ผู้เขียน | XIX มกรา |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อปี 2016 เว็บไซต์ต่าง ๆ ทั่วโลกมีการเผยแพร่ภาพจาก Google Earth แสดงภาพมุมสูงของพื้นผิวทวีปแอนตาร์กติกาที่ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งและหิมะขาวโพลน ภาพนั้นยังเผยภูมิประเทศรูปทรงคล้ายพีระมิดโบราณถูกห้อมล้อมด้วยหิมะและความเวิ้งว้างว่างเปล่าของทวีปสุดขอบโลกทางทิศใต้แห่งนี้ด้วย
พีระมิดแห่งแอนตาร์กติกาสองแห่งอยู่ห่างจากชายฝั่ง 10 ไมล์ (16 กม.) ส่วนอีกแห่งอยู่ใกล้แนวชายฝั่ง พื้นผิวคล้ายพีระมิดทั้งสามจุดบังเอิญไปเหมือนพีระมิดแห่งกิซ่าอันโด่งดังของอียิปต์ นำไปสู่คำถามว่านี่คือพีระมิดฝีมือมนุษย์ในอารยธรรมโบราณหรือไม่ ? มันไปอยู่ที่แอนตาร์กติกาอันหนาวเย็นและไร้ชีวิตชีวาได้อย่างไร และใครสร้าง ?
มีหลายทฤษฎีเกี่ยวกับที่มาของพีระมิดเหล่านี้ คนบางกลุ่มบอกว่าพีระมิดนี้เป็นร่องรอยที่เหลืออยู่ของอารยธรรมแอตแลนติสในแอนตาร์กติกา แม้กระทั่งข้อสันนิษฐานว่ามันถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ต่างดาว นักวิจัยให้คำอธิบายด้วยหลักธรณีวิทยาตามธรรมชาติของพีระมิดแอนตาร์กติกา พวกเขาชี้ว่าที่จริงแล้ว “พีระมิด” เป็นเพียง “Nunataks” หรือยอดเขารูปทรงคล้ายพีระมิดที่โผล่พ้นผืนน้ำแข็งและสูงเด่นกว่าภูมิประเทศโดยรอบเท่านั้น ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น
กระนั้น ข้อสังเกตเรื่องอารยธรรมมนุษย์ในทวีปแอนตาร์กติกาตั้งแต่สมัยโบราณยังคงเป็นที่พูดถึงกันอยู่ ซึ่งที่จริงถูกพูดถึงมานานหลายสิบปีแล้วก่อนมีการเผยแพร่ภาพมุมสูงนั้นเสียอีก โดดเด่นที่สุดคืองานวิจัยของ ดร. ชาร์ลส์ แฮปกู้ด (Charles Hapgood) ผู้สนับสนุนแนวคิดเรื่องทวีปแอนตาร์กติกาเคยมีมนุษย์อาศัยอยู่เมื่อ 6,000 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มนุษย์ยุคโบราณในส่วนอื่นของโลกเริ่มสรรสร้างอารยธรรมของตนเอง
Dr. Charles Hapgood สนับสนุนการมีอยู่ของอารยธรรมโบราณในทวีปที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งอย่างแอนตาร์กติกา จากงานวิจัยชื่อ “Maps of the Ancient Sea Kings” ของเขาเมื่อปี 1966 มีหลักฐานสนับสนุนทฤษฎีนี้เป็นแผนที่ของ Piri Reis นักเดินเรือชาวเติร์ก (ตุรกี) แห่งจักรวรรดิออตโตมัน ผู้สร้างแผนที่ฉบับหนึ่งขึ้นในศตวรรษที่ 16 และนำไปสู่การตั้งข้อสังเกตและข้อถกเถียงมากมาย เพราะดูเหมือนว่าแผนที่ดังกล่าวจะแสดงพื้นที่บริเวณทวีปแอนตาร์กติกาที่ปราศจากน้ำแข็งจริง ๆ
สมมติฐานเรื่องอารยธรรมอายุ 6,000 ปี บนทวีปบริเวณขั้วโลกใต้ อ้างอิงจากแผนที่ยุคศตวรรษที่ 16 ? ดูผิวเผินอาจเหมือนการจับแพะชนแกะ แต่ที่ไปที่มาของเรื่องราวเหล่านี้กลับชวนให้ติดตามอยู่ไม่น้อย
แผนที่ของ Piri Reis ถูกพบในตุรกีโดยเจ้าหน้าที่กองทัพเรือตุรกีคนหนึ่ง ก่อนเขาจะส่งมันไปยังสำนักงาน Hydro-Graphic ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ในปี 1953 จากนั้น M.I. Walters หัวหน้าวิศวกรประจำสำนักงานของที่นั่นได้ส่งต่อแผนที่ไปให้ เออร์ลิงตัน เอช. มัลเลอรี (Arlington H. Mallery) ช่วยตรวจสอบความน่าเชื่อถือและความสอดคล้องกับแอนตาร์กติกาตามแผนที่ ปรากฏว่ามัลเลอรีประเมินแผนที่ของ Piri Reis ว่ามี “ความแม่นยำอย่างสมบูรณ์” และอาจถูกคัดลอกมาจากแผนที่ที่สร้างขึ้นก่อนหน้านั้นอีกที หรือเมื่อ 6,000 ปีก่อน
