ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2557 |
---|---|
ผู้เขียน | วรชาติ มีชูบท |
เผยแพร่ |
“คนเมือง” คือใคร มีที่มาจากที่ไหน และเริ่มใช้กันมาตั้งแต่เมื่อไร? ดูจะเป็นคำถามที่มีคำตอบหลากหลาย
คำตอบสำหรับคำถามนี้ดูจะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า คนเมือง คือ พลเมืองไทยผู้มีถิ่นกำเนิดในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยหรือที่เดิมเรียกกันว่าอาณาจักรล้านนา ซึ่งมีภาษาพูดเป็นของตนเองที่เรียกว่า “กำเมือง” หรือ “คำเมือง” และมีตัวอักษรเป็นแบบกึ่งเหลี่ยมกึ่งมนอย่างมอญโบราณซึ่งได้ “…แปรรูปมาเป็นตัวกลมอย่างพะม่า…” [1] ที่เรียกกันว่า “ตั๋วเมือง” หรือ “ตัว (อักษร) เมือง” ที่ใช้กันมาแต่โบราณ
แต่ในประเด็นที่ว่า เริ่มมีการใช้คำว่า “คนเมือง” เป็นคำเรียกเรียกขาน “ชาวโยน” หรือ “โยนก” ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมของแผ่นดินล้านนานั้นเริ่มกันมาแต่เมื่อไร
“…ไกรศรี นิมมานเหมินท์ เคยเขียนไว้ เมื่อปี พ.ศ. 2496 ว่าผู้คนในเขตอำเภอเสาไห้ สระบุรี ซึ่งเป็นลูกหลานของคนที่ถูกกวาดต้อนไปจากเมืองเชียงแสน เมื่อปี 2347 และผู้คนในหลายหมู่บ้านของอำเภอศรีสัชนาลัย สุโขทัย ยังยืนยันว่าพวกเขาเป็นคนยวน ไม่มีใครรู้จักคำว่า “คนเมือง” หรือ “กำเมือง” เลย. ไกรศรี จึงได้สันนิษฐานว่า คำว่าคนเมือง น่าจะเป็นคำที่คนล้านนาเริ่มใช้เรียกตัวเองในยุคต้นรัตนโกสินทร์นี้เอง…” [2]
จากข้อสมมติฐานข้างต้น จึงเกิดการยอมรับกันว่า คำว่า “คนเมือง” น่าจะเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้ากาวิละรวบรวมผู้คนจากเมืองต่างๆ มารวมกันอยู่ที่เมืองนครเชียงใหม่ในยุคฟื้นฟูบ้านเมืองภายหลังจากขับไล่พม่าพ้นไปจากแผ่นดินล้านนาแล้ว หรือที่เรียกกันว่ายุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เหตุที่ทำให้เกิดคำว่า คนเมือง นั้น มีนักวิชาการและท่านผู้รู้ได้อรรถาธิบายไว้ในหลายแง่มุม อาทิ
1. เป็นการตอบโต้ที่ถูกเหยียดหยามทั้งจากฝ่ายพม่าและสยาม ดังที่ จิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวไว้ในหนังสือ “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” ว่า “…ชาวไทยล้านนาถือตัวว่าเป็น ไต, ไม่ได้เรียกตนเองว่าลาวเลย. เขาเรียกตนเองว่า คนเมือง. ไม่ชอบให้ใครเรียกว่าลาว และถือเป็นการดูถูกเหยียบย่ำทางเชื้อชาติ แต่ไทยภาคกลางสมัยโบราณเหมาเอาชาวล้านนาเป็นลาวตามล้านช้างไปหมด…” [3]
2. เป็นการแยกแยะเพื่อแสดงให้เห็นว่า ตนนั้นเป็นชาวโยนหรือโยนกที่เป็นเจ้าของดินแดนล้านนามาแต่ดั้งเดิม หาใช่เชลยที่ถูกกวาดต้อนมาครั้ง “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง”
3. เป็นเพราะภาษาเขียนเรียกกันว่า ตั๋วเมือง และภาษาพูดว่า คำเมือง จึงทำให้เกิดคำว่า คนเมือง เพื่อใช้เรียกขานผู้ที่เขียนตัวหนังสือเมืองและพูดคำเมือง
