วัดหญ้า ร่องรอยพุทธศาสนสถานแห่งนาทราย

ณ พื้นที่เล็ก ๆ ริมฝั่งคลองวัดหญ้า ซึ่งเป็นคลองสายเดียวที่ต่อเนื่องมาจากคลองบ้านตาล ได้ปรากฏวัดแห่งหนึ่งนามว่าวัดหญ้าตั้งอยู่ในตำบลนาทราย อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช วัดแห่งนี้ผู้เขียนได้เคยอ่านประวัติคร่าว ๆ เมื่อครั้งที่ศึกษาข้อมูลของแต่ละวัดในเขตอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชเพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่การทำวิจัย แต่สุดท้ายวัดนี้ได้เป็นอันตกไป เนื่องจากผู้เขียนได้กำหนดขอบเขตพื้นที่การวิจัยใหม่ เหลือแค่เพียงวัดในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชเท่านั้น

จวบจนเวลาล่วงเลยผ่านไปหลายเดือน ผู้เขียนได้มีโอกาสไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู ณ โรงเรียนเมืองนครศรีธรรมราช และถือโอกาสนี้ในการลงพื้นที่ศึกษาวัดหญ้า เนื่องจากตั้งอยู่ไม่ห่างจากโรงเรียนมากนัก วัดหญ้าหากมองจากภายนอกแล้ว อาจดูเป็นวัดธรรมดา ไม่ได้มีสิ่งใดดึงดูดให้ผู้คนเข้าไปค้นหา นอกเสียจากการเข้าไปทำบุญ และร่วมพิธีกรรมทางพุทธศาสนา แต่เมื่อผู้เขียนได้ลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลจากเอกสาร จากการสัมภาษณ์ท่านเจ้าอาวาส และสำรวจโบราณสถานโบราณวัตถุภายในวัดอย่างคร่าว ๆ แล้ว (ตามประสาคนสนใจประวัติศาสตร์) กลับได้พบกับความน่าสนใจหลากหลายประการคือเรื่องราวประวัติการสร้างวัดเศษซากอิฐของอุโบสถเก่าพระพุทธรูปศิลปะเชียงตุง พระพุทธรูปประธานประจำวิหาร ที่สร้างโดยช่างเชื้อสายปัลลวะ ตลอดจนวิถีชีวิตของผู้คนในอดีตและการคมนาคมทางเรือโดยใช้เส้นทางของคลองวัดหญ้าในการติดต่อสื่อสาร

ตามประวัติของวัดหญ้า สันนิษฐานว่าตั้งขึ้นเมื่อ พ.. 1900 โดยมีเจ้านายฝ่ายเหนือ 2 ท่าน ยศเจ้าจอมมารดา ได้เดินทางมาบูรณะพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ได้มาขึ้นเรือที่ทะเลขายข้าว แต่เมื่อรู้ว่าพระบรมธาตุฯ สร้างเสร็จแล้ว จึงได้นำทรัพย์สินไปสร้างวัดขึ้นริมฝั่งคลองท่างิ้ว (ปัจจุบันคือคลองวัดหญ้า) ซึ่งได้ปรากฏวัดแฝด 2 วัด คือ วัดทางฝั่งทิศเหนือให้ชื่อว่า วัดจอมหลาน หรือวัดจอมล้าน (ปัจจุบันกลายเป็นวัดร้าง และเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเมืองนครศรีธรรมราช) ส่วนวัดทางฝั่งทิศใต้ให้ชื่อว่าวัดจอมย่าต่อมาได้เรียกเพี้ยนมาเป็นวัดหญ้าซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดจากสำเนียงที่ต่างกันโดยสำเนียงคนใต้เรียกว่าวัดจอมย่าแต่เมื่อพูดคำว่าย่าตามสำเนียงคนภาคกลางก็กลายเป็นหญ้าไปโดยปริยายจึงเป็นชื่อวัดจอมหญ้าและคนใต้มักพูดอะไรสั้น ๆ รวดเร็วกะทัดรัดจากวัดจอมหญ้าจึงเหลือแค่เพียงวัดหญ้าดังที่ได้ยินและเห็นในปัจจุบัน

