กำเนิดและพัฒนาการในระยะแรกของคนชั้นกลาง

(ภาพจาก www.matichon.co.th)

บทความนี้เป็นการคัดย่อเนื้อหาบางส่วนจากบทความของ ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชื่อ “วัฒนธรรมทางการเมืองไทย” (ศิลปวัฒนธรรม, ฉบับเดือนมกราคม 2551) ที่เนื้อหามียาวมาก จึงคัดย่อเนื้อหาบางส่วนมานำเสนอดังนี้ (จึงจัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำ โดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)


 

ใครคือคนชั้นกลางในแต่ละสังคมย่อมนิยามได้ยาก หลักการกว้างๆ ก็คือคนที่ไม่อยู่ในวิถีการผลิตที่มาจากการเกษตรกรรมโดยตรง และไม่เกี่ยวกับการปกครองโดยตรง ในกรณีของไทยจำเป็นต้องมีคำอธิบายเพิ่มเติมหลักการนี้อยู่พอสมควร

คนชั้นกลางไทยที่เกิดภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อาจแบ่งออกได้เป็นสองประเภท หนึ่งคือกลุ่มคนที่สัมพันธ์กับการค้าซึ่งเปลี่ยนไปอย่างมากนับตั้งแต่สนธิสัญญาเบาริงเป็นต้นมา เกือบทั้งหมดของคนเหล่านี้เป็น “ชาวต่างชาติ” (คำใหม่ในภาษาไทยปัจจุบัน เพราะแต่เดิมก็ล้วนเป็นข้าราษฎรของพระเจ้าแผ่นดินเหมือนกันหมด) ไม่มีความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจที่แท้จริงนัก แม้ว่าสนธิสัญญากับตะวันตก ปลดปล่อยคนเหล่านี้ออกไปจากการพึ่งพิงอำนาจทางการเมืองของชนชั้นสูงในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถสร้างอำนาจทางการเมืองขึ้นมาคานกับชนชั้นสูงได้

การรวมกลุ่มตามประเพณีของตนเองเช่น “อั้งยี่” ไม่สามารถต้านทานอำนาจรัฐซึ่งพัฒนากองทัพแบบใหม่ขึ้นแล้วได้ ในขณะเดียวกันก็เป็นที่หวาดระแวงของมหาอำนาจตะวันตกด้วย เพราะอาจคุกคามผลประ โยชน์ของมหาอำนาจ อีกบางส่วนของคนชั้นกลางเหล่านี้ ต้องพึ่งพิงทั้งอำนาจทางการเมืองและอำนาจทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจตะวันตก (อาศัยใต้ร่มธง หรือทำการค้ากับอาณานิคม หรืออย่างน้อยก็อาศัยข้อกำหนดในสนธิสัญญากับตะวันตกเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพในการค้าของตน)

สำนึกทางการเมืองของคนชั้นกลางกลุ่มนี้ จึงไม่ได้พัฒนามากไปกว่าการสร้างอำนาจเถื่อนขึ้นต่อรองกับรัฐ หรือการเข้าไปใกล้ชิดกับชนชั้นสูงเพื่อเข้าใกล้อำนาจทางการเมือง และใช้ประโยชน์อำนาจนั้นเพื่อแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจ ความรู้สึกเป็นเจ้าของประเทศสยามไม่เกิดขึ้น สำนึกทางการเมืองนอกกรอบนี้ในระยะแรกๆ กลับเป็นสำนึกความเป็นพลเมืองของจีน และเข้าไปเกี่ยวข้องกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศจีนมากกว่าสยาม

ตราบเท่าที่คนชั้นกลางกลุ่มนี้ประนีประนอมกับชนชั้นสูงในระบบการเมืองของสยามได้ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนก็ได้รับหลักประกันอย่างมั่นคงพอสมควร ยิ่งมาในระยะหลัง (นับตั้งแต่ ร.6 ลงมา) ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามพยายามกีดกันคนชั้นกลางกลุ่มนี้ออกไปจากเวทีการเมือง ด้วยลัทธิชาตินิยมที่ตั้งอยู่บนการนิยาม “ความเป็นไทย” ขึ้นใหม่ สำนึกทางการเมืองใดๆ ของคนที่ไว้เปียหรือมีบรรพบุรุษไว้เปีย ก็ยิ่งขาดความชอบธรรมในสังคม

