“ภาพการสังคายนาพระไตรปิฏก ครั้งที่ ๘ ในล้านนา” จิตรกรรมฝาผนังในพระราชประสงค์รัชกาลที่ ๔

ภาพการสังคายนาพระไตรปิฏก ครั้งที่ ๘ ในล้านนา จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดมหาพฤฒาราม

ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดมหาพฤฒาราม ไม่ปรากฏภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติหรือชาดก ให้ความสำคัญเรื่องการสังคายนาพระไตรปิฎกทั้ง ๙ ครั้ง มีการแสดงภาพการสังคายนาพระไตรปิฎกผ่านภาพการชุมนุมสงฆ์ ซึ่งอาจหมายถึงการสังคายนาที่เกิดขึ้นในอินเดีย ลังกา พม่า ล้านนา และรัตนโกสินทร์ ตามลำดับ ภาพการสังคายนาในแต่ละครั้งอาจสังเกตได้จากสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้น เช่น การแต่งกายของผู้คนจะทำให้ทราบได้ชัดเจนขึ้นว่าเป็นการสังคายนาครั้งใด ตัวอย่างเช่น ภาพการสังคายนาครั้งที่ ๘ ที่เกิดขึ้นที่ล้านนา มีภาพชาวบ้านเป็นหญิงเกล้ามวยผมและแต่งกายด้วยผ้าห่ม และผ้าซิ่นยาวกรอมข้อเท้าแบบล้านนา

ลักษณะสำคัญประการหนึ่งของจิตกรรมฝาผนังในพระราชประสงค์รัชกาลที่ ๔ นั้น นอกจากจะมีความเปลี่ยนแปลงในด้านเนื้อหาและเทคนิคจิตรกรรมแล้ว ยังพบว่ามีความนิยมเขียนข้อความบรรยายเนื้อหาใต้ภาพ หรือมีแผ่นศิลาจารึกข้อความที่อธิบายเนื้อหาของภาพประกอบไว้ที่ด้านล่าง โดยพบทั้งในกลุ่มภาพจิตรกรรมที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาแนวใหม่ที่เน้นความเป็นเหตุเป็นผลและเรื่องในเชิงอุดมคติ รวมทั้งพบว่ามีความนิยมเขียนภาพจิตรกรรมประกอบโคลงสุภาษิตเพื่อเป็นคติสอนใจ

Advertisement

เชื่อว่าภาพที่มีจารึกประกอบเหล่านี้เป็นรูปแบบที่สืบเนื่องจากงานช่างในรัชกาลที่ ๓ โดยมีจุดประสงค์เพื่อถ่ายทอดเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนาให้ประชาชนผู้รู้หนังสือได้เข้าใจรายละเอียดได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และเนื่องจากในรัชสมัยนี้มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของงานจิตรกรรมที่แม้จะเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา แต่ก็แตกต่างไปจากเรื่องพุทธประวัติและชาดกที่ประชาชนทั่วไปคุ้นเคยในงานจิตรกรรมไทยประเพณี จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีความจำเป็นต้องจารึกคำอธิบายภาพเหล่านั้น เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเข้าใจเนื้อหาใหม่ได้ดีมากยิ่งขึ้

สามารถติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับวัดและวังในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ในหนังสือ วัด-วังในพระราชประสงค์พระจอมเกล้าฯ ผศ.ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์, ๔๑๖ หน้า, ๔๔๐ บาท/ สั่งซื้อออนไลน์ที่ http://www.matichonbook.com/index.php/matichonbook/newbooks/-3119.html