เศษซากอิฐอุโบสถเก่า

จากเรื่องราวข้างต้น มีคำถามที่น่าสงสัยหลายประการ เช่น ประการแรก คือเจ้านายฝ่ายเหนือทั้ง 2 ท่าน คือใคร มาจากเมืองใด และที่สำคัญท่านไม่ใช่บุคคลธรรมดาเสียด้วย กลับมียศฐาบรรดาศักดิ์เป็นถึงเจ้าจอมมารดา ประการที่สองประวัติการสร้างวัดแห่งนี้มีความคล้ายคลึงกับการสร้างวัดอีกหลายแห่งในเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวคือ มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการเดินทางมาเพื่อบูรณะพระบรมธาตุฯ แต่สุดท้ายพระบรมธาตุฯสร้างเสร็จ จึงนำทรัพย์สินมาสร้างวัดขึ้นบริเวณทางขึ้นหรือทางผ่านนั้นเอง

ประการที่สาม คือ ช่วงอายุสมัยของการสร้างวัดตรงกับ พ.. 1900 หรือช่วงอยุธยา แต่กลับไม่พบหลักฐานทางโบราณคดีหรือโบราณวัตถุภายในวัดที่สามารถยืนยันความเก่าแก่ของวัดแห่งนี้เลย ถึงแม้จะมีซากอิฐอุโบสถเก่า ซึ่งเชื่อกันว่าสร้างในสมัยอยุธยา แต่น่าเสียดายที่เหลือแค่เพียงฐานและยังไม่ได้มีการกำหนดค่าอายุ !

ซากอิฐอุโบสถเก่าซึ่งเชื่อว่าสร้างในสมัยอยุธยานั้นตั้งอยู่ด้านหลังอุโบสถหลังปัจจุบันของวัดทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 100 เมตร ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้ถูกปกคลุมไปด้วยพุ่มไม้และต้นหญ้ามากมายจนยากที่จะเห็นซากอิฐจากระยะไกล แต่เมื่อเข้าไปใกล้ ๆ แล้วผู้เขียนกลับต้องตื่นตาตื่นใจ เนื่องจากก้อนอิฐเหล่านั้นมีขนาดใหญ่พอสมควรและมีส่วนผสมของแกลบอยู่ด้วย แต่น่าเสียดายที่ก้อนอิฐเกือบทั้งหมดที่เจอได้แตกหักออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยไปเสียสิ้น และกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ

อาจเป็นเพราะการกระทำของชาวบ้านในอดีต ซึ่งเข้ามาขุดสมบัติใต้ฐานอุโบสถ ดังเห็นได้จากหลุมที่ปรากฏอยู่ กรุสมบัติแห่งนี้มีเรื่องเล่าอาถรรพ์คำสาปแช่งเอาไว้ หากผู้ใดขุดสมบัติและขโมยไป จะไม่เจริญในหน้าที่การงาน เจ็บป่วยไม่สบาย จนถึงขั้นจิตวิปริต

โดยจากการสำรวจในครั้งนี้ผู้เขียนสามารถตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่า อุโบสถอาจสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาจริง (แต่อยุธยาช่วงไหนก็ไม่อาจทราบได้) มีฐานเป็นอิฐ ซึ่งอาจมาจากเตาอิฐที่ปากพยิงก็เป็นได้ (หรือเตาอิฐจากนาเคียน) ส่วนเสาและผนังอุโบสถอาจทำด้วยไม้ หรือเสาทำจากไม้ แต่ไม่มีผนังกั้น (วัดในอดีตของภาคใต้มักจะทำด้วยไม้และเปิดผนังโดยรอบ เพื่อการถ่ายเทอากาศ) แต่ถึงกระนั้นข้อสันนิษฐานนี้ก็ไม่อาจการันตีลักษณะของอุโบสถได้แน่นอนคงต้องอาศัยการสารวจและเก็บซากอิฐไปพิสูจน์ผ่านวิธีการทางวิทยาศาสตร์โดยกรมศิลปากรเพื่อกำหนดค่าอายุที่แน่นอนตลอดจนลักษณะที่เป็นไปได้ของอุโบสถหลังนี้

