ถอดรหัส “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา” เหตุใดจึงเป็นบทร้อยกรองสำคัญของบ้านเมือง?

เวที คือเดือนดาวดินฟ้าจะอาเพศ บนเวที มีนักวิชาการ 3 คน
งานเสวนา “คือเดือนดาวดินฟ้าจะอาเพศ” เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2566 ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

ข่าวลือ การทำนายทายทัก ล้วนมีอยู่ในทุกยุคทุกสมัย เช่น กรุงศรีอยุธยา ที่มีการพยากรณ์เรื่องราวในอนาคตบ้านเมืองผ่าน “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา” ที่เราอาจพอผ่านตาหรือผ่านหูกันบ้าง คือ…

“คือเดือนดาวดินฟ้าจะอาเพศ      อุบัติเหตุเกิดทั่วทุกทิศาน 

      มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาฬ      เกิดนิมิตพิสดารทุกบ้านเมือง”

หรือท่อนที่เราอาจได้ยินกันบ่อย ๆ ก็เช่น

กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม

แม้จะผ่านมาหลายร้อยปี แต่เพลงยาวนี้ก็ยังคงได้รับการพูดถึงกระทั่งปัจจุบัน ไทยพีบีเอส (Thai PBS) จึงจัดงานเสวนา “คือเดือนดาวดินฟ้าจะอาเพศ” เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2566 ซึ่งตรงกับวันเสียกรุงครั้งที่ 2 ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เชิญ 3 นักวิชาการ ได้แก่ วรพล ไม้สน กรรมการมูลนิธิสมาโหรแห่งประเทศไทยในพระสังฆราชูปถัมภ์, รศ.ดร. ศานติ ภักดีคำ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน และ วัฒนะ บุญจับ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาวรรณกรรมและวัฒนธรรม มาช่วยถอดรหัสเพลงยาวพยากรณ์ฯ ให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น 

รศ.ดร. ศานติ ภักดีคำ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน เล่าว่า หากดูจากรูปคำประพันธ์ เนื้อหา และบริบทของสังคม อาจบอกได้ว่า วรรณกรรมเรื่องนี้แต่งขึ้นในช่วง 100 ปีสุดท้ายก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ช่วงนั้นกรุงศรีอยุธยาเจริญถึงขีดสุดในแง่เศรษฐกิจ ตรงกับช่วงสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง รวมถึงสมเด็จพระนารายณ์ 

“กรุงศรีอยุธยาสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วงใหญ่ ๆ ได้แก่ เริ่มสถาปนากรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 1893 จนถึง พ.ศ. 2112 หรือเสียกรุงครั้งที่ 1 ที่สูญเสียทรัพยากรต่าง ๆ ไปเยอะมาก เพราะมีการกวาดต้อนคนไปพม่าหรือพื้นที่ต่าง ๆ 

จนกระทั่งอยุธยากลับมาฟื้นตัวขึ้นใหม่ เริ่มจากสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช จนบ้านเมืองเข้มแข็งอย่างมากด้านการรบ อย่าง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จนสมเด็จพระเอกาทศรถ เข้ามาปกครองบ้านเมือง ประกอบกับต่างชาติเข้ามาค้าขาย กลายเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม 12 ภาษา ก็เปลี่ยนอยุธยาให้มีความเจริญรุ่งเรืองด้านเศรษฐกิจของภูมิภาค”

ขณะที่เศรษฐกิจของอยุธยากำลังทะยานถึงขีดสุด มีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ จนก่อให้เกิดการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งผสมผสานกับวัฒนธรรมต่างชาติ เช่น ตะวันตก เปอร์เซีย ที่เข้ามาในอยุธยา รวมถึงการขยายเมือง 

ทว่าการเมืองภายในของกรุงศรีอยุธยานั้นกลับผิดปกติ และเกิดการแย่งชิงอำนาจอยู่บ่อยครั้ง 