งานวิจัยชี้ว่าพื้นที่ของทวีปแอนตาร์กติกาในแผนที่ Piri Reis แม่นยำในระดับมีการรับรองด้วยวิธีวิเคราะห์ภูมิประเทศจากการใช้คลื่นไหวสะเทือนและโซนาร์ (seismic soundings and sonar) นักวิจัยพบว่าลึกเข้าไปผืนน้ำแข็งตามแนวชายฝั่ง เทือกเขา ที่ราบสูง ฯลฯ ของพื้นที่ Queen Maud เขตทางภูมิศาสตร์ในทวีปแอนตาร์กติกาตรงกับข้อมูลที่แสดงในแผนที่อย่างน่าประหลาด
โอลไมเยอร์ (Olhmeyer) หัวหน้าคณะสำรวจแอนตาร์กติกาของอังกฤษ-สวีเดน เคยเขียนจดหมายถึง Dr. Charles Hapgood มีข้อความว่า
“เรียน ศาสตราจารย์ แฮปกู้ด
คำขอของคุณเรื่องการประเมินรายละเอียดที่บกพร่องบางส่วนของแผนที่ Piri Reis Antarctica ปี 1513 โดยองค์กรนี้ได้รับการตรวจสอบแล้ว การอ้างว่าส่วนล่างของแผนที่แสดงบริเวณชายฝั่ง Princess Martha ของ Queen Maud Land แอนตาร์กติก และคาบสมุทร Palmer นั้นสมเหตุสมผล เราพบว่านี่คือการตีความแผนที่ที่ถูกต้องและใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด รายละเอียดทางภูมิศาสตร์ที่แสดงในส่วนล่างของแผนที่สอดคล้องกันอย่างน่าเหลือเชื่อกับข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นตอนบนแผ่นน้ำแข็งโดยคณะสำรวจแอนตาร์กติกของสวีเดน-อังกฤษในปี 1949 สิ่งนี้บ่งชี้ว่าแนวชายฝั่งถูกทำเป็นแผนที่ก่อนน้ำแข็งปกคลุม ส่วนนี้ของแอนตาร์กติกา (เคย) ปราศจากน้ำแข็ง (แต่) แผ่นน้ำแข็งในภูมิภาคนี้มีความหนาประมาณหนึ่งไมล์ เราไม่รู้ว่าข้อมูลบนแผนที่นี้กลายเป็นความรู้ความเข้าใจทางภูมิศาสตร์ในปี ค.ศ. 1513 ได้อย่างไร”
จดหมายของ Ohlmeyer ยืนยันทฤษฎีของ Dr. Charles Hapgood ว่าแผนที่ของ Piri Reis อาจถูกคัดลอกมาจากแผนที่ที่สร้างขึ้นในสมัยโบราณอีกทอดหนึ่ง
ดร.ชาร์ลส์ แฮปกู้ด ระบุในงานวิจัยด้วยว่าแม้แผนที่จะมีละติจูดและลองจิจูดเป็นมุมฉากเรขาคณิตแนวระนาบ แต่มันต้องอ้างอิงจากแผนที่ยุคก่อนหน้านั้น คือมีต้นฉบับจากยุคโบราณ เพราะผู้สร้างแผนที่ใช้หลักตรีโกณมิติทรงกลมวาดแผนที่ขึ้นมา และหลักการนี้ถูกคิดค้นขึ้นในศตวรรษที่ 18 ขณะที่แผนที่ระบุ ค.ศ. 1513 ซึ่งอยู่ในช่วงชีวิตของ Piri Reis (ค.ศ. 1465-1553)
นั่นหมายความว่าแผนที่ของ Piri Reis ที่อ้างอิงและตรวจสอบกันอยู่นี้ ถูกทำขึ้นในศตวรรษที่ 18 ด้วยวิทยาการแผนที่ยุคนั้น แต่ระบุปีในศตวรรษที่ 16 ตามช่วงชีวิตของคนในชื่อแผนที่ และมีการคัดลอกต่อกันเป็นทอด ๆ โดยต้นฉบับที่แท้จริงต้องเก่าแก่กว่านั้น
แต่ไม่ว่าพีระมิดแห่งทวีปน้ำแข็งมีต้นกำเนิดมาจากอะไร และแม้ว่าคนจำนวนมาก (ส่วนใหญ่) เชื่อว่ามันเป็นเพียงภูเขา แต่การค้นพบนี้นำไปสู่การทบทวนเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในทวีปอันห่างไกลอย่างแอนตาร์กติกาว่าเคยมีอยู่จริงหรือไม่ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
อ้างอิง :
Clyde Winters, Ancient Origins (26 May, 2020) : Ancient Pyramids in an Icy Landscape: Was There an Ancient Civilization in Antarctica? (Online)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มกราคม 2566