แม้จะมีอรรถาธิบายเรื่องคนเมืองไว้จนดูเหมือนจะได้ข้อยุติทั้งความหมาย ที่มา และเหตุผลที่ทำให้เกิดคำว่า คนเมือง ดังได้กล่าวมาแล้ว แต่เมื่อได้อ่านหนังสือหลายเล่มที่มิชชันนารีอเมริกันและชาวต่างประเทศหลายคนได้บันทึกถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งเดินทางขึ้นไปปฏิบัติภารกิจที่มณฑลพายัพในระหว่างรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อเนื่องมาจนถึงต้นรัชมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กลับพบความในเอกสารทุกฉบับเรียกชาวมณฑลพายัพว่า “คนลาว” และไม่พบว่ามีการเรียกชาวมณฑลพายัพว่า “คนเมือง” ในหนังสือหรือบันทึกเล่มใดๆ เลย
เมื่อสืบค้นเอกสารจดหมายเหตุของฝ่ายไทยต่อมา ก็ได้พบหลักฐานว่า เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระนรินทรราชเสนี (พุ่ม ศรีไชยันต์) [4] ปลัดบาญชีกรมพระกลาโหม เป็นข้าหลวงสามหัวเมืองขึ้นมาประจำอยู่ที่เมืองนครเชียงใหม่พร้อมด้วยกองทหารจากกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2417 นั้น พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้านครเชียงใหม่ได้เลือกพื้นที่ว่างริมแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นที่ถูกน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากให้เป็นที่พำนักของข้าราชการที่ขึ้นมาจากเมืองใต้ ดังมีหลักฐานปรากฏในแผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ. 2436 แสดงให้เห็นที่ “ข้าหลวงพัก” จัดเป็นหมู่บ้าน มีทั้งศาลต่างประเทศ โรงไปรสนีย์โทรเลข และเรือนพักข้าราชการกระจายกันอยู่โดยรอบพื้นที่ “ข่วงเมรุ” หรือท้องทุ่งสำหรับปลงศพเจ้านครเชียงใหม่และชายาที่ริมแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตก
การที่ชาวสยามต้องมาตั้งบ้านเรือนและที่ทำการอยู่รวมกับพวกมิชชันนารีและชาวตะวันตก รวมตลอดทั้งพ่อค้าจีน พม่า และคนในบังคับชาติตะวันตกที่ริมน้ำปิง แยกขาดจากเจ้านายและราษฎรเมืองเชียงใหม่ซึ่งรวมกันพักอาศัยอยู่แต่ในแนวกำแพงเมือง โดยมีหมู่บ้านของกลุ่มชนที่ถูกกวาดต้อนมาแต่ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง คั่นกลางในระหว่างแนวกำแพงเมืองด้านตะวันออกและใต้กับแนวกำแพงดิน ในขณะเดียวกันข้าราชการสยามที่ถูกส่งขึ้นไปประจำรับราชการที่เชียงใหม่นั้นก็มักจะดูแคลนข้าราชการและชาวเมืองว่าเป็นผู้ที่ต่ำต้อยกว่าตน จนถึงคราวที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเมื่อเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม พ.ศ. 2448 ได้ทรงพบเห็นปัญหาดังกล่าวด้วยพระองค์เอง เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงเทพฯ แล้ว จึงได้มีลายพระหัตถ์ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 กราบบังคมทูลรายงานการเสด็จตรวจราชการหัวเมืองมณฑลพายัพขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความตอนหนึ่งว่า
