Green Book พระคัมภีร์ของนักเดินทางผิวดำ สะท้อนสภาพยุคแบ่งแยกสีผิวในสหรัฐฯ

ภาพโปรโมทภาพยนตร์ Green Book (2018) จาก www.universalpictures.com/movies/green-book

ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีประกาศรางวัล Oscars ในปี ค.ศ. 2019 คือภาพยนตร์เรื่อง Green Book ที่เข้าฉายในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 2018  เป็นภาพยนตร์แนวอัตชีวประวัติ (Biography) ตลก (Comedy) และนาฎกรรม (Drama) กำกับภาพยนตร์โดย Peter Farrelly

โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับ นักเลงผิวขาวชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาเลี่ยนชื่อว่า Tony Lip (รับบทโดย Viggo Mortensen) ต้องมาทำงานเป็นคนขับรถให้ Dr. Don Shirley นักเปียโนผิวดำเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน (รับบทโดย Mahershala Ali ซึ่งได้รับรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจากเวทีประกาศรางวัล Oscars ในปีนี้เช่นกัน) Dr. Don Shirley ต้องไปแสดงดนตรีในรัฐทางใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงยุคทศวรรษที่ 1960 ซึ่งยังเป็นช่วงเวลาที่สังคมอเมริกันยังแบ่งแยกและปิดกั้นเรื่องสีผิวอยู่ค่อนข้างมาก จึงต้องอาศัยสมุดปกเขียวเล่มนี้เป็นคู่มือในการเดินทาง และตลอดการเดินทางได้ก่อให้เกิดมิตรภาพระหว่างทั้งสองคน และต่างก็ช่วยทำลายกำแพงในจิตใจแล้วเปลี่ยนให้โลกทัศน์ของพวกเขาเปิดกว้างขึ้นอย่างมาก

Tony Lip (ซ้าย) และ Dr. Don Shirley (ขวา) ภาพในภาพยนตร์ฉากที่ Tony Lip เขียนจดหมายถึงภรรยาตามคำพูดของ Dr. Don Shirley ภาพจาก www.universalpictures.com/movies/green-book

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริง โดยมีประเด็นมาจากหนังสือคู่มือที่ชื่อว่า Green Book หรือสมุดปกเขียว เป็นที่รู้จักกันในชื่ออย่างเป็นทางการอีกหลายชื่อว่า The Negro Motorist Green Book, The Negro Travelers’ Green Book หรือ The Travelers’ Green Book เขียนโดย Victor Hugo Green ตีพิมพ์ในช่วงปี ค.ศ. 1936-1967 ในยุคของการแบ่งแยกสีผิวของสังคมอเมริกัน

หนังสือเล่มนี้เป็น “คู่มือการเดินทาง” สำหรับพวก “นิโกร” (เป็นศัพท์ที่สื่อสารเชิงเหยียด) หรือคนผิวดำสำหรับใช้เดินทางไปในแต่ละรัฐในสหรัฐอเมริกาให้เป็นไปอย่าง “รู้รอดปลอดภัย” จากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับพวกเขา ซึ่งในช่วงเวลานั้นการแบ่งแยกสีผิวในสังคมอเมริกันยังรุนแรงมาก Green Book ที่ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1936 ได้รับความสนใจอย่างสูง ทำให้ภายในระยะเวลาแค่ 1 ปี ก็ได้รับการตีพิมพ์เพิ่มและกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วทั้งประเทศ

กระทั่งปี ค.ศ. 1941 หนังสือพิมพ์ PM ในนครนิวยอร์ก เป็นหนังสือพิมพ์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งใน “great white newspaper” (ในกรณีนี้หมายว่าเป็นหนังสือพิมพ์ยอมเยี่ยมที่ขาวสะอาดปราศจากอคติไม่ใช่หนังสือพิมพ์สำหรับคนผิวขาวที่ต่อต้านคนผิวดำแต่ประการใด) ได้เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับ Green Book แล้วยกย่องหนังสือเล่มนี้ไว้อย่างสูง นั่นจึงทำให้ Green Book เป็นที่รู้จักมากขึ้น และได้รับการยอมรับโดยทั่วว่าเป็นหนังสือที่คนผิวดำควรพกไว้สำหรับการเดินทางหรือท่องเที่ยว

แล้วเหตุใดจึงต้องมีหนังสือคู่มือแนะนำการเดินทางหรือท่องเที่ยวสำหรับคนผิวดำ?

ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 การเติบโตทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีรถยนต์ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ชาวอเมริกันมีกำลังซื้อรถยนต์เป็นของตัวเอง เรียกได้ว่ารถยนต์นั้น “บูม” มากจนก่อให้เกิดวัฒนธรรมขับรถท่องเที่ยวไปทั่วทุกแห่งหนในประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่เฉพาะแต่ขับรถเที่ยวข้ามรัฐเท่านั้น แต่ยังขับรถข้ามประเทศจากตะวันออกไปตะวันตกก็มี นั่นจึงทำให้เศรษฐกิจเติบโตก่อให้เกิดธุรกิจตามมาจากวัฒนธรรมขับรถท่องเที่ยวนี้ เช่น สถานีบริการน้ำมัน ร้านอาหาร ที่พักจำพวก Motel หรือโรมแรมจิ้งหรีด ฯลฯ

ซึ่งวัฒนธรรมนี้ไม่ได้แบ่งแยกสีผิวว่าเป็นเฉพาะของผิวไหน คนผิวดำก็นิยมขับรถท่องเที่ยวเช่นกัน แต่คนผิวดำต้องเผชิญกับความยากลำบากกว่าเพราะบางรัฐมีกฎหมายที่จำกัดสิทธิและแบ่งแยกคนผิวขาวจากคนผิวดำ อีกทั้งการแบ่งแยกทางสีผิวไม่ได้เข้มข้นเฉพาะแค่รัฐทางใต้เท่านั้น แต่อคติเรื่องนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ในบางรัฐยังมีกฎหมายแบ่งแยกห้องน้ำสำหรับคนผิวดำ บางรัฐก็มีกฎหมายที่ระบุว่า เมื่อตะวันตกดิน คนผิวดำหรือนักท่องเที่ยวผิวดำจะถูกห้ามออกจากที่พัก ดังนั้น พวกเขาจึงมักต้องสำรองสิ่งของต่าง ๆ ไปตลอดการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันเชื้อเพลิง ผ้าเช็ดตัว อาหารจำนวนมาก หรือแม้แต่ส้วมขนาดพกพา

Paula Wynter ศิลปินหญิงคนหนึ่งที่เคยเผชิญเหตุการณ์อันน่ากลัวเกี่ยวกับเรื่อง “พระอาทิตย์ตกดิน” ในการเดินทางบนถนนในรัฐ North Carolina ช่วงทศวรรษที่ 1950 เล่าว่า ครอบครัวของเธอประกอบไปด้วย พ่อ แม่ และพี่สาวอีกคนต้องคอยหลบอยู่ในรถที่พ่อของเธอนำรถจอดหลบอยู่ใต้ต้นไม้ ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นขับรถไล่ล่า (คนผิวดำที่ออกจากที่พักในตอนกลางคืน) ไปมาตามท้องถนน พวกเขาต้องรอจนกว่าพระอาทิตย์จะขึ้น พี่สาวของเธอหวาดกลัวมากจนร้องไห้ ส่วนแม่ของเธอก็ถึงกับจิตตกเป็นโรค hysterical เลยทีเดียว

Victor Hugo Green วิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้ เขาได้แรงบันดาลใจจากการพบหนังสือคู่มือการท่องเที่ยวสำหรับชาวยิวในสหรัฐอเมริกาที่ตีพิมพ์ลงบนหนังสือพิมพ์ชาวยิว ดังนั้นในปี ค.ศ. 1936 Victor Hugo Green จึงพยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้ โดยเขียนหนังสือคู่มือขึ้นมาเล่มหนึ่ง ชื่อว่า “The Negro Motorist Green Book” สำหรับนักท่องเที่ยวผู้ขับขี่ชาวผิวดำ โดยระบุข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในนครนิวยอร์กที่ต้อนรับลูกค้าชาวแอฟริกัน-อเมริกัน โดยมีเพียง 15 หน้าเท่านั้น

Mahershala Ali รับรางวัล Oscars 2019 สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์ “Green Book” วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2019 (ตามเวลาท้องถิ่น) (Photo by FREDERIC J. BROWN / AFP)

หลังการตีพิมพ์ครั้งแรกก็ได้รับความนิยมในสังคมนครนิวยอร์กอย่างรวดเร็ว Victor Hugo Green จึงเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ โดยเขาต้องการขยายข้อมูลไปในระดับประเทศ ไม่ใช่เฉพาะแค่ในนครนิวยอร์กอย่างเดียวเท่านั้น Victor Hugo Green จึงได้ขอความร่วมมือกับสมาคมผู้ให้บริการจดหมายแห่งชาติ (National Association of Letter Carriers) ในการรวบรวมข้อมูลจากนักไปรษณีย์ทั่วประเทศ

หนังสือ Green Book ให้คำแนะนำนอกจากสถานีบริการน้ำมัน ร้านอาหาร Motel ที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีธุรกิจอื่นอีก เช่น ไนท์คลับ ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย ร้านขายยา ร้านขายเหล้า ร้านขายเสื้อผ้า เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวบรวมบทความที่น่าสนใจที่เป็นประโยชน์สำหรับชาวผิวดำไม่เฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวอย่างเดียว เช่น สถานที่ที่น่าสนใจในชิคาโก วิธีปกป้องบ้านในช่วงลาพักฤดูร้อน สิ่งที่ควรสวมใส่ในเบอร์มิวด้า รวมไปถึงบทความรีวิวรถยนต์