คนชั้นกลางกลุ่มนี้จึงเติบโตต่อมาในวัฒนธรรมทางการเมืองที่อาจสรุปได้ง่ายๆ ว่า “อย่ายุ่งเกี่ยวกับการเมืองไทยบนเวทีเปิด แต่ให้ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวและน้ำมันหล่อลื่นนอกเวทีเปิดจะได้ผลกว่า” ตลอดมา

คนชั้นกลางไทยกลุ่มที่สองซึ่งเกิดในระยะนี้ คือข้าราชการในระบบราชการแบบใหม่ คนเหล่านี้ได้เงินเดือนประจำซึ่งทำให้มีรายได้เป็นตัวเงินสูงกว่าประชาชนทั่วไป ซ้ำยังอยู่ใกล้ชิดกับแหล่งอำนาจทางการเมืองซึ่งรวมศูนย์จนเหลือแหล่งอำนาจเพียงแหล่งเดียว เข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการได้ใกล้ชิด เป็นส่วนหนึ่งของระบบเกียรติยศที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สร้างขึ้นใหม่ (เครื่องแบบ, เหรียญตรา, สถานที่ราชการซึ่งใช้เป็นออฟฟิศ, ขั้นและตำแหน่งทางราชการ, ระดับการศึกษา, ฯลฯ) จึงเป็นกลุ่มคนชั้นกลางที่แปลกๆ สักหน่อย เพราะเป็นส่วนหนึ่งของระบบปกครอง

สำนึกทางการเมืองของคนกลุ่มนี้คือการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากรของราชการ ทำอย่างไรจึงจะให้ตนเองหรือหน่วยงานของตนเองได้ส่วนแบ่งในทรัพยากรนั้นมากที่สุด “การเมือง” ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามจะเต็มไปด้วยความขัดแย้งแก่งแย่งกันในเรื่องนี้อยู่มากมาย ในทุกระดับชั้นด้วย คือตั้งแต่ระดับเสนาบดีลงมาถึงข้าราชการชั้นผู้น้อย (อันเป็นผลให้เกิดความแตกร้าวกันอย่างหนักในหมู่ชนชั้นนำของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์)

ในระยะแรกก็อาจใช้การช่วงชิงความไว้วางพระทัยหรือไว้วางใจของผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป (และถึงที่สุดคือพระมหากษัตริย์) แต่ “การเมือง” ในระยะต่อมาของระบบราชการก็จะมีความสลับซับซ้อนเพิ่มขึ้น ดึงเอาอุดมการณ์ “ชาติ” หรือ “ประชาธิปไตย” หรือ “ความศิวิไลซ์” ของบ้านเมืองเข้ามาใช้ประโยชน์ด้วย นี่เป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งที่สำนึกทางการเมืองของคนชั้นกลางกลุ่มนี้จะพัฒนามาสู่การเมืองที่มีลักษณะสาธารณะมากขึ้นในระยะหลัง

อีกจุดหนึ่งที่มีความสำคัญก็คือ การต่อสู้ทาง “การเมือง” ในระบบราชการ รวมทั้งการศึกษาเฉพาะด้านที่ข้าราชการแต่ละคนได้รับมา ทำให้มองเห็นความสำคัญของภารกิจของหน่วยงานตนเหนือกว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เท่ากับสั่นคลอนความเป็นประมุขฝ่ายบริหารของพระมหากษัตริย์ไปพร้อมกัน เราได้เห็นความขัดแย้งในความคิดของข้าราชการที่ทำงานเฉพาะด้านเช่นนี้มาหลังปฏิรูประบบราชการไม่นาน เริ่มจากกลุ่มตุลาการซึ่งลาออกประท้วงในสมัย ร.5 และกลุ่มทหารใน ร.6