“…ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกราบบังคมทูลสรุปทั่วไป ในส่วนการปกครองเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า การเลือกข้าราชการขึ้นไปนั้นจะต้องกระทำโดยระวังมาก ถ้าจะเลือกแต่เฉพาะผู้มีความสามารถในทางราชการทางใดทางหนึ่งเท่านั้น เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าไม่พอ จำจะต้องหาผู้มีความคิดกว้างขวางรู้จักผ่อนผันในทางการปกครอง ถ้าจะทำไปให้สำเร็จจำจะต้องอาไศรยพวกเจ้านายและผู้เป็นใหญ่ในพื้นเมือง คนไทยถึงแม้จะมีความสามารถปานใดถ้าไปเกิดเหตุให้เป็นที่บาดหมางหรือไม่ปรองดองกับคนในพื้นเมือง ถึงแม้คนในพื้นเมืองนั้นจะไม่ขัดข้องก็คงยังลำบาก เพราะที่ไหนเลยคนไทยที่ขึ้นไปจากเมืองได้จะทราบเหตุการณ์ และนิสัยใจคอของพลเมืองเท่าคนในพื้นเมืองเอง เพราะฉะนั้นถ้าคนในเมืองไม่ช่วย แม้การจะทำสำเร็จก็คงจะเป็นไปได้ชั่วคราว ไม่ยั่งยืน เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่าข้อสำคัญคือ ต้องพยายามที่จะกระทำให้ชาวเมืองเข้ากลมเกลียวกับเราได้ อย่าให้รู้สึกว่าพวกเราไม่ไว้ใจหรือตั้งใจไปกดขี่เอาแต่ตามอำเภอใจเรา ผู้ที่เคยได้รับความนับถือในเมืองตนเองแล้ว แม้มีผู้ใดประพฤติกิริยาอาการที่จะแสดงให้เห็นได้ว่าหมิ่นประมาทและไม่เห็นเป็นคนเท่ากันเช่นนั้น ย่อมจะทำให้เจ็บใจหรืออย่างน้อยก็เพียงขุ่นๆ เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าการที่ทำดีต่อไว้นั้นไม่มีที่เสียเลย ในทางนี้พระยาสุรสีห์วิสิทธิศักดิ์เข้าใจดี และความประพฤติของพระยาสุรสีห์ต่อพวกเจ้านายในเมืองลาวนั้นไม่มีที่ติ ไปมีที่ผู้น้อยบ้างบางนาย ที่ถือทิษฐิแข่งลาวแข่งไทยไม่รู้จักจบสิ้น คนเหล่านี้ทำให้เป็นที่เดือดร้อนแก่ผู้ที่แลเห็นทางถูกแล้วเป็นอันมาก การที่คนเหล่านั้นประพฤติเช่นที่กราบบังคมทูลมาแล้ว เห็นด้วยเกล้าฯ จะเป็นไปด้วยความเข้าใจผิด คือเข้าใจว่าถ้าจะให้พวกลาวยำเกรงจำจะต้องไว้ยศ ถือตัวไว้เสมอๆ จำจะต้องให้รู้สึกว่าตนเป็นไทยเป็นนายลาว ข้อนี้ถ้าจะนึกดูถึงใจชาวพายัพบ้าง ก็พอจะแลเห็นได้ว่ามีสิ่งที่สะกิดใจทำให้ขุ่นอยู่สมอ พอที่จะเชื่องได้ก็มาติดข้อที่กราบบังคมทูลนี้ ยังอีกประการหนึ่งคือข้าราชการผู้น้อยเหล่านี้เองที่ตั้งใจจะแสดงตนดีกว่าลาวนั้น หาได้ทำไปให้ตลอดไม่ คือความประพฤติในส่วนตัวควรจะกระทำให้เป็นเยี่ยงอย่างแห่งทางดี ก็แลประสงค์จะให้ลาวนับถือไทย ควรจะต้องประพฤติให้เสมอต้นเสมอปลายจึ่งจะน่านับถือจริง…” [5]
นอกจากจะทรงแสดงความเห็นเรื่องอุปนิสัยอันไม่พึงประสงค์ของข้าราชการไทยที่ประจำอยู่ที่มณฑลพายัพแล้ว ยังพบว่า ในรายงานการเสด็จตรวจราชการนั้น เมื่อจะทรงกล่าวถึงพสกนิกรในพื้นที่ก็จะทรงเลี่ยงไปใช้คำว่า “ราษฎรไทยเมือง”, “คนพื้นเมือง” และ “ชาวพายัพ” แทนการใช้คำว่า “คนลาว” ดังที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในเอกสารราชการในเวลานั้น
รายงานการเสด็จตรวจราชการนี้น่าจะเป็นเครื่องบ่งชี้ได้ว่า เมื่อสมเด็จพระยุพราชเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพในปี พ.ศ. 2448 นั้น น่าจะคงเรียกชาวมณฑลพายัพว่า “ลาว” ตามที่เคยเรียกกันมาแต่เดิม และในเวลานั้นคงจะยังไม่มีการใช้คำว่า “คนเมือง” ในเอกสารราชการ จนอีก 7 เดือนถัดมาจึงพบความตอนหนึ่งในลายพระหัตถ์พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ฉบับลงวันที่ 20 กันยายน ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2449) กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความตอนหนึ่งว่า
