สตก.จ.เชียงราย – บมจ.ศรีตรังฯ ปลื้ม! ประเดิมจับคู่ค้ายางพาราครั้งแรก ผลตอบรับดี

สตก.จ.เชียงราย – บมจ.ศรีตรังฯ ปลื้ม! ประเดิมจับคู่ค้ายางพาราครั้งแรกภาคเหนือ ผลตอบรับดี ยกระดับคุณภาพ – ชาวสวนรายได้เพิ่ม

วันที่ 18 กรกฎาคม 2566 นายศุภชัย แข่งขัน ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงราย พร้อมนายพิเชษฐ์ ชัยเจริญ หัวหน้าแผนกบริการตลาดกลางยางพารา และนายดิษฐา เกตบูรณะ หัวหน้าแผนกปฏิบัติการ สาขาเมืองเชียงราย และ นายปลื้มจิตร ผู้จัดการโรงงานบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) สาขาเชียงราย พร้อมด้วย นายทศพร เคนมา ผู้จัดการเขต สรรหาวัตถุดิบและทีมงานเชียงราย ลงพื้นที่ติดตามการส่งมอบยางและตรวจสอบคุณภาพยาง พร้อมทั้งให้คำแนะนำเรื่องการควบคุมมาตรฐานคุณภาพยางก้อนถ้วยของกลุ่มสหกรณ์ยางพาราแม่ลาว-แม่กรณ์จำกัด ต.แม่กรณ์ อ.เมือง จ.เชียงราย โดยมีการส่งมอบยางพาราน้ำหนักรวมทั้งหมด 73,971.5 กิโลกรัม โดยบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ได้ซื้อขายตรงผ่านระบบประมูลของสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงรายเป็นครั้งแรกในพื้นที่เขตภาคเหนือ

นายศุภชัย กล่าวว่า สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงราย เป็นหน่วยงานกลางของการยางแห่งประเทศไทย(กยท.)ที่จะดำเนินการเรื่องของการซื้อขายยางพารา ซึ่งบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน)  เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในการส่งออกยางพาราระดับประเทศ ปกติการรับซื้อยางพาราจะรับซื้อผ่านพ่อค้าคนกลางเป็นส่วนใหญ่ แต่วันนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการซื้อขาย โดยความร่วมมือบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) กับสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงราย มาเป็นการซื้อขายกันโดยตรงระหว่างบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ซึ่งเป็นสมาชิกของตลาดเครือข่ายของสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงราย  15 จังหวัดของภาคเหนือ

สำหรับสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงราย  จะนำยางพาราทั้งหมดในตลาดเครือข่ายของแต่ละจังหวัดมาบริหารจัดการ โดยเปิดประมูลที่สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงราย ซึ่งมีผู้ขายขึ้นทะเบียนกว่า 250 กลุ่ม ส่วนผู้ซื้อต้องซื้อผ่านระบบของสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงราย ปัจจุบันมีผู้ซื้อลงทะเบียนกว่า 70 รายทั่วประเทศ  จากนั้นสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงรายจะรับน้ำยางพาราจากกลุ่มเกษตรกรมาเปิดประมูลผ่านระบบอิเลคทรอนิกส์ ขณะที่ผู้ซื้อสามารถเข้าไปประมูลผ่านระบบได้ โดยเปิดประมูลในเวลาประมาณ 11.00 – 12.00น. ทุกวัน หนึ่งในนั้น คือ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ที่ลงทะเบียนผู้ซื้อเรียบร้อยแล้ว

“การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการซื้อขายในวันนี้ คือ การประสานความร่วมมือกับ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ในการจัดทำระบบซื้อขายผ่านกลุ่มเกษตรกร และสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงราย ซึ่งวันนี้มีการตกลงซื้อขายกับกลุ่มสหกรณ์ยางพาราแม่ลาว-แม่กรณ์ จำกัด  ในราคารับซื้อกำหนดให้บริษัทซื้อในราคาสูงกว่าการประมูลที่กิโลกรัมละ 50 สตางค์ จากเดิมกิโลกรัมละ 24.75 บาท เพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 25.25 บาท เป็นราคาเบื้องต้น  มียางพาราที่ส่งมอบวันนี้รวม 73,971.5 กิโลกรัม มูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 1,867,780 บาท  ทั้งนี้ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) จะนำไปตรวจหาค่าเนื้อยางพาราว่ามีคุณภาพเหมาะสมกับราคารับซื้อมากน้อยเพียงใด หากคุณภาพดี ในการซื้อขายรอบหน้าอาจเพิ่มราคารับซื้อขึ้นอีก จาก 50 สตางค์ หรือ 0.50 บาท  เป็น 1 บาท วันนี้ถือเป็นการประเดิมการซื้อขายกันโดยตรงระหว่างบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) กับกลุ่มเกษตรกร ถือเป็นเรื่องใหม่ เนื่องจากการซื้อขายแบบเดิม ผู้รับซื้อจากกลุ่มเกษตรกรเป็นพ่อค้าคนกลาง ที่นำไปขายให้บริษัทอีกทอดหนึ่ง ทำให้เกิดการกดราคารับซื้อจากกลุ่มเกษตรกร แต่การซื้อขายรูปแบบนี้ จะทำให้บริษัทสามารถนำส่วนต่างที่จะให้พ่อค้าคนกลางมาบวกกับราคาซื้อขายกับกลุ่มเกษตรกรได้ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันสำนักงานตลาดกลางยางพาราฯ  จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ในขั้นแรกหากราคาซื้อขายเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ต่อไปสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงราย และ กยท.จะไปดูแลการส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรทำยางพารามีคุณภาพ จะส่งผลต่อการเพิ่มราคารับซื้อในอนาคต

การซื้อขายในรูปแบบนี้ จะส่งผลดีกับเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา เนื่องจากจำนวนยางพาราในพื้นที่ภาคเหนือ ผลิตได้กว่า 200,000 ตันต่อปี โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายมีพื้นที่ปลูกยางพาราอันดับหนึ่งของภาคเหนือ เนื้อที่กว่า 400,000 ไร่ จะทำให้มูลค่าการซื้อขายยางพาราเพิ่มมากขึ้น ส่วนต่างที่เคยตกเป็นของพ่อค้าคนกลางจะกลายมาเพิ่มมูลค่าให้กลุ่มเกษตรกร เป็นการยกระดับราคายางพาราด้วย ขณะเดียวกัน ส่งผลดีกับบริษัทที่รับซื้อยางพารา เพราะนโยบายการรับซื้อยางพาราของ EU (EUDR) จะมีการสืบหาแหล่งที่มาของยางพาราที่บริษัทส่งออกไปขายต่างประเทศ เป็นการตรวจสอบย้อนกลับ ทำให้บริษัทที่รับซื้อยางพาราต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อมีแหล่งยืนยันอ้างอิงที่มา พื้นที่ปลูก ว่าเป็นพื้นที่บุกรุกหรือไม่ พื้นที่มีเอกสารสิทธิ์หรือไม่ ทั้งหมดเป็นเรื่องของคุณภาพและความน่าเชื่อถือ ในอีก 10 เดือนข้างหน้า บริษัทยักษ์ใหญ่ที่รับซื้อยางพารา จะรับซื้อยางพาราที่รู้แหล่งที่มา หากบริษัทนำยางพาราที่ไม่ทราบแหล่งที่มาส่งไปขายต่างประเทศ จะถูกแบนโดย EU

การเปลี่ยนแปลงการซื้อขายที่เริ่มในวันนี้ ถือเป็นการยกระดับตลาดยางพาราให้สูงขึ้นอีกด้วย ในอนาคตจะขยายรูปแบบไปยังจังหวัดอื่นๆของภาคเหนือ ต้องขอบคุณบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ที่เป็นบริษัทแรกที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ สถานการณ์ตอนนี้ เริ่มมีบริษัทต่างๆ ให้ความสนใจจะเข้าสู่ระบบนี้มากขึ้น” นายศุภชัย กล่าวทิ้งท้าย