ทั้งสองจุดนี้คือที่มาของการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จในเวลาต่อมา “ประชาธิปไตย” ไทยไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ บนโต๊ะกาแฟที่นักเรียนไทยในปารีสสนทนากัน แต่เกิดขึ้นท่ามกลางจุดอ่อนทาง “การเมือง” ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามซึ่งมีมาก่อนหน้านั้นเป็นเวลานานแล้ว

สิ่งที่น่าสังเกตในเรื่องของคนชั้นกลางซึ่งควรกล่าวไว้ด้วยก็คือ “การเมือง” ของคนชั้นกลางทั้งสองกลุ่มนี้ไม่เชื่อมโยงกันนัก แม้ว่ามีคนชั้นกลางในวงการค้าจำนวนน้อยบางคนเข้ามามีบทบาททางการเมืองของสยามในระยะหลังก็ตาม คนชั้นกลางกลุ่มแรกไม่ได้ต้องการ “เสรีภาพ” เพิ่มมากขึ้น เพื่อขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจของตน ในขณะที่คนชั้นกลางกลุ่มหลังก็ได้รับการปลูกฝังให้หวาดระแวงต่อ “ความเป็นไทย” ที่ไม่สมบูรณ์ของกลุ่มแรก ไม่พร้อมที่จะเปิดเวทีทางการเมืองอย่างกว้างขวางให้แก่คนกลุ่มแรก

อีกข้อหนึ่งที่น่าสังเกตก็คือ “การเมือง” ของระบบราชการซึ่งขยายมาสู่การเมืองของชาติในเวลาต่อมานั้น ไม่เกี่ยวกับประชาราษฎร ซึ่งอยู่นอกปริมณฑลของ “การเมือง” ตลอดมาวัฒนธรรมทางการเมืองของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงจำกัดการเมืองให้เป็นพื้นที่ของชนชั้นนำ (elite) เท่านั้น เพราะการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากรเป็นเทคนิคชั้นสูง ซึ่งต้องการคนมีความรู้พิเศษในการจัดสรรแบ่งปัน ไม่ใช่เรื่องที่ “พลเมือง” ทุกคนพึงเข้ามาร่วมตัดสินใจด้วยได้

อันที่จริง “ความรู้” (หมายถึงความรู้จากตะวันตก) ถูกใช้เป็นฐานความชอบธรรมในการสถาปนาตนเองเป็นกลุ่มนำและ “ชนชั้นนำ” มาตั้งแต่ ร.4 แล้ว ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามเอง ก็มีฐานความชอบธรรมจากการผูกขาดหรือครอบครอง “ความรู้” ดังกล่าว ทัศนคติเช่นนี้เป็นมรดกตกทอดมายังคนชั้นกลางในระบบราชการ ซึ่งเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 และดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงสืบมาจนถึง พ.ศ. 2490 ส่งมรดกนี้สืบทอดมาแก่สังคมไทยจนถึงทุกวันนี้

“ความรู้” หรือฐานความชอบธรรมของอภิสิทธิ์นั้น นอกจากแสดงได้ด้วยวุฒิบัตรการศึกษาแล้ว ยังสามารถแสดงได้ด้วยวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงกับตะวันตก นับตั้งแต่บ้านเรือนที่อยู่อาศัย, การแต่งบ้านและเครื่องเรือน, การแต่งกาย, มารยาทบนโต๊ะอาหาร, ความสามารถในการใช้ภาษาฝรั่ง, ประเภทของหนังสือที่อ่าน, ภาพยนตร์และเพลงที่นิยม, มหรสพที่ยกย่องว่าเป็นศิลปะ, ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่าสังกัดอยู่กับกลุ่มชนชั้นนำ ซึ่งมี “ความรู้” จนสมควรแก่อภิสิทธิ์ต่างๆ ซึ่งได้รับจากสังคม

