เผยแพร่ |
---|
เดือนมีนาคม เมื่อ 30 ปีก่อน เป็นวันที่โครงร่างของนวัตกรรมที่เรียกว่า “เวิลด์ไวด์เว็บ” (World Wide Web) ก่อตัวขึ้น และเป็นรากฐานของการใช้งานสิ่งที่คนปัจจุบันเรียกกันว่า “เว็บ” ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์จากหน้ามือเป็นหลังมือในอีกหลายทศวรรษต่อมา แต่ก่อนหน้านี้ที่จะมีเว็บ มีหลายสิ่งที่มนุษย์ใช้เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกด้านต่างๆ และต้องถูกโละทิ้งบ้างหลังจากการกำเนิดของ “เวิลด์ไวด์เว็บ”
โครงร่างโปรเจ็กต์ที่ว่าเป็นฝีมือของเซอร์ ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาด้านซอฟต์แวร์ให้กับองค์กรวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป หรือที่รู้จักกันในนาม “เซิร์น” (CERN) แผนการของทิมว่าด้วยเรื่องเปิดเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ช่วยติดตามการวิจัยอนุภาคทางฟิสิกส์ในแล็บที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ชื่อของโครงร่างแผนของทิมถูกตั้งขึ้นด้วยชื่อที่แสนจะถ่อมตัวว่า “การบริหารจัดการข้อมูล : โครงร่าง” และถูกส่งไปเพื่อให้เซิร์นอนุมัติโครงการซึ่งจะกลายมาเป็นพื้นฐานของระบบ “เวิลด์ไวด์เว็บ” ในเวลาต่อมา โดยทิม ก็เป็นผู้ประดิษฐ์องค์ประกอบของเว็บอย่างอื่นด้วย อาทิ HTTP (hypertext transfer protocol) ซึ่งเห็นได้จากอักษรที่อยู่ด้านหน้า www เช่น http://www. เป็นองค์ประกอบให้ผู้ใช้คลิกไปที่ลิงก์ได้และนำไปสู่หน้าเว็บหรือเอกสารในระบบเครือข่าย, URIs (universal resource locators) หรือโค้ดที่แสดงที่อยู่เพื่อนำไปสู่เว็บหรือเอกสารในระบบเครือข่ายอย่าง https://www.silpa-mag.com/ และ ภาษา HTML (hypertext markup language) ที่ใช้เชื่อมต่อสื่อสารการสั่งงานจากคนกับระบบเว็บ
โครงการต้องใช้เวลาก่อร่างสร้างตัวไม่ต่ำกว่า 2 ปี และมีผู้ร่วมช่วยเหลือหลายท่าน กระทั่งในปี 1990 ทีมงานถึงเชื่อมต่อเครือข่ายระหว่าง “เว็บเบราเซอร์” (Web Browser) หรือซอฟต์แวร์ (โปรแกรมคอมพิวเตอร์) ที่ใช้สำหรับดูข้อมูลซึ่งเชื่อมต่อกับเครือข่ายข้อมูลต้นทางผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
ช่วงเวลาหลายปีหลังจากนั้น ลี ต้องทำงานพัฒนาอย่างหนักแถมยังต้องโน้มน้าวใจกลุ่มคนระดับศาสตราจารย์ หรือแม้แต่นักเรียน นักเขียนโปรแกรม และผู้ที่สนใจเรื่องระบบอินเทอร์เน็ตให้เขียน “เว็บเบราเซอร์” (Web Browser) และ “เซิร์ฟเวอร์” (Server) เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลให้มากขึ้น และภายหลังระบบเหล่านี้เองเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกไปอย่างสิ้นเชิงจนถึงวันนี้