ในปี ค.ศ. 1940 มีการตีพิมพ์หนังสือเรื่อยมาจนฉบับตีพิมพ์ล่าสุดในเวลานั้นมีความยาวมากกว่า 80 หน้า นอกจากนั้นข้อมูลก็ขยายขอบเขตครอบคลุมทั้ง 50 รัฐในสหรัฐอเมริกา แต่การตีพิมพ์หนังสือถูกระงับชั่วคราวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และกลับมาตีพิมพ์อีกครั้งในปี ค.ศ. 1947

Green Book ไม่ใช่สิ่งพิมพ์ชนิดเดียวที่เป็นคู่มือสำหรับคนผิวดำ ก่อนหน้านั้นก็มีหนังสือของนักเขียนอีกหลายคนแต่ไม่ได้รับความนิยม เช่น Hotel and Apartment Guide for Colored Travelers (1930–31), The Travel Guide (1947–63) และ Grayson’s Guide: The Go Guide to Pleasant Motoring (1953–59) ซึ่ง Green Book ได้รับขนานนามว่าเป็น “bible of black travel” หรือพระคัมภีร์ของนักเดินทางผิวดำ

หนังสือ Green Book ฉบับพิมพ์ ค.ศ. 1947 ภาพจาก
THE NEW YORK PUBLIC LIBRARY

หนังสือคู่มือระบุธุรกิจที่ต้อนรับคนผิวดำที่เจ้าของธุรกิจเป็นทั้งคนผิวขาวและผิวดำ ในบางกรณี เจ้าของธุรกิจที่เป็นคนผิวขาวต้องการใช้หนังสือเล่มนี้ประกาศตัวว่าตนต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวก็มี หรือบางธุรกิจเจ้าของก็เพียงแค่หวังกอบโกยผลประโยชน์จากเม็ดเงินการท่องเที่ยวแค่นั้นก็มี แต่สำหรับเจ้าของธุรกิจจำพวกบ้านพัก-เช่า การมีชื่อธุรกิจของพวกเขาบน Green Book ก็นับว่ามีเกียรติไม่น้อย เพราะหนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมไปทั่วประเทศ ถึงแม้จะเป็นแค่ข้อความระบุสั้น ๆ และเรียบง่ายก็ตาม เช่น “ANDALUSIA (Alabama) TOURIST HOMES: Mrs. Ed. Andrews, 69 N. Cotton Street.” (คลิกอ่านต้นฉบับหนังสือ Green Book ที่นี่!)

Victor Hugo Green เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1960 เพียงแค่ 4 ปีก่อนที่รัฐสภาสหรัฐอเมริกาจะผ่านพระราชบัญญัติสิทธิพลเมือง ค.ศ. 1964 (Civil Rights Act of 1964) ที่ได้สร้างความเท่าเทียมให้คนในสังคม ลดอคติ และการแบ่งแยกทางเชื้อชาติและสีผิวลงไปได้มาก จนกระทั่งความต้องการหนังสือเริ่มลดน้อยลง ในที่สุดจึงยุติการตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1967 ซึ่งเป็นฉบับที่มีจำนวน 99 หน้า

Green Book นอกจากจะเป็นหนังสือคู่มือแนะนำการท่องเที่ยวสำหรับคนผิวดำให้ “รู้รอดปลอดภัย” และเที่ยวอย่างสนุกภายใต้กรอบของสังคมในสมัยนั้นแล้ว หนังสือเล่มนี้คือหลักฐานชิ้นหนึ่งที่สะท้อนสังคมอเมริกันได้ดีว่า การแบ่งแยกเชื้อชาติกับสีผิวนั้นเป็นสิ่งที่น่าละอายใจ และถือเป็นเรื่อง “ตลกร้าย” อย่างหนึ่งด้วยว่า คนผิวดำถูกกดขี่ทางสังคมมาเนิ่นนานแต่พวกเขากลับเลือกที่จะมองอีกมุมหนึ่งว่า ในเมื่อต้องใช้ชีวิตในสังคมแบบที่แม้จะมีอิสระแต่ไร้ความเท่าเทียม ก็จะขอใช้ชีวิตให้สนุกในแบบของตนที่ทำได้และปลอดภัยต่อชีวิต

 


อ้างอิง:

THE NEW YORK PUBLIC LIBRARY.  (2019).  The Green Book, from digitalcollections.nypl.org/collections/the-green-book#/?tab=about

Jeff Wallenfeldt.  (2019).  The Green Book TRAVEL GUIDE, from www.britannica.com/topic/The-Green-Book-travel-guide

Jacinda Townsend.  (2016).  How the Green Book Helped African-American Tourists Navigate a Segregated Nation, from www.smithsonianmag.com/smithsonian-institution/history-green-book-african-american-travelers-180958506/

Universal Pictures.  (2019).  Green Book, from www.universalpictures.com/movies/green-book


เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2562