“สัจจะ เดชา พญามาร” โขนกลางแปลงจากศิลปินกว่า 160 ชีวิต ที่ สิงห์ปาร์ค เชียงราย

สัจจะ เดชา พญามาร

ยิ่งใหญ่ ตระการตา “สัจจะ เดชา พญามาร” โขนกลางแปลงจากศิลปินกว่า 160 ชีวิต ที่ สิงห์ปาร์ค เชียงราย

เริ่มแล้วกับงาน Singha Park Chiangrai International Balloon Fiesta 2025 ณ สิงห์ปาร์ค เชียงราย ปีนี้จัดเต็มไม่แพ้ปีที่ผ่านมา โดยหนึ่งในไฮไลต์เด็ด คือ การแสดงโขนกลางแปลง จากกลุ่ม “ศิลปินวังหน้า” กว่า 160 ชีวิต ที่แสดงขึ้นที่นี่เพียงปีละครั้งเท่านั้น!

เจาะลึกที่มาการแสดงโขนสุดพิเศษ “สัจจะ เดชา พญามาร” จากปากผู้กำกับและประพันธ์

ก่อนจะได้ชมการแสดงโขนกลางแปลงในยามเย็น จากกลุ่ม “ศิลปินวังหน้า” ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มศิลปินที่เป็นผู้ศึกษาโขน ละคร ดุริยางค์ และคีตศิลป์ไทย จากวิทยาลัยนาฏศิลป์ ที่เคยเป็นที่ตั้งของวังหน้ามาก่อน “ศิลปวัฒนธรรม” ได้โอกาสดี สัมภาษณ์ “อาจารย์ สุรเชษฐ์ เฟื่องฟู” อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านโขนละคร กรมศิลปากร และผู้ประพันธ์-กำกับการแสดงโขนในครั้งนี้ ก่อนเริ่มการแสดง

อ. สุรเชษฐ์ เล่าว่า ความพิเศษของการแสดงโขนในครั้งนี้ หากพูดถึงชื่อตอนการแสดงก็ไม่เหมือนใครแล้ว นั่นคือ “สัจจะ เดชา พญามาร” หากไปค้นในวรรณกรรมรามเกียรติ์จะไม่ปรากฏชื่อนี้ โดย อ. สุรเชษฐ์ ให้เหตุผลว่า ท่านเป็นคนตีความขึ้นมาใหม่ และเชื่อมโยงกับตอนหนึ่งในรามเกียรติ์ที่ทุกคนรู้จักอย่างดี นั่นคือ “ศึกกุมภกรรณ”

การแสดงที่หยิบยกเรื่องราวในศึกกุมภกรรณนี้ จะเกี่ยวข้องกับชื่อเรื่อง “สัจจะ เดชา พญามาร” อย่างแท้จริง เพราะจะเชื่อมโยงกับตัวละครอย่าง “กุมภกรรณ” น้องชายของ “ทศกัณฐ์” พญายักษ์ผู้ครองธรรม รักษาไว้ซึ่งสัจจะ และความสุจริตยุติธรรม ซึ่งตัวละครนี้จะพาทุกคนไปสัมผัสกับความเข้มข้นของเนื้อเรื่องตามชื่อที่ประพันธ์ไว้ ซึ่งจะสะท้อนแนวคิดการใช้ชีวิต ทั้งในเรื่องของ “สัจจะ” และ “ความกตัญญู”

นอกจากนี้ การแสดงโขนกลางแปลงยังมีไฮไลต์สำคัญ! อ. สุรเชษฐ์ บอกว่า ครั้งนี้ได้นำเทคโนโลยีมาประยุกต์เข้ากับการแสดงโขนกลางแปลง จะมีฉากหนึ่งที่ “หนุมาน” จะโหนซิปไลน์ เสมือนเหาะมาจากฟากฟ้า เรียกว่าถ้าใครที่ได้เห็นต้องร้องว้าวกันเลยทีเดียว

ก่อนจะจบบทสัมภาษณ์ อ. สุรเชษฐ์ ได้กล่าวอีกว่า การแสดงครั้งนี้มีขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติ “พญามังราย” ผู้สถาปนาอาณาจักรล้านนา ซึ่งเชื่อมโยงกับสถานที่จัดงานสุดพิเศษในปีนี้ นั่นคือ สิงห์ปาร์ค เชียงราย

เต็มอิ่มการแสดงโขนผ่านเรื่อง “สัจจะ เดชา พญามาร” ตั้งแต่เย็นยันค่ำ

เมื่อเข้าสู่ช่วงเย็น อาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า การแสดงโขนกลางแปลงก็เริ่มต้น เปิดฉากท้องพระโรงแห่งกรุงลงกา กุมภกรรณผู้ไม่เห็นชอบกับการทำศึกสงครามครั้งนี้ บอกแก่พี่ชายของตนว่า ขอให้ส่งตัว “นางสีดา” คืนแก่ “พระราม” ไปเสีย สงครามระหว่างยักษ์และลิงก็จะไม่บังเกิด แล้วทั้งสองฝ่ายจะเป็นมิตรไมตรีต่อกัน

