นักโบราณคดีอ้างหลักฐานเครื่องปั้นดินเผา บ่งชี้ความบรรลัยจาก “โรคห่า” ในยุคกลาง

ภาพเขียน "The Plague at Ashdod" (โรคระบาดในเมืองแอชดอด) โดย Nicolas Poussin โยงโรคระบาดในพระคัมภีร์เก่า ให้สัมพันธ์กับ กาฬโรค มีหนูตัวเล็กๆ บนฐานเทวสถาน

เมื่อปี 2016 นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยลินคอล์นในอังกฤษหยิบยกหลักฐานว่าด้วยลักษณะการแพร่กระจายของเครื่องปั้นดินเผาขึ้นมาสนับสนุนความถูกต้องของบันทึกประวัติศาสตร์ในยุคกลางที่ระบุว่า กาฬโรคซึ่งระบาดในช่วง ค.ศ. 1346-1351 (พ.ศ. 1889-1894) ส่งผลให้ประชากรในหลายพื้นที่ของยุโรปหายไปเกือบครึ่งหนึ่ง

ศาสตราจารย์คาเรนซา ลูอิส (Carenza Lewis) ตั้งทฤษฎีว่า จำนวนของเศษเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้ในชีวิตประจำวันเป็นเครื่องบ่งชี้จำนวนประชากรที่ดีประการหนึ่ง การขุดค้นพื้นที่ตัวอย่างและเปรียบเทียบเศษเครื่องปั้นดินเผาด้วยจำนวนและน้ำหนักที่ได้จากชั้นอายุที่ต่างกันจะสามารถคาดเดาจำนวนประชากรที่อาศัยในพื้นที่นั้นๆ ในยุคที่ต่างกันได้

ลูอิส อธิบายว่า ผลจากการวิเคราะห์เศษเครื่องปั้นดินเผานับหมื่นชิ้นที่สามารถวัดอายุได้จากแหล่งขุดค้นราว 2,000 แห่งในภาคตะวันออกของอังกฤษ แสดงให้เห็นว่า มีการลดลงของจำนวนประชากรเฉลี่ยราว 45 เปอร์เซ็นต์ และในบางพื้นที่อย่างบินแฮม (Binham) ในนอร์ฟอล์กเหนือ (North Norfolk) ซึ่งจำนวนเศษเครื่องปั้นดินเผาได้ลดลงกว่า 71 เปอร์เซ็นต์ ย่อมมีตัวเลขที่เลวร้ายกว่าค่าเฉลี่ยมาก

ก่อนหน้านี้นักประวัติศาสตร์ในยุคศตวรรษที่ 20 ได้ตั้งข้อสงสัยต่อบันทึกถึงความเลวร้ายของการแพร่ระบาดของกาฬโรคในยุคกลาง ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากมีการค้นพบสุสานของผู้เสียชีวิตจากการระบาดของโรคไม่มากเท่าไรนัก ทำให้นักประวัติศาสตร์บางส่วนเชื่อว่า ตัวเลขจากบันทึกในยุคกลางเป็นตัวเลขที่สูงเกินจริง

ขณะที่ลูอิสกล่าวว่า ความรุนแรงของกาฬโรคในครั้งนั้นมีตัวเลขเชิงสถิติที่น่าพรั่นพรึงจริงๆ ก่อนที่การฟื้นตัวของจำนวนประชากรในช่วงหลังยุคกลางจะช่วยปิดบังถึงความเสียหายในครั้งนั้น

ทั้งนี้ คำว่า “โรคห่า” สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายว่า เป็นคำที่หมายความถึงโรคระบาดที่ทำให้มีคนตายคราวละมากๆ ซึ่งอาจเกิดจากฝีดาษ อหิวาต์ หรือกาฬโรคก็ได้ และการระบาดของโรคห่าช่วงที่มีการสถาปนาอยุธยา (พ.ศ.1893) ซึ่งเคยบันทึกกันว่าเป็นโรคอหิวาต์ แท้จริงแล้วคือกาฬโรค ที่แพร่จากจีนไปจนถึงยุโรปซึ่งสอดคล้องกับบันทึกการระบาดของกาฬโรคในยุโรปสมัยยุคกลางพอดี

 


ข้อมูลจาก :

“‘Eye-watering’ scale of Black Death’s impact on England revealed”. The Guardian.
<https://www.theguardian.com/science/2016/may/23/eye-watering-scale-of-black-deaths-impact-on-england-revealed>

โรคห่า คือ กาฬโรค ยุคพระเจ้าอู่ทอง กรุงศรีอยุธยา. สุจิตต์ วงษ์เทศ
<http://www.sujitwongthes.com/2009/08/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%B2-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%AC%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84/>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อ 9 มิถุนายน 2559