“…ข้อความที่ปฤกษากันเห็นด้วยเกล้าฯ ว่าควรจะพิจารณานั้น คือ ในเวลานี้ตามทางพระบรมราโชบายที่โปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงใหญ่ปฏิบัติจัดการแลได้ชี้แจงให้เจ้านายผู้คนในมณฑลพายัพเปนที่เข้าใจแล้วนั้น คือ ข้าราชการจะไม่ถือว่าเปนลาวเปนไทยเปนคนใต้คนเหนือ ผู้ที่เปนข้าราชการถือว่าเปนข้าราชการในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเหมือนกันหมด ถือคุณวุฒิเปนสำคัญในการที่จะได้รับตำแหน่งแลบรรดาศักดิ์ ข้อนี้เปนที่พอใจของเจ้านายแลพวกคนพื้นเมืองในมณฑลพายัพมาก ตามทางที่พระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ได้จัดทำอยู่แล้วในการเลือกตำแหน่งก็ได้เดินตามทางนี้ คือถ้าคนเมืองคนใดก็ดีก็เลือกสรรให้มีตำแหน่งรับราชการในที่ไว้วางใจบำรุงความอุสาหะคนชั้นผู้น้อยทั้งที่เปนเจ้าแลมิใช่เจ้าให้มียิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนได้มาก…” [6]
เมื่อพิจารณาความในรายงานการเสด็จตรวจราชการของสมเด็จพระยุพราช ประกอบกับลายพระหัตถ์ของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งอ้างถึงพระบรมราโชบายในการปกครองชาวมณฑลพายัพตามแนวทางที่สมเด็จพระยุพราชได้กราบบังคมทูลพระกรุณาไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว ในลายพระหัตถ์ดังกล่าวยังพบว่า มีการใช้คำว่า “คนพื้นเมือง” และ “คนเมือง” ในทุกแห่งที่กล่าวถึงชาวมณฑลพายัพ โดยไม่ปรากฏคำว่า “คนลาว” หรือ “พวกลาว” อันเป็นคำเรียกขานชาวมณฑลพายัพในลายพระหัตถ์ฉบับนั้นอีกเลย
นอกจากนั้นศาสนาจารย์ วิลเลียม คลิฟตัน ดอดจ์ (Rev. William Clifton Dodd) มิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียนซึ่งขึ้นมาประจำเผยแพร่คริสต์สาสนาในดินแดนล้านนาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2439 จนถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2462 ก็ได้กล่าวถึงชาวมณฑลพายัพที่เรียกตนเองว่า “ยวน” ไว้ในบันทึกเรื่อง “The Tai Race – The Elder Brother of the Chinese” [7] ซึ่งได้จัดพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2463 ไว้ว่า
“…นอกจากคนไทยในส่วนอื่นของประเทศไทยแล้ว โดยเฉพาะในส่วนเหนือนี้เป็นผู้ที่คุ้นเคยกับพวกเราและเป็นยอดรักของพวกเราตลอดจนมิตรสหายและผู้ร่วมงานอื่นๆ ด้วย ถ้าท่านผู้เคยปฏิบัติงานด้วยภักดีมานานในระหว่างพวกนี้จะยอมรับเรียกพวกนี้ว่า ญวน [8] ไม่เรียกว่า ลาว แล้ว จะเป็นที่น่าตื่นเต้นแก่ข้าพเจ้ามาก แต่ถ้าท่านไม่ยอมรับเรียกตามนั้น ข้าพเจ้าก็จะขอแนะนำชื่อใหม่ให้ ชื่อเก่าเรื่องเก่าของลาวนั้นได้ล่วงพ้นมานานนมแล้ว เพราะคำว่าลาวที่นำมาใช้เรียกคนภาคเหนือในประเทศไทยนั้นเป็นการหลงผิดทั้งเพ ผิดทั้งการเรียกและผิดทั้งสำเนียง แม้ว่าไทยหรือชาวยุโรปหรืออเมริกันบางคนจะเคยเรียกผิดอย่างนั้นมาชั่วกัปป์ชัวกัลป์แล้วก็ตาม