รศ.ดร. ศานติ เล่าต่อว่า ช่วงสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มาสมเด็จพระนารายณ์ ไม่ใช่การได้มาซึ่งอำนาจแบบปกติ เพราะเพียง 1 ปี ต้องผ่านสมเด็จเจ้าฟ้าไชย พระศรีสุธรรมราชา แล้วค่อยเป็นสมเด็จพระนารายณ์ ทั้งสมเด็จพระนารายณ์เองต้องล้างขุนนาง ซึ่งเป็นพรรคพวกเดิมของพระเจ้าปราสาททองที่เข้ากับเจ้าฟ้าไชยอีกด้วย ทำให้รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ล้วนเต็มไปด้วยขุนนางต่างชาติ ความขัดแย้งจึงรุนแรงขึ้นมาตั้งแต่ตอนนั้น เห็นได้จากกรณีของพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ทั้งยังมีปัญหาทางศาสนาที่ข้องเกี่ยวกับการเมืองอีกด้วย

เมื่อมีปัญหาการเมือง จึงมีการแต่งวรรณกรรมขึ้น หรือที่ รศ.ดร. ศานติ บอกว่าคือ “บัตรสนเท่ห์” ชนิดหนึ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีคนบางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับนโยบายการเมืองของสมเด็จพระนารายณ์ เช่น สมเด็จพระเพทราชา หรือพระเจ้าเสือ  

ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน เพิ่มเติมด้วยว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีความอนุรักษนิยม มีการสนับสนุนจากวงการศาสนา เนื่องจากไม่พอใจที่ฟอลคอนไปสึกพระ เพราะเดิมทีระบบมูลนายในสมัยอยุธยาต้องเกณฑ์คนให้เข้าไปทำงานเป็นไพร่ เช่น ทำถนน เพื่อรับการคุ้มครองจากเจ้านาย ขณะเดียวกันก็ยังมีคนจำนวนมากต้องการหลีกเลี่ยง จึงตัดสินใจบวชเป็นพระ 

เหตุการณ์ที่ฟอลคอนไปสั่งให้คนสึกพระเพื่อมาทำงานให้กับบ้านเมือง ทำให้คนในวงการพุทธศาสนาเริ่มไม่พอใจ จนเกิดเป็นเรื่องที่พูดคุยกันวันนี้คือ “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา”

“เพลงยาวพยากรณ์ฯ ในการรับรู้ของคนไทยหลังเสียกรุงศรีอยุธยา มีใครบ้าง ถ้าย้อนกลับมาดู คนไทยที่จดจำหรือรับรู้เพลงเหล่านี้จะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ คนไทยที่ถูกกวาดต้อนไปอยู่พม่า เพราะเรื่องนี้บันทึกอยู่ใน ‘โยเดียมหายานสุรินทร์’ หรือพงศาวดารอยุธยา ส่วนอีกกลุ่มคือ คนไทยที่อาศัยในไทย ซึ่งการรับรู้เกี่ยวกับคนแต่ง หรือพระราชนิพนธ์นั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง 

คนไทยในพม่า หรือโยเดีย จะคิดว่าคือสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี แต่คนไทยที่อาศัยในอยุธยาจะมีภาพจำว่าเป็น สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทำให้เป็นการยากที่จะบอกได้ว่าแท้จริงแล้วผู้ใดเป็นคนแต่ง 

อย่างไรก็ตาม “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา” ก็มีความสำคัญอย่างมาก เพราะสะท้อนให้เห็นถึงรอยร้าวของบ้านเมืองอยุธยา 100 ปีก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 

ก่อนจะต่อด้วย วัฒนะ บุญจับ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาวรรณกรรมและวัฒนธรรม ที่มาพร้อมประเด็นว่าเพราะเหตุใด เพลงยาวพยากรณ์ฯ ถึงเป็นที่น่าจดจำอย่างมากในยุคสมัยนั้น 

วัฒนะ เล่าว่า ที่เพลงยาวพยากรณ์ฯ น่าจดจำ ไม่ใช่เพราะวรรณกรรมเสียทีเดียว แต่เรื่องราวในนั้นเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้ว และยังเกิดขึ้นอีก เพราะก่อนหน้าเพลงยาวพยากรณ์ฯ ก็มีการสร้างวรรณกรรมหรือสร้างพิธีแบบนี้มาเช่นกัน อย่าง พระเจ้าปราสาททองที่มีการทำ “พิธีอินทราภิเษก” เพื่อสร้างความชอบธรรม หรือที่คล้ายคลึงกับเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ก็คือ “เพลงยาวพุทธพยากรณ์” ในสุบินชาดก ซึ่งบันทึก 16 ข้อที่จะทำให้เกิดภัยอาเพศต่อบ้านเมือง

