เผยแพร่ |
---|
วิลเลียม กาดูรี (William Gadoury) เด็กหนุ่มวัย 15 ปี จากควิเบก (Quebec) ประเทศแคนาดา ได้รับเครดิตในฐานะผู้ค้นพบเมืองที่สาบสูญของอารยธรรมายาในป่าดงดิบของประเทศเม็กซิโก หลังสามารถระบุตำแหน่งของเมืองโบราณดังกล่าวได้ผ่านการศึกษาแผนที่ดวงดาวของชาวมายา ด้วยความช่วยเหลือของผู้เชี่ยวชาญด้านภาพถ่ายดาวเทียมและสถาบันอวกาศแห่งแคนาดา ทั้งนี้จากรายงานของเดอะไทม์ เมื่ออังคารที่ผ่านมา (10 พฤษภาคม)
วิลเลียมตั้งข้อสังเกตว่าชาวมายามิได้ตั้งบ้านเมืองตามสภาพภูมิประเทศ แต่จัดวางตามตำแหน่งของดวงดาว “ผมไม่เข้าใจว่าทำไมชาวมายาจึงสร้างเมืองในพื้นที่กันดารห่างไกลจากแม่น้ำ บ้างก็ไปอยู่บนภูเขา” วิลเลียมกล่าวกับสื่อท้องถิ่น เขาได้จับตำแหน่งเมืองที่กระจัดกระจาย 117 แห่งของมายามาเปรียบเทียบกับตำแหน่งของดวงดาวซึ่งบันทึกอยู่ในประมวลมาดริด (Madrid Codex) เอกสารของชาวมายาในช่วงปลายของอารยธรรมระหว่างปีค.ศ. 900-1521
การเปรียบเปรียบของวิลเลียม พบความผิดปกติในกลุ่มดาวนายพราน (Orion) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นศูนย์กลางของความเชื่อและวัฒนธรรมของชาวมายา วิลเลียมเชื่อว่า 2 ใน 3 ของกลุ่มดาวสอดคล้องกับที่ตั้งของเมืองในคาลักมุล (Calakmul) เม็กซิโก และเอลมิราดอร์ (El Mirador) ในกัวเตมาลา ส่วนตำแหน่งที่สามตามทฤษฎีของเขาควรอยู่ในเม็กซิโก
อาร์มุนด์ ลาร์ฮอก (Armand LaRocque) ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียมจากภาควิชาป่าไม้มหาวิทยาลัยแห่งนิวบรุนส์วิค (University of New Brunswick) ผู้ให้ความช่วยเหลือวิลเลียมซึ่งตั้งทฤษฎีขึ้นตั้งแต่สามปีก่อนกล่าวว่า “เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเห็นว่ามันมีอะไร เพราะป่ามันทึบมาก” เขากล่าวถึงพื้นที่ซึ่งวิลเลียมเชื่อว่าเป็นที่ตั้งของเมืองที่สาบสูญ
“โชคดีที่ได้ความช่วยเหลือจากสำนักงานอวกาศแห่งแคนาดา ทำให้ (เรา) ได้ภาพเรดาร์จากดาวเทียม เรดาร์แซท2 (RadarSat2)” ลาร์ฮอกกล่าว ก่อนเสริมว่า เค้าโครงรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสสามารถเห็นได้จากภาพถ่ายดาวเทียม “ผมไม่คิดว่ามันเกิดโดยธรรมชาติ…มันสอดคล้องกับขนาดของพีระมิดมายาที่มีเส้นทแยงมุมราว 50-100 เมตร”
อย่างไรก็ดี ซูซาน กิลเลสพี (Susan Gillespie) ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยแห่งฟลอริดา (University of Florida) ได้ออกมาตั้งข้อสงสัยในข้อเสนอดังกล่าว พร้อมปฏิเสธทฤษฎีแห่งดวงดาวของวิลเลียม ซึ่งเธอกล่าวหาว่าเกิดจากกลุ่มอาการของคนยุคใหม่ที่พยายามทำให้อารยธรรมมายาดูแปลกประหลาด
“ชาวมายาไม่ได้สร้างเมืองตามกลุ่มดาว…พวกเขาตั้งเมืองขึ้นตามสภาพทางนิเวศวิทยาของท้องถิ่นนั้นๆ ลองดูเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างตีกัล (Tikal) ซึ่งอยู่ในกัวเตมาลาปัจจุบันสิ มันตั้งอยู่ข้างกับบาจอส (bajos) หรือบึงขนาดใหญ่ซึ่งเหมาะกับการทำการค้าด้วยเรือแคนู นอกจากนี้มันยังอยู่ใกล้กับเชิร์ต (chert) หรือแหล่งหินไฟ ซึ่งถูกใช้สำหรับทำเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ”
นอกจากนี้เธอยังกล่าวว่า หากตำแหน่งที่วิลเลียมระบุเป็นเมืองของชาวมายาจริงก็เป็นเพียงเรื่องบังเอิญเท่านั้น ไม่ใช่เพราะทฤษฎีดวงดาวของเขาถูกต้อง
“อารยธรรมมายามีมาตั้งแต่ 1,500 ปีก่อนคริสตกาลถึง ปีค.ศ.1500 กินเวลากว่า 3 พันปีในประวัติศาสตร์ ทำให้พวกเขาอาศัยอยู่แทบจะทั่วไปหมด” กิลเลสพีกล่าว ก่อนเสริมว่ายังมีพื้นที่อีกมากที่ยังไม่ถูกสำรวจและมีความเป็นไปได้เช่นกันที่ในพื้นที่ดังกล่าวจะมีเมืองของชาวมายาอยู่
ข้อมูลจาก “Star pupil discovers a lost Mayan city”, The Times