การศึกษา-ความรัก-อาชีพของ “เจ้านายสตรีไทย” หลัง 2475 ทำไมรุ่งยุคร.5 ซบเซาในร.6

จากซ้าย : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร (ขานพระนามว่า ทูลกระหม่อมหญิง), พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี, เจ้าคุณจอมมารดาสำลี และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เจ้านายสตรีที่สืบเชื่อสายจากสกุลบุนนาค

สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา… “เจ้านายสตรีไทย หลังสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง”

วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2562 ศิลปวัฒนธรรมจัดเสวนาในหัวข้อ “เจ้านายสตรีไทย หลังสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง” โดยมีวิทยากรคือ วีระยุทธ ปีสาลี และเอกภัทร์ เชิดธรรมธร ดำเนินการเสวนา ณ ห้องโถง มติชนอคาเดมี

เจ้านายสตรีมีส่วนสำคัญในราชสำนักของสยามในการขับเคลื่อนประเทศในหลาย ๆ ทาง ทั้งการเมืองปกครอง และวัฒนธรรมประเพณี อ.วีระยุทธ เห็นความสำคัญเหล่านี้จึงมุ่งศึกษาเรื่องเจ้านายสตรี โดยมุ่งเน้นไปในช่วงเวลาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เพราะเห็นว่ามีการศึกษาเจ้านายสตรีในช่วงเวลานี้ค่อนข้างน้อย ส่วนมากจะมีการศึกษาเกี่ยวกับสตรีในช่วงสมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ค่อนข้างเยอะแล้ว

ก่อนที่จะพูดถึงเจ้านายสตรีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง อ.วีระยุทธ ชี้ว่าจำเป็นต้องเข้าใจบริบทและความเปลี่ยนแปลงของเจ้านายสตรีในยุคก่อนหน้านั้นก่อน โดยแบ่งออกเป็น 4 สมัยคือ สมัยจารีต สมัยรับวัฒนธรรมตะวันตก สมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และสมัยหลัง พ.ศ. 2500 ซึ่งในงานเสวนาครั้งนี้จะเน้นไปที่ช่วง 3 สมัยแรก

สมัยจารีตคือยุคสมัยที่สืบเนื่องมาตั้งแต่รัชกาลก่อนหน้า ซึ่งเจ้านายสตรีฝ่ายในต้องปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีและกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด เจ้านายสตรีต้องประพฤติตัวมิให้เป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ต้องถูกจำกัดอยู่ในกรอบของขนบชาววังที่มีกฎระเบียบในการใช้ชีวิตและประพฤติปฏิบัติเป็นแบบแผน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการกั้นฉนวนที่ห้ามมิให้ผู้ใดพบเห็นเจ้านายสตรีฝ่ายใน

กระทั่งเมื่อสยามเข้าสู่การพัฒนาประเทศอย่างเต็มรูปแบบในสมัยรัชกาลที่ 5 วัฒนธรรมตะวันตกได้ส่งผลกระทบต่อเจ้านายสตรีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สมัยรับวัฒนธรรมตะวันตกนี้เองที่บทบาทของเจ้านายสตรีมีสูงมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากรูปแบบการสถาปนา “พระบรมราชินี” และ “พระบรมราชินีนาถ” ในรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นอิทธิพลจากตะวันตก ขณะที่ชีวิตในฝ่ายในก็มีสีสันมากยิ่งขึ้น เจ้านายสตรีเริ่มออกมาสู่สังคมนอกวังมากยิ่งขึ้น เช่น การต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง

การเปลี่ยนแปลงในสมัยนรัชกาลที่ 5 นั้นทำให้ฝ่ายในในพระบรมมหาราชวังมีสีมีสันมากกว่าแต่ก่อน เกิด “สำนัก” ในพระตำหนักเจ้านายพระองค์ต่าง ๆ เช่น สำนักของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ที่ขึ้นชื่อเรื่องการร้อยมาลัย สำนักของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ที่ขึ้นชื่อเรื่องงานเย็บผ้าทอผ้า สำนักของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ที่ขึ้นชื่อด้านหนังสือและอักษรศาสตร์ และสำนักของพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ฯ ที่ขึ้นชื่อเรื่องอาหาร

