“ชีวิตนี้ชะตาลิขิต” กลั่นบทเรียนชีวิต 7 รอบนักษัตร “ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล”

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อปวงชนชาวไทยอย่างมิทรงเหน็ดเหนื่อย ซึ่ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา คือหนึ่งในบุคคลที่ถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิดเป็นระยะเวลาหลายทศวรรษ ด้วยประสบการณ์ต่าง ๆ ที่สั่งสมมาโดยตลอด จึงเกิดเป็นหนังสือ “ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” ขึ้น

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นายกกิตติมศักดิ์และประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ดร.สุเมธ จัดพิมพ์หนังสือ “ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” ซึ่ง ดร.สุเมธ ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตในการจัดพิมพ์ ด้วยมีเจตจำนงที่จะมอบให้เป็นลิขสิทธิ์ของมูลนิธิชัยพัฒนา และรายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายหนังสือมอบสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา

ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ดร.เสนาะ อูนากูล ฐาปน สิริวัฒนภักดี
ดร.เสนาะ อูนากูล (กลาง)

เปิดตัวผลงานทรงคุณค่าเล่มนี้ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 ที่มูลนิธิชัยพัฒนา บรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น มีผู้ที่ ดร.สุเมธ ให้ความเคารพนับถือและผูกพันมาร่วมแสดงความยินดีเป็นจำนวนมาก อาทิ ดร.เสนาะ อูนากูล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, คณะผู้บริหารมูลนิธิชัยพัฒนา, ฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

หนังสือเล่มดังกล่าว บอกเล่าเรื่องราวชีวิต ดร. สุเมธ ตั้งแต่วัยเยาว์ถึงปัจจุบัน ความพิเศษคือบันทึกช่วงชีวิตตลอด 7 รอบนักษัตร หรือ 84 ปี ตั้งแต่เกิด ได้รับการศึกษาหลายแห่ง-หลายประเทศ ออกเดินทางสู่โลกกว้าง และนำความรู้พร้อมประสบการณ์กลับมารับใช้แผ่นดินด้วยการพัฒนา

ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

“ผมไม่เคยคิดเลยว่าจะเขียนถึงตัวเอง ขี้เกียจถึงขั้นไม่เขียนไดอารีบันทึกชีวิตส่วนตัว เพราะเขียนถึงแต่งาน แต่ผู้ที่ทำให้เกิดหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาได้คือ คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานรุ่น ผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ นพย. ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดทำหลักสูตรการอบรมนี้ขึ้น เมื่อปี 2559 เพื่อสร้างผู้นำคลื่นลูกใหม่ที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ดร.สุเมธ กล่าวถึงจุดเริ่มต้น

จุดประสงค์ของหนังสือเล่มนี้ ดร.สุเมธ กล่าวว่า ไม่ใช่เพียงการบอกเล่าประสบการณ์หลากหลายในชีวิตทั้งด้านดีและไม่ดี แต่มีการถอดบทเรียนแต่ละช่วงเวลาว่าให้แง่คิดหรือสอนอะไรได้บ้าง บางเรื่องเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ก็เป็นบทเรียนให้กำลังใจ เพื่อให้ก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆ แต่ความที่ไม่ได้จดบันทึกอะไรเลย จึงต้องทบทวนความทรงจำพอสมควร เพราะหลายเรื่องก็ผ่านมาหลายสิบปีแล้ว

ส่วนที่มาของการตั้งชื่อหนังสือว่า “ชีวิตนี้ชะตาลิขิต” ดร.สุเมธ เล่าว่า…

“คิดกันอยู่นานว่าจะใช้ชื่ออะไรดี แต่เมื่อมาคิดแล้ว ชีวิตผมถูกกำหนดโดยฟ้าดินและคนอื่น ไม่ได้กำหนดเองเลย เช่นเกิดมาก็เป็นเด็กต่างจังหวัด ไปเมืองนอก เรียนมัธยมที่เวียดนาม 6 ปี แต่ไปจบที่ลาว แล้วไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส กลับมาตอนแรกคิดว่าจะเป็นนักการทูต แล้วฟ้าก็ลิขิตให้ไปอยู่สภาพัฒน์ และเดินตามทางที่ชะตากำหนดมาถึงทุกวันนี้”

ด้าน ฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานรุ่น ผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ นพย. กล่าวถึงความประทับใจที่มีต่อ ดร.สุเมธ ว่า เป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพ ปฏิบัติตนเรียบง่ายกับทุกคน และมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะทำงานซึ่งได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