ทศกัณฐ์ได้ยินเช่นนั้นก็พิโรธ โกรธน้องชายของตนจนไม่อาจอดทนได้ จึงก่นด่ากุมภกรรณว่าเป็นพวกทรยศต่อวงศา หรือจะเรียกว่า “อกตัญญู” ต่อทศกัณฐ์ก็ว่าได้

แต่ด้วยสำนึกในพระคุณของพี่ชายที่เลี้ยงดูอุ้มชูจนตั้งให้เป็นใหญ่ถึง “อุปราช” แห่งกรุงลงกา กุมภกรรณจึงไม่อาจทัดทานทศกัณฐ์ จำต้องยอมออกไปทำสงครามกับฝ่ายพระราม

กุมภกรรณยักษ์ผู้มีพละกำลังมหาศาล “เดชา” ก็ทรงพลังไม่แพ้ “พญามาร” ตนใด จึงต้องรักษา “สัจจะ” ไปรบแม้ตัวต้องตายก็ยินยอม

ฉากท้องพระโรงนี้จึงแสดงออกมาให้ผู้ชมได้รู้จักตัวตนของกุมภกรรณ ตัวละครฝ่ายชั่วร้าย แต่ก็ทรงคุณธรรมไม่แพ้ใคร เชื่อมโยงกับชื่อเรื่อง “สัจจะ เดชา พญามาร” และยังเผยให้เห็นฉากการปะทะกันระหว่างพี่น้อง ผ่านบทกลอนอันเฉียบคม ผสานการแสดงโขนจากนักแสดงมืออาชีพ นับว่าเป็นฉากที่เร้าอารมณ์ไม่น้อย

จากนั้นจึงเป็นการเล่าเรื่องของกุมภกรรณในการทำศึกสงครามกับฝ่ายพระราม เช่น เมื่อกุมภกรรณจะรบกับสุครีพ พญาวานรผู้มีฤทธิ์เดช และพละกำลังมหาศาล กุมภกรรณก็ออกอุบายให้สุครีพไปถอนต้นรังที่เขากาลจันทร์ในอุดรทวีป เพื่อต้องการตัดกำลังของสุครีพ

ในฉากนี้ได้เพิ่มสีสันด้วยการใส่ตัวละครรุกขเทวดาแห่งสิงห์ปาร์ค เชียงราย เข้าไปอีกด้วย สุครีพที่พยายามถอนต้นรังเท่าใดก็ไม่สำเร็จ แต่ด้วยความช่วยเหลือของเทวดาจึงสำเร็จมาได้ ฉากนี้เรียกเสียงฮือฮาสนุกสนานให้กับผู้ชมได้ทั้งลานแสดงเลยทีเดียว

นอกจากเหตุการณ์ศึกสงครามระหว่างกุมภกรรณกับสุครีพแล้ว ไฮไลต์เด็ดของการแสดงในวันนี้ก็คือ ฉากสงครามระหว่าง “พระลักษมณ์” น้องชายของพระราม กับกุมภกรรณ ซึ่งพญามารตนนี้ได้ซัด “หอกโมกขศักดิ์” ใส่พระลักษมณ์จนได้รับบาดเจ็บสาหัส มิหนำซ้ำหอกสุดอันตรายยังมีฤทธิ์ร้าย หากไม่แก้พิษก่อนพระอาทิตย์ขึ้นก็จะทำให้สิ้นชีพเลยทีเดียว

แต่ด้วยคำแนะนำของ “พิเภก” หนุมานจึงออกไปเสาะแสวงหายาถอนพิษมาได้ โดยขณะที่นำยากลับมานั้น หนุมานได้โหนซิปไลน์ลงมา ซึ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชมมากเลยทีเดียว

นี่เป็นแค่บรรยากาศส่วนหนึ่งในการแสดงโขนกลางแปลงเท่านั้น “สัจจะ เดชา พญามาร” ยังแสดงให้รับชมอีกครั้งในวันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 18.00 น. – 19.15 น. ณ สิงห์ปาร์ค เชียงราย

แต่สำหรับใครที่พลาดชมการแสดงโขนในปีนี้ ไม่ต้องเสียใจไป แม้ปีหน้าจะไม่ใช่เรื่องนี้ แต่การแสดงโขนในปีถัดไปยังมีอีกแน่นอน ส่วนจะเป็นเรื่องอะไรนั้นต้องรอติดตาม ในงาน Singha Park Chiangrai International Balloon Fiesta ครั้งหน้า!

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2568