พระพุทธรูปประธานประจำอุโบสถ

ส่วนอุโบสถหลังปัจจุบัน สร้างขึ้นเมื่อ พ.. 2533 มีขนาดประมาณ 10 เมตร x 25 เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ภายในมีพระพุทธรูปประธานประจำอุโบสถ ทำจากทองเหลือง แสดงปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัวคว่า-บัวหงายรองรับอีกชั้นโดยฐานสีเหลี่ยมโค้งมน มีจารึกปรากฏข้อความว่าสร้างเมื่อปีระกาเดือน 6 ขึ้น 15 ค่ำ วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.. 2524 ผู้สร้างคือจ่าสำราญ นางสมจิตร์ พินกลาง พ..สาเริง คุณนายชลพิน พินกลาง นางปลัด อินทสํโร และลูกหลาน นางห้องและลูกหลาน นางชื่น กิตติสาโร และลูกหลาน นางปลั่งและลูกหลาน นายบุตร์ เจตนี นางทองพูนและลูกหลาน นายดำ นางผัด และลูกหลาน นางสมใจ และลูกหลาน นางพิน และลูกหลาน คณะพุทธบริษัท อำเภอหาดใหญ่

พระพุทธรูปที่นำมาเชียงตุง

นอกจากนั้นแล้วยังมีพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ อยู่ด้านหน้าพระพุทธรูปประธานด้วยซึ่งมีองค์หนึ่งน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคือพระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามญาติศิลปะเชียงตุง มีประวัติเล่าว่าพระพุทธรูปองค์นี้ถูกนำมาจากเชียงตุงในสมัยสงครามอินโดจีน โดยนายทหารชาวนครศรีธรรมราชที่ไปร่วมรบคราวนั้นและได้นำมาประดิษฐานไว้ที่วัดหญ้าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพลอยทั้งองค์ แต่ที่เห็นเป็นสีทองนั้นเนื่องจากได้มีการทาสีทองทับลงไปเพื่อปิดบังและป้องกันอันตรายจากมิจฉาชีพทั้งหลาย

ภายในวัดยังปรากฏวิหารหลังหนึ่งที่สาคัญซึ่งมีจารึกบนหน้าบันไว้ว่าสร้างเมื่อปีเถาะ ตรีศก เดือนอ้าย แรม 7 ค่ำ พุทธศักราช 2494 โดยความสามัคคีของพุทธบริษัทภายในวิหารมีพระพุทธรูปประธานประดิษฐานอยู่เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยประทับนั่งขัดสมาธิราบลักษณะแปลกตายิ่งนักสืบความจึงทราบว่าเป็นฝีมือช่างที่มีเชื้อสายมาจากปัลลวะนั้นเอง

พระพุทธรูปประจำวิหาร

นอกจากเรื่องราวการสร้างวัด และโบราณสถานโบราณวัตถุภายในวัดหญ้าแล้ว เรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนในอดีตก็สาคัญไม่แพ้กัน ซึ่งชุมชนแห่งนี้เคยเป็นชุมชนเก่าแก่ มีวัดหญ้าเป็นศูนย์กลางของชุมชน โดยในอดีตนั้นผู้คนแถบนี้มีอาชีพทำนาเป็นหลัก มีการส่งส่วยข้าวถวายเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช มีการค้าขายทางเรือ โดยใช้เส้นทางของคลองวัดหญ้า ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับท่าการค้าที่สำคัญ คือ ทิศเหนือสามารถล่องเรือไปตามคลองคอนขึ้นเทียบท่าค้าขายยังท่าแพ (ตำบลท่าแพ อำเภอเมืองในปัจจุบัน) และทางทิศใต้ล่องเรือไปเทียบยังท่ามอญ (บริเวณสะพานยาว และวัดศรีทวีในปัจจุบัน) ตลอดทั้งท่าวัง และท่าโพธิ์ แต่ในปัจจุบันนั้นทางราชการได้มีการสร้างสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด) ขวางการไหลของน้ำจนกระทั่งเกิดเป็นทางตันขึ้นทาให้เส้นทางเดินเรือในอดีตสายนี้ถูกปิดตายอย่างถาวร

กาลเวลาล่วงเลยผ่านอดีตของวันวานก็ย่อมแปรเปลี่ยนยังคงมีเพียงความทรงจำที่เลือนลางของผู้เฒ่าบอกเล่าเรื่องราวราวของวัดหญ้าสู่ลูกหลานรุ่นต่อรุ่นหวังเพื่อไม่ให้เรื่องราวในอดีตพังทลายและสูญหายไปเฉกเช่นซากก้อนอิฐที่แตกหักภายในวัด

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก :

กรมศาสนา, ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 23, 527.

พระครูใบฎีกาบรรจบ นาควโร (ชุมธรรม), สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.. 2560.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มิถุนายน 2560