เสวนา ทุกคนร่วมสร้างความยั่งยืนได้ ด้วยทำหน้าที่ของตัวเอง

ผู้นำในสังคมทั่วโลกย้ำแนวทางการสร้างความยั่งยืนและแก้ปัญหาโลกร้อน ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่สำคัญคือ ทุกคนต้องร่วมกันลงมือทำจริงในสิ่งที่ตัวเองทำได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ เริ่มต้นจากเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน

กีต้า ซับระวาล ผู้แทนสหประชาชาติประจำประเทศไทย มัทไทอา คีปา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมชาวเมารี จากประเทศนิวซีแลนด์ และ นิกกี้ คลารา นักธุรกิจเพื่อสังคมสำหรับกลุ่มสตรีผู้มีความพิการ และผู้ก่อตั้งองค์กร Berdayabareng ที่ส่งเสริมความรู้และการจ้างงานผู้พิการจากอินโดนีเซีย ร่วมกันแชร์ประสบการณ์และมุมมองเกี่ยวกับการสร้างความยั่งยืนในคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม ผ่านสัมมนาในการเปิดงาน Sustainability Expo 2023 มหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 4 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อเร็วๆ นี้

มัทไทอา คีปา กล่าวถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและบทบาทของมนุษย์ในการธำรงไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ดีว่าชาวพื้นเมืองของนิวซีแลนด์มองว่าบทบาทของเราในการดูแลสิ่งแวดล้อมนั้น เราเป็นทั้งผู้พิทักษ์ ผู้ปกป้อง และผู้ดูแล สิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นมรดกที่เราได้รับสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และเรากำลังขอยืมทรัพยากรเหล่านี้มาจากลูกหลานของเรา

มนุษย์ควรต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่จาก Ego-system ที่มีมนุษย์เป็นผู้ควบคุม ผู้ใช้สิ่งแวดล้อมตามความต้องการของตัวเอง ซึ่งเปรียบเสมือนภาพสามเหลี่ยมที่มีมนุษย์อยู่บนยอดพิรามิดเหนือสิ่งมีชีวิตและสรรพสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ และเปลี่ยนเป็นหันมามองว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ หรือ Eco-system ซึ่งหมายความว่าเราไม่ได้มีอำนาจควบคุม แต่เราเป็นองค์ประกอบหนึ่งในสิ่งแวดล้อม ไม่ได้มีอำนาจหรือสิทธิมากไปกว่าใคร

เราต้องเข้าใจว่า ท้องฟ้า สายน้ำ ธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตต่างๆ อยู่ตรงนี้มาก่อนตึกระฟ้า อาคาร ถนนหนทาง ดังนั้น เราต้องช่วยให้คนที่อยู่กับธรรมชาติมีพลัง มีความสามารถที่จะดูแลสิ่งแวดล้อมและได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยผ่านระบบการศึกษาที่ดี ตามวัฒนธรรมของเรา เราเชื่อว่าแผ่นดินคือแม่ ท้องฟ้าคือพ่อ ดังนั้น หัวใจสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือการดูแลพ่อแม่ให้ดีมัทไทอา กล่าว

นิกกี้ คลารา จากอินโดนีเซีย ให้ความเห็นว่า เราพูดเรื่องการพัฒนามานานแล้ว โดยมักให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่แทบจะไม่ได้พูดถึงการพัฒนาอย่างครอบคลุมทุกกลุ่ม  อินโดนีเซียมีประชากรมากถึง 250 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้พิการ 8.7% ซึ่งไม่น้อยเลย

ประเด็นหลักที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องเริ่มต้นจากคน ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญที่เหมาะสม ต้องอาศัยความร่วมมือ ความเข้าใจจากคนทุกกลุ่ม จำเป็นที่ทุกคนจะต้องทราบหน้าที่และสิทธิของตัวเอง ทำความเข้าใจรากของตนเอง ชุมชน และโลก พร้อมทั้งดึงให้ทุกคนเข้ามาร่วมมือกันตามแนวคิด Penta Helix (ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน การศึกษา สังคม และธุรกิจเพื่อสังคม)

ภาครัฐมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือแก่ภาคเอกชนและสังคม แต่ปัญหาคือ สังคม ชุมชน และประชาชนเองยังไม่ทราบเลยว่าตัวเองต้องการอะไร และต้องทำอะไร ดังนั้น การจะสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง ทุกคนต้องมีเป้าหมายร่วมกัน ต้องรู้จักจัดลำดับความสำคัญ ต้องทำงานร่วมกัน และที่สำคัญคือ เราเองต้องรู้จักพอนิกกี้ คลารา กล่าว

สหประชาชาติในฐานะองค์กรระดับโลก มีบทบาทที่กว้างขวางในด้านการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน  โดย กีต้า ซับระวาล ผู้แทนสหประชาชาติประจำประเทศไทย ได้ให้ภาพกว้างว่า องค์การสหประชาชาติมีหน้าที่สำคัญคือเป็นตัวเชื่อมระหว่างรัฐและสังคมโดยรวม ในระดับโลกนั้น องค์การสหประชาชาติได้กำหนดนโยบายที่จะสนับสนุนการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน (Sustainability Development Goal -SDG) ทั้ง 17 ข้อ และองค์การสหประชาชาติ ยินดีที่ได้เห็นว่ารัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามที่นายกรัฐมนตรีได้แสดงปาฐกถาที่การประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยประเทศไทยจะเน้นใน 3 ข้อ คือการต่อสู้กับความยากจนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน และการร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

กีต้า ให้ความเห็นว่า ภาคเอกชนเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมในหลายด้าน เช่น เทคโนโลยี จึงมีบทบาทหลักในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ในปัจจุบัน เราได้เห็นว่าภาคเอกชนลงมือทำและมีการขยายผลในหลายด้าน เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านมาตรการต่าง ๆ และทำให้เห็นว่ามีความก้าวหน้าไปมาก

สำหรับภาคประชาชน ขอให้ทุกคนทำในสิ่งที่เราทำได้ พยายามนำหลักความยั่งยืนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน และลงมือทำตามความเข้าใจของคุณ ถ้าคุณมองว่าการแยกขยะช่วยได้ คุณก็ที่การเริ่มแยกขยะ  ถ้าคุณคิดว่าคุณลดการใช้ไฟฟ้าช่วยได้ คุณก็ต้องพยายามลดการใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน  ไม่มีอะไรเป็นสูตรสำเร็จตายตัวในการสร้างความยั่งยืน แค่ทำตามที่เราเข้าใจ แต่ต้องลงมือทำทันทีกีต้า กล่าว

มาร่วมเปลี่ยนโลก เพื่อสมดุลที่ดี เพื่อโลกที่ดีกว่า Good Balance, Better World ภายใต้มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน SUSTAINABILITY EXPO 2023 (SX2023) ตั้งแต่วันนี้ถึง 8 ตุลาคม  2566 เวลา 10.00 – 20.00 . ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น G และ LG งานนี้เข้าชมฟรี!