การก่อเกิดสำนักต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นประโยชน์แก่เจ้านายสตรีในยุคต่อ ๆ มาให้มีความรู้ความสามารถในการนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ราชสำนักฝ่ายในเข้าสู่ “ยุคทอง” ในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ในรัชกาลต่อมากลับ “ซบเซา” ลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากฝ่ายในไม่ได้เป็นที่พอพระราชหฤทัยในรัชกาลที่ 6 ทรงให้ความสำคัญกับเหล่า “มหาดเล็ก” มากกว่า นั่นจึงทำให้บทบาทของราชสำนักฝ่ายในลดลงไปมาก อีกทั้งเจ้านายสตรีชั้นสูงหลายพระองค์ได้เสด็จฯ ไปประทับในวังต่าง ๆ ทำให้ราชสำนักฝ่ายในในพระบรมมหาราชวังนั้นแทบจะหมดบทบาทไปโดยปริยาย 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 กับพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ เจ้าฟ้าหญิงน้อยที่สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ มีพระราชประสงค์ที่จะให้อภิเษกสมรสกับสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ

สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ประทับ ณ วังพญาไท สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ประทับ ณ วังสระปทุม สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ประทับ ณ วังบางขุนพรม พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ฯ ประทับ ณ วังสวนสุนันทา ซึ่งวังสวนสุนันทาได้กลายเป็นวังที่มีฝ่ายในประทับอยู่กันมากกว่าวังอื่น ๆ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง บรรดาเจ้านายสตรีก็ยิ่งกระจัดกระจายกันไปมากขึ้น โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดช ทำให้เจ้านายทั้งชายและหญิงต่างบางส่วนก็ได้ออกไปประทับที่ต่างประเทศ

เจ้านายสตรีกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้สร้างความวิตกให้กับเจ้านายสตรีบางพระองค์ ในขณะที่มีอีกบางพระองค์กลับมิได้หวั่นวิตกกับเหตุการณ์นี้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี มีพระราชดำรัสถึงเหตุการณ์นี้ว่า

“ฉันไม่คิด ไม่รู้สึกอะไรทั้งนั้น ถ้าจะตายก็ตายด้วยกัน”

หม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล ทรงบันทึกไว้ว่า “เช้าวันนั้นฉันตื่นนอนแล้วเข้าห้องน้ำ เจ้าพี่หญิงใหญ่มาทรงตบประตูเรียกให้ออกไปและรับสั่งด้วยพระอาการร้อนรนว่า “มัวแต่อยู่ในห้องน้ำ เร็ว ๆ เข้าสิ มีคนมาบอกว่าเกิดอะไรไม่รู้ที่วังบางขุนพรหม ทูลกระหม่อมเสด็จลงเรือไปแล้ว”

“วันนั้นเจ้านายในพระราชวงศ์ที่อยู่ชั้นสูงก็หายไปกัน ทางบ้านฉันเองเจ้าพี่เจ้าน้ององค์อื่นๆ ย้ายที่อยู่กันหมด เหลือฉันอยู่คนเดียวกับพวกคนรับใช้ พอดีหญิงโหล (หม่อมเจ้าทักษิณาธร ดิศกุล) มาหาฉัน เลยชวนอยู่ด้วยกัน เราจัดการผูกมุ้งนอนกันสองคนที่เฉลียงนอกห้องนอน เผื่อว่ามีใครโผล่ขึ้นมาคิดจะฆ่าเรา จะได้เห็นหน้าชัด ๆ ก่อนว่าเป็นใคร นอนเกยกันอยู่ทั้งคืนจนเช้าก็ไม่เห็นมีอะไร จากนั้นบรรดาพระญาติที่หลบภัยไปก็กลับมากัน”

เจ้านายสตรีที่ถูกนำไปเป็น “ตัวประกัน” เช่น หม่อมเจ้าประสงค์สม บริพัตร หม่อมเจ้าพัฒนายุ ดิศกุล และหม่อมเจ้าดวงจิตร จิตรพงศ์ ซึ่งล้วนเข้าไปอยู่ในพระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อดูแลพระบิดาที่ถูกนำไปเป็นตัวประกัน อ.วีระยุทธ กล่าวว่ามีเจ้านายสตรีพระองค์หนึ่งที่มิได้หวาดกลัวเหตุการณ์นี้คือ พระองค์เจ้าผ่อง พระธิดาในรัชกาลที่ 5 ที่ยังคงประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังไม่ยอมเสด็จไปไหน แม้ว่าจะมีคนอยากให้เสด็จประทับที่อื่นหรือเสด็จต่างประเทศ แต่พระองค์ก็ไม่เสด็จ