แต่เพราะวิถีชีวิตเช่นนี้ย่อมมีราคาแพงในประเทศไทย ความเป็น “ชนชั้นนำ” จึงต้องสัมพันธ์กับรายได้สูง หรือฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี ความรวยจึงกลายเป็นบารมีทางการเมืองไปพร้อมกัน (เปรียบเทียบกับ “จ้ำ” ในหมู่บ้านภาคอีสาน ซึ่งสังกัดในกลุ่มชนชั้นนำของชุมชนอย่างไม่ต้องสงสัย แต่หาได้มีฐานะทางเศรษฐกิจดีเป็นพิเศษกว่าคนอื่นไม่)

วัฒนธรรมทางการเมืองที่มองเห็นการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากรเป็นเรื่องของความรู้และเทคนิคชั้นสูง กีดกันประชาชนออกไปจากการเมืองในความหมายนี้โดยสิ้นเชิง อย่าลืมด้วยว่า หากคนกลุ่มหนึ่งผูกขาดอำนาจการจัดสรรทรัพยากรไว้ในมือแต่ฝ่ายเดียว ก็คือการกำหนดว่าทรัพยากรควรถูกใช้อย่างไร เท่ากับว่าอำนาจนี้คืออำนาจที่จะกำหนดวิถีชีวิตของคนอื่นทั้งหมด เพราะวิถีชีวิตใดก็ตาม ย่อมดำเนินไปได้บนฐานการใช้ทรัพยากรอย่างหนึ่งเสมอ หากไม่สามารถใช้ทรัพยากรได้ตามวิถีทางและความถนัดของตน ก็หมายความว่าต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตและชะตากรรมของตนเองไปด้วย

“ความสงบเรียบร้อย” เป็นคุณค่าทางการเมืองอีกอย่างหนึ่งที่คนชั้นกลางทั้งสองกลุ่มรับมาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ความปั่นป่วนวุ่นวายหรือจลาจลย่อมเป็นเหตุให้มหาอำนาจตะวันตกใช้เป็นเหตุหรือเหตุผลที่จะเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองได้ ฉะนั้นระบอบปกครองของสยามจึงหวั่นเกรงกับการก่อความไม่สงบทุกอย่าง แม้ในระยะหลังก่อนจะสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความหวั่นวิตกต่อการแทรกแซงของมหาอำนาจลดลงแล้ว แต่ระบอบปกครองก็เสื่อมความไว้วางใจในความมั่นคงของตนเอง ความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมือง จะถึงขั้นจลาจลหรือไม่ก็ตาม อาจเป็นเชื้อให้แก่ศัตรูภายในของระบอบใช้เป็นเงื่อนไขหรือเป็นโอกาสล้มล้างระบอบปกครองลงได้

คนชั้นกลางกลุ่มแรกที่อยู่ในวงการค้า อยากได้ความสงบเรียบร้อยเพื่อประโยชน์ในการทำธุรกิจของตน นี่เป็นธรรมชาติของพ่อค้าทั่วไปเป็นธรรมดา แต่ในกรณีของไทยอาจต้องการเป็นพิเศษกว่านั้นตรงที่ว่า หลักประกันของสัญญาทุกชนิดในการค้าขายขึ้นอยู่กับ “สถานะเดิม” (status quo) ทั้งทางการเมืองและสังคมอย่างยิ่ง รัฐสยามไม่ใช่รัฐที่เข้มแข็ง จึงไม่อาจอาศัยอำนาจรัฐในการบังคับสัญญาได้อย่างมีประสิทธิภาพนัก ฉะนั้นความปั่นป่วนวุ่นวายไม่ว่ามากหรือน้อยแค่ไหน ก็อาจคุกคามสถานะเดิมของสังคมลงได้ คนชั้นกลางจึงหวาดระแวงต่อเหตุเหล่านี้มากเป็นพิเศษ