สำหรับคนหนุ่มสาวที่เกิดมาและได้สัมผัสเทคโนโลยีการเข้าถึงข้อมูลที่สะดวกสบายแบบนี้ตั้งแต่วัยเยาว์คงไม่มีโอกาสรับรู้วิถีชีวิตของคนยุคก่อนหน้าเทคโนโลยี “เว็บ” จะถูกปรับปรุงให้ทันสมัยด้วยระบบเวิลด์ไวด์เว็บ กว่าจะหาอะไรกันที หรือจะเช็กผลฟุตบอลในยุคนั้นจะต้องทำอย่างไรบ้าง
Talking-Dict
ถ้านึกถึงการใช้งานระบบเว็บไซต์ ในยุคก่อนที่จะมีผู้ให้บริการแปลภาษาผ่านเว็บไซต์แบบอัตโนมัติอันเพียบพร้อมไปด้วยระบบอ่านออกเสียงและแปลภาษาได้อย่างหลากหลายนั้น เครื่องมือในการแปลภาษาสำหรับเมื่อ 4-5 ปีก่อนน่าจะยังคุ้นเคยกับเครื่องที่เรียกว่า Talking-Dict เครื่องแปลภาษาขนาดพกพาที่เป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือนอกจากสิ่งพิมพ์อย่างพจนานุกรมซึ่งใช้กันมาอย่างยาวนาน
Ceefax
การเกิดขึ้นของเวิลด์ไวด์เว็บยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั่วโลก ถ้าจะฉายให้เห็นภาพ ลองจินตนาการเรื่องการรับข้อมูลผลกีฬาซึ่งทุกวันนี้มีเว็บที่แสดงผลกีฬาแบบสด (Realtime) แต่ในยุคก่อนหน้าเวิลด์ไวด์เว็บ ในช่วง ค.ศ. 1989 ในยุโรปใช้ระบบที่เรียกว่า Ceefax และ Teletext ซึ่ง Ciaran Varley คอลัมนิสต์จากเว็บไซต์บีบีซี อธิบายว่า เป็นระบบแสดงผลข้อมูล ข่าวสาร และผลกีฬา ผ่านหน้าจออุปกรณ์โทรทัศน์ และแน่นอนว่าต้องรอจนกว่าระบบจะแสดงผลเรียงมาถึงทีมที่ต้องการ หากพลาดไปก็ต้องรอไปอีกไม่ต่ำกว่า 10 นาทีเพื่อให้หน้าจอแสดงข้อมูลขึ้นมาใหม่
วิทยุติดตามตัว/บริการทางโทรศัพท์
หรือที่เรียกกันว่าเพจเจอร์ ในยุคที่โทรศัพท์มือถือยังไม่มีระบบปฏิบัติการอันทันสมัยและการใช้งานที่หลากหลายในปัจจุบัน ในไทยยังนิยมการรับ(และส่ง)ข้อมูลจากบุคคลถึงบุคคล หรือกลุ่มคนถึงบุคคลด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างวิทยุติดตามตัวที่ช่วยให้สื่อสารกันได้
ระบบเพจเจอร์ถูกบันทึกว่าเริ่มต้นเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1949 ที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และแพร่หลายไปในเอเชียในช่วงยุค 80-90s
ข้อมูลจากคอลัมน์ “ไซเบอร์ทีน” ใน “มติชน” ระบุว่า เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ปี 2018 “บริษัทโตเกียวเทเลเมสเสจ” บริษัทที่ให้บริการเพจเจอร์รายสุดท้ายประกาศปิดบริการไปเรียบร้อยแล้ว โดยจะยุติให้บริการในเดือนกันยายน 2019 นี้เอง
ขณะที่การตรวจสอบผลกีฬาหรือข้อมูลต่างๆ ในสมัย 90s ยังมีบริการขอข้อมูลทางโทรศัพท์คิดค่าบริการเป็นรายนาทีกันอยู่ ซึ่งสามารถตรวจสอบข้อมูลที่อยู่สถานที่ต่างๆ ตรวจสอบผลกีฬา ดวงชะตา หรือรับฟังเรื่องเล่าต่าง ๆ จากระบบอัตโนมัติได้ด้วย
วิทยุ