แต่พวกของเขาเองไม่เคยแม้แต่เอ่ยถึงชื่อนั้นเลย เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลไทยได้สำแดงความปรารถนาดุจอาณัติให้เรียกคนในดินแดนนั้นว่า ไทย ฉะนั้นเพื่อสำนองประศาสโนบายและการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาล นามของพวกเราที่เคยใช้ว่า คณะมิสชันรีประจำพวกลาว จึงได้เปลี่ยนเสียใหม่เป็น คณะมิสชันรีแห่งประเทศไทยพายัพ [9] และคำว่าพวกลาวเหนือนั้นก็ให้นับว่าสาบสูญไป ในปัจจุบันนี้ดินแดนนั้นก็ได้นามว่าพายัพอยู่แล้ว…” [10]
ด้วยหลักฐานดังได้ประมวลมาจึงน่าจะอนุมานได้ว่า เมื่อสมเด็จพระยุพราชเสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจราชการมณฑลพายัพ ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน – มกราคม พ.ศ. 2448 นั้น น่าจะได้มีพระราชบัณฑูรสั่งห้ามข้าราชการในมณฑลพายัพใช้คำว่า “ลาว” อันเป็นคำดูหมิ่นชาวพื้นเมืองมณฑลพายัพอีกต่อไป และคงจะโปรดเกล้าฯ ให้ใช้คำว่าว่า “ราษฎรไทยเมือง” หรือ “ไทยเมือง” เพื่อปลูกฝังให้ชาวท้องถิ่นพายัพรู้สึกว่าตนนั้นเป็นคนไทย หาใช่เป็นคนต่างชาติต่างภาษาที่จะต้องถูกดูหมิ่นเหยียดหยามเช่นที่เคยเป็นมา พยานในเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขาตอบคำกราบบังคมทูลรายงานการเสด็จตรวจราชการทหารในมณฑลพายัพ ที่นายพลเอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ [11] เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2458 ว่า
“…รายงานว่าด้วยการต่างๆ ในมณฑลภาคพายัพ ตามที่ได้ออกไปตรวจราชการทหารมานั้น ได้รับแล้ว ได้ความพิสดารดีมาก น่าประหลาดใจที่เรื่องถือตัวของข้าราชการกรุงเทพ ฯ ยังไม่หมดลงได้ เพราะฉันได้เปนผู้ทักท้วงขึ้นเอง ตั้งแต่ครั้งไปตรวจมณฑลภาคพายัพ และได้คอยเขี่ยกันอยู่เสมอ แต่ก็เปนจริงที่เปนนิสัยคนไทยมักฟังเข้าหู 1 ออกอีกหู 1 เพราะฉะนั้นจะได้กำชับอุปราชคนใหม่ [12] ให้เอาใจใส่ในเรื่องนี้ยิ่งขึ้น…” [13]
อนึ่ง คำว่า “ราษฎรไทยเมือง” หรือ “ไทยเมือง” นั้นคงจะเป็นคำใหม่ที่ไม่คุ้นกับการพูดและออกเสียง ทั้งยังไปพ้องกับคำที่ชาวล้านนาที่อาศัยในมณฑลพายัพใช้เรียกคนไทยที่มาจากภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ของประเทศไทย ทุกคนล้วนเป็น “คนไทย” หรือ “คนใต้” ในสายตาของชาวล้านนาทั้งหมด ในขณะเดียวกันในส่วนของชาวล้านนาโดยทั่วไปก็ยังคงเรียกตัวเองว่า “ยวน” หรือ “โยน” ดังนั้นเมื่อจะต้องกล่าวถึงชาวล้านนาว่า “ราษฎรไทยเมือง” หรือ “คนไทยเมือง” หรือ “ไทยเมือง” คงจะไม่คุ้นปากเท่ากับคำว่า “คนพื้นเมือง” ที่เป็นคำเก่าได้ใช้กันมาช้านาน และน่าจะเป็นที่มาของคำว่า “คนเมือง” ที่กร่อนคำลงจากคำว่า “คนพื้นเมือง” ดังเช่นที่ปรากฏในลายพระหัตถ์ข้างต้น