ทำนองวาทะว่า “จะให้ยึดอะไรก็ยึดไป ไม่กลัวตายเลยทั้งนั้น” อ.วีระยุทธ เล่า

อาชีพ ความรัก และการศึกษา ของเจ้านายสตรี

เจ้านายสตรีแต่เดิมจะได้รับเงินปีพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการค้าขายกันบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ในตำหนักต่าง ๆ แต่มิได้ทำเป็นล่ำเป็นสัน ครั้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 6-7 เจ้านายสตรีจำเป็นต้องหาเลี้ยงชีพตนเพราะมีการตัดเงินปีออกไปจำนวนหนึ่ง เจ้านายหลายพระองค์จึงลงทุนค้าขายบ้าง บางพระองค์ที่มีพระสมบัติเป็นตึกแถวก็มีรายได้จากการเก็บค่าเช่า แต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองไปแล้ว เจ้านายบางพระองค์จำเป็นต้องทำงานตามความรู้ที่มีมาตั้งแต่ในวัง เช่น ค้าขายอาหารข้าวของเครื่องใช้ การทำกระเช้าอาหารขาย การทำขนมเค้กขาย การเย็บหมวกขาย เป็นต้น

ขณะที่เจ้านายสตรีบางพระองค์ที่ได้รับการศึกษาขั้นสูงก็ไปประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเอง เช่น หม่อมเจ้าฤดี วรวรรณ ไปใช้ชีวิตและศึกษาที่ต่างประเทศกระทั่งได้ทำงานที่สถานีวิทยุวอยซ์ออฟอเมริกา และพระองค์เจ้าวิมลฉัตรก็ไปอ่านข่าวภาคภาษาอังกฤษในสำนักข่าวบีบีซี

ทางด้านการศึกษานั้น เจ้านายสตรีสมัยก่อนจะถูกจำกัดให้เรียนศาสตร์ทางด้านงานบ้านงานเรือน ไม่ใช่ศาสตร์ที่จะเรียนไปเพื่อประกอบอาชีพ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงไปของยุคสมัย เจ้านายสตรีก็ได้ไปศึกษาเล่าเรียนในต่างประเทศทางด้านพยาบาล และครู ในยุคต่อ ๆ มาเจ้านายสตรีหลายพระองค์ก็ศึกษาศาสตร์หลายแขนง ๆ ที่ไม่ใช่ศาสตร์เฉพาะทางเพื่อประกอบอาชีพหนึ่ง ๆ เช่น หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่ทรงศึกษาทางด้านศิลปะโดยเฉพาะ

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทุรัตนา ได้ลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อแต่งงานกับสามัญชน ปัจจุบัน (2562) ยังทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ (ภาพจาก wikipedia)

ส่วนความรักของเจ้านายสตรีนั้น อ.วีระยุทธ ได้อธิบายว่า การแต่งงานของเจ้านายสตรีในสมัยจารีตนั้นเป็นเรื่องยากมาก เพราะมีธรรมเนียมว่าจะต้องแต่งงานกับชายที่มีพระยศสูงกว่าหรือในระดับเท่ากัน ในรัชกาลที่ 6 ทรงตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ พ.ศ. 2461 ซึ่งเจ้านายสตรีจะแต่งงานได้จะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตก่อน ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้มีการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลนี้ โดยระบุว่า

มาตรา 3 พระราชวงศ์ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป ถ้าจะทำการสมรสกับผู้ใด ท่านว่าต้องนำความกราบบังคมทูลของพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสียก่อน

มาตรา 4 เจ้าหญิงองค์ใด ถ้าจะทำการสมรสกับผู้อื่น ซึ่งมิใช่เจ้าในพระราชวงศ์ อันเป็นการไม่ต้องด้วยพระราชประเพณีนิยม ดังนั้นไซร้ ท่านว่าต้องกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์เสียก่อน

มาตรา 5 ถ้าพระราชวงศ์องค์ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 3 และมาตรา 4 ไซร้ ท่านว่าให้ถอดเสียจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์

โดยในยุคหลัง ๆ เจ้านายสตรีหลายพระองค์ได้ลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อแต่งงานกับสามัญชน บางพระองค์มิได้ลาออกก็ถูกถอดพระยศไปตามกฎ เจ้านายสตรีที่ลาออกส่วนใหญ่เป็นชั้นหม่อมเจ้า มีเพียง พระองค์เจ้าอินทุรัตนา พระองค์เดียวเท่านั้นที่เป็นเจ้านายสตรีชั้นพระองค์เจ้าที่ลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อแต่งงานกับสามัญชน

กล่าวโดยสรุปแล้ว เจ้านายสตรีเป็นกลุ่มคนหนึ่งในสังคมที่ได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปตามโลกสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อโลกทัศน์ถูกปรับ ค่านิยมเก่าถูกเปลี่ยน บรรดาสตรีในราชสำนักก็ได้ออกมาสู่สังคมภายนอก จากเดิมที่ต้องอยู่แค่ในรั้ววัง อยู่ในกรอบของขนบธรรมเนียมประเพณียุคจารีต แม้จะต้องเผชิญความยากลำบากในช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่เจ้านายสตรีก็สามารถปรับตัวได้ทุกยุคทุกสมัยอยู่เสมอ ๆ


ตอนที่ 1

ตอนที่ 2