ภาชนะดินเผาเขาศรีวิชัย ลาย “ดอกไม้ ๘ กลีบ” แม้จะแตกหักแต่คุณค่ามหาศาล นำเข้ามาจากต่างแดน?

เทคนิคกดประทับในช่องสี่เหลี่ยมรูปดอกไม้ ๘ กลีบ

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา เพจ: โบราณคดีเขาศรีวิชัย – สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช ได้เผยแพร่ภาพเศษภาชนะดินเผาที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีเขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเศษภาชนะดินเผาชิ้นนี้จัดเป็นชิ้นพิเศษ ตกแต่งลวดลายงดงามประณีต ด้วยเทคนิคกดประทับในช่องสี่เหลี่ยมรูปดอกไม้ ๘ กลีบ และลายเครือเถาว์ ในสภาพที่สมบูรณ์น่าจะเป็นคนโทหรือหม้อน้ำ ที่ใช้ในพิธีกรรมหรือโอกาสพิเศษของนักบวชหรือบุคคลสำคัญในอดีต

เนื่องจากเป็นลวดลายที่มิใช่จะพบได้ทั่วไป จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัตถุที่นำเข้ามาจากต่างแดน (มิใช่สิ่งที่จะผลิตขึ้นใช้ได้อย่างแพร่หลายในท้องที่) อนึ่งลวดลายแบบเดียวกันนี้ ยังเคยขุดพบที่โบราณสถานเขาคา จ.นครศรีธรรมราช และโบราณสถานยะรัง จ.ปัตตานี ซึ่งก็พบเพียงไม่กี่ชิ้นเช่นเดียวกัน อันแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงเกี่ยวพันระหว่างเมืองโบราณดังกล่าวซึ่งมีอายุร่วมสมัยกัน

กำหนดอายุเบื้องต้น ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ (๑,๒๐๐ – ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว) แม้จะเป็นเศษดินเผาที่แตกหัก แต่คุณค่าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีนั้นมหาศาล

ลายเครือเถาว์
ประคับประคองประกอบคืนสภาพ ในสภาพที่สมบูรณ์น่าจะเป็นคนโทหรือหม้อน้ำ

ทีมงานเขาศรีวิชัยทุกคน ร่วมกันขุดค้นด้วยความระมัดระวัง ทำความสะอาดขัดล้างอย่างทนุถนอม และประคับประคองประกอบคืนสภาพ เพื่อศึกษาสืบค้นเรื่องราว ประวัติความเป็นมา และรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติสืบไป

[ขอบคุณข้อมูลและภาพจากเพจ: โบราณคดีเขาศรีวิชัย – สำนักศิลปากรที่12นครศรีธรรมราช]