พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ ถนนจักรพงษ์ กรุงเทพฯ

นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นประธานพิธีเปิดงาน ได้กล่าวถึงที่มาและความสำคัญของโครงการนี้ว่า กรมธนารักษ์มีภารกิจในการสำรวจและกำหนดขอบเขตกำแพงเมือง-คูเมืองเพื่อประโยชน์ในการดูแล รักษา และบริหารจัดการโบราณสถานเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ เกิดความภาคภูมิใจ และตระหนักถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ซึ่งกำแพงเมือง-คูเมืองนับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของประเทศไทย

กรมธนารักษ์เล็งเห็นความสำคัญเพื่อสร้างความร่วมมือบูรณาการจากทุกภาคส่วนในสังคมไทย ในการอนุรักษ์มรดกของชาติ จึงได้จัดเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านวิชาการอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและการอนุรักษ์กำแพงเมือง-คูเมืองในอนาคต

นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวเปิดงาน

ภายในงานมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การออกร้านจำหน่ายอาหารและของที่ระลึก กิจกรรมการฉายภาพยนตร์กลางแปลง กิจกรรม Night at the museum พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ รวมถึงการเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อ “อนาคตใหม่กำแพงเมือง-คูเมือง”

การเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้โดย นายสด แดงเอียด อดีตอธิบดีกรมการศาสนา และอดีตรองอธิบดีกรมศิลปากร, ผศ.ทิวา ศุภจรรยา ผู้อำนวยการสถาบันถิ่นฐานไทย และนายทวีชัย ลิยี่เก ผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีการสำรวจและฐานข้อมูลที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์

ในงานเสวนาได้พูดถึงที่มาและความสำคัญของกำแพงเมืองและคูเมืองในประเทศไทยว่ามีความสำคัญอย่างไร ในฐานะที่เป็น “มรดกทางวัฒนธรรม” ที่สำคัญของชาติ โดยนายสด แดงเอียด ชี้ให้เห็นว่าโบราณสถานคือสิ่งที่อยู่คู่กับแผ่นดินอันเป็นการแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของมนุษย์ นับเป็นมงคลสถานที่แสดงถึงความดีงามของบ้านเมืองและจำเป็นต้องมีการอนุรักษ์

ในด้านการอนุรักษ์ได้อธิบายแบ่งเป็น 3 ร. คือ รู้ รัก และรักษา นั่นคือต้องปลูกฝังหรือถ่ายทอดความรู้ให้กับประชาชนให้เกิดการเรียนรู้และตระหนักถึงความสำคัญของโบราณสถาน จากนั้นจะเกิดความรู้สึกหวงแหนสมบัติของแผ่นดิน และจะนำไปสู่การรักษากำแพงเมือง-คูเมืองให้คงไว้ ก่อนจะพัฒนาต่อยอดสร้างคุณค่าให้โบราณสถานมากยิ่งขึ้น

ผศ.ทิวา ศุภจรรยา ผู้ที่ลงพื้นที่สำรวจกำแพงเมือง-คูเมือง และศึกษาแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศของกำแพงเมือง-คูเมืองนับร้อย ๆ เมืองทั่วประเทศไทย ได้อธิบายว่า กำแพงเมือง-คูเมือง นอกจากจะเป็นสิ่งแสดงวิศวกรรมของมนุษย์แล้วยังแสดงให้เห็นถึงรูปแบบการขยายตัวของชุมชนและการพัฒนาระบบชลประทาน นอกจากนี้ ผศ.ทิวา ศุภจรรยา ยังได้ถ่ายทอดประสบการณ์ในการทำงานซึ่งมีหลายขั้นตอน กว่าที่จะสามารถกำหนดขอบเขตกำแพงเมือง-คูเมืองให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

ผศ.ทิวา ศุภจรรยา ยกให้โบราณสถานบึงคอกช้าง จ.อุทัยธานี เป็นโบราณสถานที่มีรูปแบบกำแพงเมือง-คูเมืองสวยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ

ต่อมา นายทวีชัย ลิยี่เก ได้กล่าวถึงที่มาของการเข้าไปอนุรักษ์กำแพงเมือง-คูเมืองว่าเกิดขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และประเทศเริ่มมีการตื่นตัวงานด้านอนุรักษ์โบราณสถานเมื่อ พ.ศ. 2477 ภายหลังการออกพระราชบัญญัติโบราณสถาน แต่การอนุรักษ์ก็มักประสบปัญหากับชาวบ้านผู้ที่บุกรุกพื้นที่บริเวณกำแพงเมือง-คูเมือง ซึ่งหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะกรมธนารักษ์ก็จำเป็นต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านในเรื่องความสำคัญของการอนุรักษ์กำแพงเมือง-คูเมือง

กล่าวโดยสรุปแล้ว การอนุรักษ์กำแพงเมือง-คูเมืองยังคงเจออุปสรรคนานับประการที่ท้าทายอยู่เสมอตามพลวัตของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป การอนุรักษ์ที่แต่เดิมดำเนินการโดยภาครัฐ จำเป็นต้องมีการบูรณาการร่วมกับหลายภาคส่วนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะภาคประชาชนที่จำเป็นต้องสร้างความตระหนักให้ประชาชนเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของกำแพงเมือง-คูเมือง ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