“ใน 16 ข้อก็เช่น ใช้คนผิดประเภท ยกย่องคนเลว เอาคนโง่มาทำงาน สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นอยู่ทุกยุคสมัย ยิ่งถึงวาระที่คนอยากยึดอำนาจ ก็มีการรวบรวมคนที่เจ็บช้ำ อยากแก้แค้น สร้างความปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย แล้วก็ประพันธ์วรรณกรรมขึ้นมา แล้วหาคนที่มีบุญบารมีเข้ามาช่วย พอมันเป็นรูปแบบเดิม ๆ ก็ทำให้คนจดจำเพลงยาวนี้ได้ง่ายยิ่งขึ้น” 

นอกจากนี้ เรื่องร้อยกรองยังน่าจะเป็นอีกส่วนสำคัญหนึ่งที่ทำให้คนในยุคสมัยนั้นจำได้ เนื่องจากเพลงยาวดังกล่าวเป็นบทร้อยกรองซึ่งจำง่าย และร้อยกรองเองก็เป็นรูปบทที่ค่อนข้างตายตัว มีข้อบังคับค่อนข้างเยอะ หากเชื่อมสัมผัสผิดก็อาจทำให้ความหมายเปลี่ยนทันที รวมถึงสังคมขณะนั้นมักจะชอบพูดหรือกล่าวซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ เห็นได้จากบทสวดมนต์ต่าง ๆ จนพากันจำได้นั่นเอง

ด้าน วรพล ไม้สน กรรมการมูลนิธิสมาโหรแห่งประเทศไทยในพระสังฆราชูปถัมภ์ เล่าถึงความน่าสนใจของเพลงยาวพยากรณ์ฯ ในเชิงของโหราศาสตร์ว่า คนโบราณมีความเชื่อเรื่องดวงเมืองอย่างมาก เนื่องจากส่งผลต่อความเป็นอยู่ของบ้านเมือง ผู้คน รวมทั้งการทำศึก มีตั้งแต่การทำนายดวงเมืองตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา มากรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อมองภาพรวมและความเป็นไปของประเทศ รวมถึงคนไทยยังทำนายดวงให้เมืองอื่น ๆ อีกด้วย

จุดนี้ รศ.ดร. ศานติ เสริมว่า ในพิชัยสงครามก็ปรากฏดวงเมืองต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับเราด้วย เช่น เมืองเชียงใหม่ เมืองหงสาวดี เพราะเรามีการคำนวณฤกษ์การเดินทางขณะทำศึก

จากนั้นโหราจารย์ได้เล่าต่อว่า การทำนายโดยใช้โหราศาสตร์ดังกล่าว ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุที่ทำให้เกิดสิ่งที่เราเรียกว่า “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา” โดยเพลงยาวนี้ได้หยิบยกความรู้ด้านการทำนายดิน ฟ้า อากาศ จากโหราศาสตร์ไป

“…อย่างในสมัยก่อน จะมีการเปิดตำราดูนิมิตในวันสำคัญต่าง ๆ เช่น พระอาทิตย์ทรงกลดจะก่อให้เกิดเภทภัยต่อบ้านเมือง หรือแม้กระทั่งการเกิดดาวตก ดาวหาง ซึ่งไกลเกินความสามารถของโหร ก็จะมีการทำนายทายทัก หรือเกิดเสียงลือเสียงเล่าอ้างในแผ่นดินว่าจะต้องเกิดอาเพศ” 

เมื่อความรู้ด้านโหราศาสตร์ ผสมกับความระส่ำระสายของบ้านเมือง จึงทำให้เกิดการนำความเชื่อที่อยู่มายาวนานมาก่อร่างจนเกิดเป็นเนื้อร้องในเพลงยาวดังกล่าวซึ่งมีความน่าสนใจ และได้รับการพูดถึงจนปัจจุบัน

ความน่าสนใจของงานเสวนา เรื่อง “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา” โดย ไทยพีบีเอส ยังมีอีกมากมาย สามารถรับชมในรูปแบบเต็มได้ที่นี่ คลิก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 เมษายน 2566