นอกจากนั้นคำว่า “คนเมือง” นี้ ยังอาจจะหมายความว่าเป็นคนที่อาศัยอยู่ในเมืองก็ได้ เพราะคำว่า เมือง หรือที่ภาษาถิ่นล้านนาออกเสียงว่า “เมิง” นั้น “…ในแง่คำวิเศษณ์หมายถึงเจริญรุ่งเรืองหรือสว่างไสว…ดังนั้นเมื่อใช้เรียกแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์แล้ว จึงทำให้เห็นได้ว่า เมือง คือที่อยู่ของมนุษย์ซึ่งเป็นแหล่งที่มีความเจริญหรืออารยธรรม และคำว่า ฅนเมือง จึงหมายถึงคนที่เจริญด้วยอารยธรรม…” [14] ส่วนคำว่า “เวียง” ในภาษาถิ่นล้านนานั้นกลับหมายถึง “…ที่อันมั่นคง ซึ่งมักมีรั้วหรือกำแพงล้อม…” [15]
หากคำว่า คนเมือง หมายถึง คนที่เจริญด้วยอารยธรรมแล้ว ก็มีข้อที่น่าพิจารณาว่า เพราะเหตุใดบุตรหลานพญาเทพวณีสอนที่บ้านหนองตอง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ จึงเรียกบ้านญาติที่อยู่ภายในกำแพงเมืองเชียงใหม่ว่า “บ้านเวียง” กันมาจนถึงสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และในจดหมายพระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิรยศิริ) ราชปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย ฉบับลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 118 (พ.ศ. 2442) ก็มีความตอนหนึ่งกล่าวถึงพื้นที่ภายในกำแพงเมืองนครเชียงใหม่ว่า “ในเวียง” ดังนั้นคำว่า “บ้านเวียง” จึงน่าจะมีความหมายเดียวกับ “บ้านในเมือง” หรือ “บ้านในกำแพงเมือง” เพราะคำว่า “เมือง” นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 ได้ให้คำนิยามไว้ว่า “…เขตซึ่งเป็นที่ชุมนุมและเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัด ซึ่งในครั้งก่อนถ้าเป็นเมืองใหญ่หมายถึงเขตภายในกำแพงเมือง” [16]
เมื่อบ้านเวียงมีความหมายถึงบ้านที่อยู่ในกำแพงเมือง ดังนั้นเมื่อจะเรียกคนที่อยู่ในกำแพงเมืองเป็นภาษาถิ่นล้านนา ก็น่าจะเรียกว่า “คนในเวียง” หรือ “คนเวียง” มากกว่าที่จะที่เรียกว่า “คนเมือง” และเมื่อคำนึงถึงการตั้งถิ่นฐานของข้าราชการจากกรุงเทพฯ และชาวนครเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์แล้ว ยิ่งชวนให้เชื่อได้ว่า “คนเมือง” นั้นน่าจะมีรากศัพท์มาจากคำว่า “คนพื้นเมือง” และคงจะเป็นคำที่ข้าราชการจากกรุงเทพฯ ใช้เรียกชาวเมืองนครเชียงใหม่ที่อาศัยอยู่ในเขตกำแพงเมืองนครเชียงใหม่
ครั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระราชบัณฑูรห้ามมิให้เรียกชาวมณฑลพายัพว่า “คนลาว” เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจราชการมณฑลพายัพใน พ.ศ. 2448 แล้ว เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ ข้าหลวงใหญ่รักษาราชการมณฑลพายัพก็คงจะได้รับสนองพระราชบัณฑูรสั่งการให้ข้าราชการทุกคนในมณฑลพายัพเรียกชาวมณฑลพายัพว่า “คนเมือง” อันมีความหมายถึงพลเมืองไทยผู้มีถิ่นกำเนิดหรือถิ่นที่อยู่ในท้องที่มณฑลพายัพที่เดิมเรียกกันว่าอาณาจักรล้านนาหรือปัจจุบัน คือ 8 จังหวัดภาคเหนือ อันประกอบด้วยจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และพะเยา
อ่านเพิ่มเติม :
- หลัง พ.ศ. 2400 คนล้านนาเรียกตัวเองว่า “คนเมือง” แต่ก่อนหน้านั้นทำไมเรียกว่า “ลาว”
- ไทยเหนือ-ไทยใต้-คนเมือง ร่องรอยความขัดแย้งของล้านนากับสยาม
เชิงอรรถ :
[1] จิตร ภูมิศักดิ์. ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ, หน้า 131.