“…เห็นท่านอาจารย์มีบุคลิกอารมณ์ดีเช่นนี้ ใครจะนึกฝันว่าท่านเคยเผชิญกับทางแยกและจุดหักเหของโชคชะตาชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่า มีประสบการณ์เฉียดตายนับไม่ถ้วน ด้วยความแข็งแกร่งเพียงพอและการตั้งสติที่ดีพอ จึงทำให้ท่านสามารถฝ่าฟันอุปสรรคได้ในสถานการณ์ที่มืดมนและชะตาแปรผันเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี”

ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
“ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล”

“ชีวิตนี้ชะตาลิขิต”

ผลงานเล่มนี้ มีเนื้อหา 7 บท ตาม 7 รอบนักษัตร คือ

รอบนักษัตรที่ 1 (พุทธศักราช 2482-2494) วัยเยาว์รสหวานปนขม : ช่วงชีวิตวัยเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงก่อนวัยเรียน ต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยด้วยร่างกายที่ไม่ค่อยจะแข็งแรงนักและครอบครัวแตกแยก

รอบนักษัตรที่ 2 (พุทธศักราช 2494-2506) เปิดประตููสู่โลกกว้าง : ช่วงชีวิตวัยเรียนที่ต้องเดินทางเพื่อศึกษาต่อในหลายประเทศเนื่องจากเกิดภัยสงคราม

รอบนักษัตรที่ 3 (พุทธศักราช 2506-2518) กลับสู่มาตุภูมิ : ช่วงชีวิตของการทำงานในประเทศไทย เริ่มรับราชการที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่กองทัพทั้ง 4 ภาค และจุดเริ่มต้นชีวิตกลางสนามรบ

รอบนักษัตรที่ 4 (พุทธศักราช 2518-2530) รอนแรมในสมรภูมิ : ดำรงตำแหน่งเลขานุการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงานเลขานุการ กปร.) และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองวางแผนเตรียมพร้อมด้านเศรษฐกิจในสภาพัฒน์ไปพร้อมกัน ชีวิตการทำงานที่ต้องวางแผนรับมือสงครามและปฏิบัติงานในสนามรบจริงถึง 11 ปี และเริ่มต้นการเป็นนักเรียนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ยาวนานถึง 35 ปี

รอบนักษัตรที่ 5 (พุทธศักราช 2530-2542) ถวายงานด้านการพัฒนา : พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา และโปรดเกล้าฯ ให้ ดร.สุเมธ เป็นเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งเป็นช่วงของการดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมกับเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ชีวิตการทำงานแบบซีี 22

รอบนักษัตรที่ 6 (พุทธศักราช 2542-2554) รางวัลแห่งชีวิต : ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษและทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และการทำงานอย่างไม่มีวันเกษียณ

รอบนักษัตรที่ 7 (พุทธศักราช 2554-2566) ฝากไว้ให้สานต่อ : ดร.สุเมธ เข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานสถานการณ์ต่างๆ แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ โรงพยาบาลศิริราชครั้งสุดท้ายและรับสั่งว่า “สุเมธ งานยังไม่เสร็จนะ”

การจัดทำหนังสือเล่มนี้ได้รับการสนับสนุนการจัดพิมพ์โดย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ มูลนิธิสิริวัฒนภักดี โดยมี บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบการจัดวางเนื้อหารวบรวมข้อมูลและวางรูปแบบหนังสือรวมทั้งจัดพิมพ์

ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

หนังสือจะเริ่มจำหน่ายอย่างเป็นทางการภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม ถึง 8 เมษายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

การนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานและทรงซื้อหนังสือ “ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” เล่มแรกที่วางจำหน่าย ในวันที่ 28 มีนาคม 2567 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อ ดร.สุเมธ อย่างหาที่สุดมิได้

ผู้สนใจสามารถซื้อหนังสือ “ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” ราคาเล่มละ 999 บาท ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ หรือที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ ได้แก่ ร้านนายอินทร์ ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซีเอ็ดบุ๊ค เซ็นเตอร์ (SE-ED Book Center) บีทูเอส (B2S) คิโนะคูนิยะ (Kinokuniya) และเอเซียบุ๊คส (Asia Books) รวมถึง ร้านภัทรพัฒน์ และร้านมูลนิธิชัยพัฒนา โดยรายได้จากการจำหน่ายหนังสือทั้งหมดสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มีนาคม 2567