ญี่ปุ่นแห่ “ลึงค์ยักษ์” ที่ใช้ปราบ “ปีศาจโยนี”

ขบวนแห่ลึงค์ เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้คนเข้าร่วมกว่า 2 หมื่นคน AFP / TORU YAMANAKA

ทุกๆฤดูใบไม้ผลิในญี่ปุ่น ผู้คนนับหมื่นจะออกมาฉลองเทศกาล “คานามาระ มัตซึริ” (Kanamara Matsuri) หรือ “เทศกาลแห่งลึงค์เหล็ก” ในเมืองคาวาซากิ (Kawasaki) ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (3 เมษายน) เพื่อสักการะลึงค์ศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นสัญญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์

ที่มาของเทศกาลนี้มีตำนานเล่าว่า ในสมัยเอโดะ (1603-1868) ปีศาจร้ายที่มีฟันแหลมคมได้เข้าสิงโยนีของสาวๆ ทำให้หนุ่มๆจำนวนมากต้องสูญเสียลึงค์ไปในค่ำคืนแรกของการเข้าห้องหอในวันแต่งงาน

สาวๆโพสท่าน่ารักๆกับอมยิ้มรูปลึงค์ AFP / TORU YAMANAKA
สาวๆโพสท่าน่ารักๆกับอมยิ้มรูปลึงค์ AFP / TORU YAMANAKA

ช่างตีเหล็กท้องถิ่นจึงอาสาปราบปีศาจโยนีด้วยการสร้างลึงค์เหล็กขึ้นมาทำลายฟันอันแหลมคมของปีศาจร้าย ซึ่งปัจจุบันลึงค์เหล็กขนาดหนึ่งเมตรได้ถูกนำไปประดิษฐานไว้ยังศาลเจ้าให้ผู้คนสักการะบูชาในด้านการเจริญพันธุ์ การคลอดบุตร รวมไปถึงการป้องกันการติดเชื้อด้วยเพศสัมพันธ์

สำหรับนักพรตชินโตท้องถิ่น ฮิโรยูกิ นากามูระ (Hiroyuki Nakamura) เทศกาลนี้ไม่ใช่แค่เรื่องน่าขัน เขากล่าวกับเอเอฟพีว่า “หากเด็กๆไม่คุ้นเคย (กับลึงค์ของผู้ชาย) พวกเขาอาจตื่นตระหนกเมื่อถึงเวลานั้นขึ้นมา”

“ผู้คนเดินทางมาที่นี่เพื่อขอพร ให้พระเจ้าช่วยปกป้องพวกเขา เทศกาลนี้หยั่งรากลึกมาตั้งแต่ในอดีต ซึ่งในทุกวันนี้ก็ยังมีคุณค่าในสังคมสมัยใหม่” นักพรตชินโตกล่าว

ในอดีตเป็นเวลานับร้อยปี ที่กลุ่มผู้ให้บริการทางเพศจะเดินทางมาแสวงบุญที่ศาลเจ้าคานายามะ (Kanayama) เพื่อขอพลังปกป้องจากเทพเจ้า ก่อนที่เทศกาลนี้จะกลายมาเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวในช่วงทศวรรษที่ 1970

“ฉันว่ามันเยี่ยมมากเลย” ซายูริ คุโบะ นักเรียนสาววัย 14 ปีกล่าว “ขบวนแห่ศาลเจ้ามันเจ๋งจริงๆ”

ขณะที่เจสัน แบรดลีย์ นักท่องเที่ยวอเมริกัน กล่าวกับผู้สื่อข่าวเอเอฟพีว่า “นี่มันบ้าชัดๆ…ผมเคยได้ยินที่เขาพูดๆกันว่า ‘คูลเจแปน’ ผมเดาว่าคงเป็นไอ้นี่ละมั้งที่ใครๆเขาพูดถึงกัน”