ในส่วนคนชั้นกลางในระบบราชการ ก็ได้รับการปลูกฝังคติความสงบเรียบร้อยนี้มาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตลอดมา นอกจากนี้ระบบราชการที่ดำรงอยู่คือฐานของอภิสิทธิ์นานาชนิดที่ข้าราชการได้รับอยู่ ความปั่นป่วนวุ่นวายจึงอาจนำมาซึ่งการรื้อทำลายหรือปรับเปลี่ยนระบบราชการได้ “สถานะเดิม” ของระบบคือหลักประกันอันดีสุดของอภิสิทธิ์ของตน

จริงอยู่ ทุกสังคมย่อมไม่ต้องการความปั่นป่วนวุ่นวาย ไม่ว่าในทางการเมือง, เศรษฐกิจ หรือวัฒนธรรมทั้งนั้น แต่ความเปลี่ยนแปลงแค่ไหนและอย่างไร จึงจะถือว่าเป็นการทำลายความสงบเรียบร้อยของสังคมลง

ในวัฒนธรรมทางการเมืองของคนชั้นกลางไทยที่ได้รับมรดกมาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็คือการกระเพื่อมใดๆ ที่อยู่นอกการคาดการณ์หรือการควบคุมของตน ย่อมน่าระแวงสงสัยทั้งสิ้น หากทำได้ก็ควรระงับการกระเพื่อมนั้นเสียแต่ต้น ความหวาดระแวงอ่อนไหวเกินเหตุของชนชั้นนำทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทย ทำให้การจัดการทางการเมืองของไทยนั้นมีแนวโน้มในการใช้ความรุนแรงอย่างมาก ถือเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมที่ได้ผลดีที่สุด

ความรุนแรงทางการเมืองของไทยนั้นไม่ได้เริ่มขึ้นในเหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา แต่เป็นมาตลอดเวลาก่อนหน้านั้นนานแล้ว เพียงแต่ไม่ได้เกิดขึ้นกลางเมืองอย่างเหตุการณ์ทั้งสอง นับตั้งแต่การปราบกบฏไพร่, การใช้นาปาล์มทำลายหมู่บ้าน “แดง” ทั้งหมู่บ้าน, การถีบลงเขาเผาถังแดง, การจำคุกลืม, หรือการฆ่าถ่วงน้ำ, และการอุ้มฆ่าอีกมากมายทั่วประเทศ

ควรกล่าวไว้ด้วยว่า ความรุนแรงทางกายไม่ใช่เครื่องมือทางการเมืองที่เด่นที่สุดในวัฒนธรรมการเมืองไทยโบราณ โดยเฉพาะในหมู่ไพร่ฟ้าประชาชน มีเครื่องมือทางวัฒนธรรมหลายอย่างที่ชาวบ้านใช้ในการระงับความขัดแย้งที่เกี่ยวกับการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากร เช่น การสู่ขวัญ, การใช้แรงบีบจากผู้อาวุโส, การทำให้ “เสียหน้า” ฯลฯ เป็นต้น

อานุภาพของรัฐแบบใหม่ทำให้วัฒนธรรมทางการเมืองของประชาชนซึ่งมีแต่เดิมมาขาดตอนลง เกิดการสั่งสมสืบทอดและขยายวัฒนธรรมทางการเมืองของระบอบใหม่ ผ่านการศึกษา, สื่อ (ซึ่งขยายตัวขึ้นตามลำดับ) และปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาชนในด้านอื่นๆ สืบมา จนกระทั่งกลายเป็นกระแสหลักของวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก็ตาม

และดังที่เห็นอยู่แล้วว่า วัฒนธรรมทางการเมืองเช่นนี้ไม่เอื้อต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด คนชั้นกลางซึ่งสืบทอดอำนาจทางการเมืองจากระบอบเก่ามากที่สุด จึงไม่ใช่ปราการของประชาธิปไตยไทยเหมือนในอีกบางสังคม แม้ว่ามีการขยายตัวทั้งปริมาณและความหลากหลายของคนชั้นกลางหลัง 2500 เป็นต้นมา ประชาธิปไตยไทยก็ยังคงเปราะบางแทบไม่ต่างจากก่อนหน้านั้น

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มกราคม 2566