สำหรับเกมในสนามที่แฟนบอลต้องเช็กผลการแข่งขันของคู่อื่นเพื่อดูอันดับในตาราง หรือคู่แข่งในรอบต่อไปนั้น ยุคนี้ใช้เพียงแค่สมาร์ทโฟนเท่านั้น แต่ในปลายยุค 80s แฟนบอลยังต้องใช้วิทยุขนาดพกพาติดตัวไปเพื่อรับฟังผลการแข่งขันในสนามอื่น และบุคคลที่มีวิทยุจะกลายเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญในชุมชนไปโดยทันที
ไปรษณีย์
ส่วนยุคนี้ที่แฟนบอลยังมีส่วนร่วมกับการแข่งขันได้ผ่านเกมที่เรียกว่า Fantasy League ซึ่งให้แฟนบอลจัดทีมผู้เล่นที่อยู่ในลีกนั้นตามจินตนาการของตัวเอง (ผสมผู้เล่นจากทีมไหนมาอยู่ในทีมตัวเองก็ได้) ระบบจะคำนวนคะแนนฟอร์มการเล่นของผู้เล่นในแต่ละสัปดาห์ออกมา คะแนนของผู้เล่นแต่ละรายในลีกซึ่งถูกจัดอยู่ในทีมตามจินตนาการของแฟนบอลแล้วจะถูกนำมาบวกรวมกันเป็น “คะแนนรวมของทีม” ที่แฟนบอลรายนั้นจัดขึ้น จากนั้นจะนำคะแนนมาจัดอันดับกันในระบบออนไลน์แข่งกับผู้เล่นเกมคนอื่น เรียกได้ว่าเป็นเกมที่คอบอลนิยมอย่างมาก
ยุคนี้การจัดตัว สลับผู้เล่นในระบบแฟนตาซีเป็นไปอย่างง่ายดายผ่านโปรแกรมหรือแอปในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ในยุคก่อนอินเทอร์เน็ตเฟื่องฟู แฟนบอลต้องจัดทีมใส่ลงในกระดาษและส่งข้อมูลผ่านไปรษณีย์ และไม่สามารถรู้คะแนนรวมของทีมในจินตนาการของตัวเองได้จนกว่าจะถึงวันจันทร์เมื่อหนังสือพิมพ์วางแผงแล้ว แต่ในปัจจุบัน ผู้เล่นเกมนี้เปิดตรวจคะแนนของผู้เล่นแต่ละรายได้หลังแข่งจบ
เมื่อผ่านช่วงเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีครั้งสำคัญมาแล้ว ประเด็นในยุคนี้กลายเป็นเรื่องความสำคัญของการเก็บรักษาข้อมูล และบริหารจัดการข้อมูลอย่างถูกต้อง
ทิม เบอร์เนอร์ส ให้สัมภาษณ์พิเศษในวาระครบ 30 ปี เวิลด์ไวด์เว็บ เขาแสดงความคิดเห็นถึงการใช้งานระบบ “เว็บ” ในปัจจุบันโดยแสดงความเป็นห่วงเรื่องผู้ให้บริการระบบนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้งานโดยไม่ถูกต้อง การแฮ็กระบบ และเรื่องการจัดการข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงซึ่งแพร่กระจายไปอยู่ในระบบ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา
อ้างอิง:
พี่ศรีหนุ่ย. “ปิดบริการ ‘เพจเจอร์’ รายสุดท้ายที่เหลืออยู่”. มติชน. ออนไลน์. เผยแพร่ 10 ธันวาคม 2561. <https://www.matichon.co.th/lifestyle/news_1266121>
Greenemeier, Larry. “Remembering the Day the World Wide Web Was Born”. Scientific American. Online. 12 MARCH 2009. Access 13 March 2019. <https://www.scientificamerican.com/article/day-the-web-was-born/?fbclid=IwAR28eczItQidQ3g-7r0mLsuozH0U8PZEN1w_e6EkrJr9bvxNG7Hx5ShHmfk>
Varley, Ciaran. “How people had to ‘do’ football before the web”. BBC. Online. 13 March 2019. <https://www.bbc.co.uk/bbcthree/article/8520b9b3-5389-4f13-b947-96f805d2cfd3>