[2] ธเนศวร์ เจริญเมือง และ ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์. 700 ปีของเมืองเชียงใหม่, หน้า 119 – 120.
[3] ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ, หน้า 130.
[4] ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาเทพประชุน แล้วเลื่อนเป็นเจ้าพระยาพลเทพ เสนาบดีเกษตราธิการ และเจ้าพระยารัตนาธิเบศร สมุหพระกลาโหม
[5] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.5 ม58/44 เรื่อง รายงานราชการในมณฑลพายัพ (11 กุมภาพันธ์ 120 – 10 กันยายน 129).
[6] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ม. ร.5 ม.2.4/20 เรื่อง สัญญาบัตร เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประทวน แลเหรียญ ทางกระทรวงมหาดไทย ปี 125 (11 เมษายน – 20 มีนาคม 125)
[7] หนังสือนี้หลวงนิเพทย์นิติสรรค์ (ฮวดหลี หุตะโกวิท) ได้ตัดตอนแปลแปลเป็นภาษาไทยลงพิมพ์ในหนังสือวิทยาจารย์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2482 จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยได้รวบรวมพิมพ์เป็นเล่มแจกในงานงานกฐินพระราชฐาน ณ วัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี ในชื่อ “ไทย” ต่อจากนั้นได้มีการจัดพิมพ์อีกหลายครั้งโดยใช้ชื่อหนังสือว่า “ไทย”, “เรื่องชนชาติไทย” และ “ชนชาติไทย”.
[8] คือ ยวน ที่มาจากคำว่า โยน หรือ โยนก
[9] ในต้นฉบับภาษาอังกฤษกล่าวไว้ว่า “…our Laos Mission was changed to North Siam Mission, and the North Laos people passed out of existence. Their country is now to be known only as Payab.” คำที่ผู้ประพันธ์เรียกชาวล้านนาว่า “North Laos People” นั้น น่าจะเป็นการเรียกตามที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ แต่ในเวลานั้นทางราชการไทยเรียกมณฑลนี้ว่า “มณฑลพายัพ” ซึ่งตรงกับชื่อเดิมว่า “มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ” ส่วนมณฑลฝ่ายเหนือตามทางราชการนั้น คือ มณฑลอุดร หรือเดิมเรียกว่า “มณฑลลาวพวน” ส่วนหัวเมืองฝ่ายเหนือในเวลานั้นหมายถึงเมืองตาก พิชัย (อุตรดิษฐ) สุโขทัย พิษณุโลก ฯลฯ
[10] หลวงนิเพทย์นิติสรรค์ (ฮวดหลี หุตะโกวิท). ไทย, หน้า 131.
[11] ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
[12] คือ นายพลโท หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น นายพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช
[13] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สบ.001/15, 13. รื่อง รายงานตรวจราชการมณฑลนครราชสีมา, อุบล, และมณฑลภาคพายัพ. พ.ศ. 2458.
[14] อุดม รุ่งเรืองศรี. “เมือง”, สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ เล่ม 10, หน้า 5238.
[15] ที่เดียวกัน
[16] “เมือง”, พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493, หน้า 727.
บรรณานุกรม :
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สบ.001/15, 13. รื่อง รายงานตรวจราชการมณฑลนครราชสีมา, อุบล, และมณฑลภาคพายัพ. พ.ศ. 2458.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.5 ม58/44 เรื่อง รายงานราชการในมณฑลพายัพ (11 กุมภาพันธ์ 120 –10 กันยายน 129).
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ม. ร.5 ม.2.4/20 เรื่อง สัญญาบัตร เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประทวน และเหรียญ ทางกระทรวงมหาดไทย ปี 125 (11 เมษายน – 20 มีนาคม 125)
จิตร ภูมิศักดิ์. ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ, หน้า 131.
ธเนศวร์ เจริญเมือง และ ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์. 700 ปีของเมืองเชียงใหม่,
อุดม รุ่งเรืองศรี. “เมือง”, สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ เล่ม 10
นิเพทย์นิติสรรค์ (ฮวดหลี หุตะโกวิท), หลวง. ไทย
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มกราคม 2566