เผยแพร่ |
---|
หนึ่งในการค้นพบที่น่าสนใจและเป็นที่ถกเถียงไม่น้อยในปีที่แล้วคือการค้นพบบางส่วนของคัมภีร์อัลกุรอานซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก และอาจมีอายุเก่าแก่ยิ่งเสียกว่าการก่อตั้งศาสนาอิสลามโดยศาสดามูฮัมหมัด
เอกสารจำนวน 2 ชิ้นดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมของอังกฤษโดยอยู่ปะปนกับเอกสารคัมภีร์อัลกุรอานอื่นๆที่มีลักษณะคล้ายๆกัน ซึ่งถูกเขียนขึ้นในยุคปลายศตวรรษที่เจ็ด
แต่จำเพาะชิ้นส่วนสองชิ้นนี้เมื่อตรวจสอบอายุด้วยคาร์บอนกัมมันตรังสีโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดพบว่าเอกสารส่วนนี้มีอายุระหว่างปีค.ศ. 568 และ 645 โดยความแม่นยำของการตรวจสอบอยู่ที่ราว 95 เปอร์เซนต์ ขณะที่ศาสดามูฮัมหมัดน่าจะมีชีวิตอยู่ในช่วงค.ศ.570-632 (จากรายงานของอัลจาซีรา)
ทั้งนี้ ชาวมุสลิมเชื่อว่า ศาสดามูฮัมหมัดได้รับสาสน์จากเทวทูตอันเป็นที่มาของคัมภีร์อัลกุรอานหลังจากปีค.ศ.610 เป็นต้นไปจนกระทั่งศาสดาเสียชีวิต แต่การรวบรวมบันทึกคัมภีร์เป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกมีขึ้นราวปีค.ศ. 650 โดยก่อนหน้านั้นการถ่ายทอดคัมภีร์ต้องอาศัยการบอกเล่า และการบันทึกบนหนังสัตว์หรือกระดูกสัตว์เป็นเพียงบางส่วน
ดร.คีธ สมอลล์ (Keith Small) ผู้เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์อัลกุรอานของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกล่าวกับ The Times ว่า “หลักฐานนี้ช่วยเสริมความน่าเชื่อถือให้กับมุมมองนอกกระแสที่ว่าถึงต้นกำเนิดของคัมภีร์อัลกุรอาน เช่นความคิดที่ว่า ศาสดามูฮัมหมัดและสาวกยุคแรกของท่านได้ใช้ตำราซึ่งมีอยู่ก่อนแล้วมาปรับใช้ให้เข้ากับเป้าประสงค์ทางการเมืองและเทววิทยาของตน มากกว่าที่จะได้รับสาส์นจากสวรรค์”
อย่างไรก็ดี ดร.มุสตาฟา ชาห์ อาจารย์ด้านอิสลามศึกษาประจำสถาบันการศึกษาด้านตะวันออกและแอฟริกากล่าวกับ The Independent ว่า “เมื่อคุณลองดูให้ดีจะเห็นได้ชัดว่ามัน (ภาษาที่ใช้ในคัมภีร์ดังกล่าว) สอดคล้องกับรูปลักษณ์ของภาษาอาหรับซึ่งใช้ในช่วงปลายศตวรรษที่ 7”
นักวิจัยอีกบางส่วนก็โต้แย้งว่า การตรวจสอบด้วยคาร์บอนดังกล่าวโดย ออกซ์ฟอร์ด เป็นการตรวจสอบตัวหนังสัตว์ที่ถูกใช้เขียนบันทึก มิใช่การตรวจอายุจาก “หมึก” ที่ถูกนำมาใช้ และเนื่องจากหนังสัตว์ที่ใช้เขียนบันทึกในยุคนั้นมีราคาแพง การลบหมึกบนเอกสารเก่าที่มองว่าไม่จำเป็นเพื่อเขียนบันทึกใหม่จึงเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นแม้ตัวหนังจะเก่าแต่ตัวหนังสืออาจจะใหม่ก็เป็นได้