สมัยรัชกาลที่ 3 ตั้งกลองวินิจฉัยเภรี ให้ประชาชนใช้ร้องทุกข์ถวายฎีกา  

ตีกลองร้องฎีกา ประชาชน ตี กลองวินิจฉัยเภรี
ประชาชนตีกลองวินิจฉัยเภรี เพื่อน้องทุกข์ถวายฎีกา เขียนโดย นายปยุต เงากระจ่าง (ภาพจาก https://parliamentmuseum.go.th/2564/ar64-painting-king.html)

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มีพระราชดำริให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน สามารถร้องเรียนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น จากเดิมที่ประชาชนต้องมาเฝ้ารอทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา เวลาที่พระองค์เสด็จออกนอกพระราชวัง โดยให้ “ตีกลองร้องฎีกา” เพื่อร้องทุกข์ถวายฎีกาได้ทุกวัน จากนั้นเจ้าหน้าที่เวรก็จะนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อให้มีการชำระความกันต่อไป

กลองวินิจฉัยเภรี รัชกาลที่ 3
กลองวินิจฉัยเภรี ภาพจาก “รอยประวัติศาสตร์ศาลไทย”

กลองดังกล่าว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เป็นผู้จัดทำขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2380 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า “กลองวินิจฉัยเภรี” เป็นกลองขนาดใหญ่ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 62 เซนติเมตร สูง 136 เซนติเมตร ทำจากไม้รักขัดมัน หน้ากลองขึงด้วยหนังควายเผือก

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกลองวินิจฉัยเภรี ไว้ที่ทิมดาบ กรมวัง แล้วใส่กุญแจไว้ เมื่อผู้ใดจะไปร้องถวายฎีกา เจ้าหน้าที่กรมวังก็จะไปไขกุญแจให้ หลังผู้ร้องทุกข์ตีกลองแล้ว ตำรวจเวรจะไปรับตัวผู้ร้องทุกข์และนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ เพื่อมีพระบรมราชโองการให้ผู้ใดเป็นผู้ชำระความ พนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะส่งฎีกาที่มีการร้องทุกข์ไปตามพระบรมราชโองการนั้น

หากการจะไปตีกลองร้องฎีกา สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบางครั้งก็ต้องเสียเงินเป็นค่าไขกุญแจให้แก่เจ้าพนักงาน บางครั้งก็ถูกเจ้าพนักงานโบยตีก่อนจะตีกลองร้องฎีกา

ถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกประเพณี ตีกลองร้องฎีกา และโปรดเกล้าฯ ให้มีการป่าวประกาศให้ประชาชนทราบหมายกำหนดการที่พระองค์จะเสด็จออกรับฎีกา ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ทุกเดือน ในวันขึ้น 7 ค่ำ, แรม 7 ค่ำ, แรม 13 ค่ำ ในเดือนขาด และแรม 14 ค่ำ ในเดือนเต็ม บางครั้งหากพระองค์ไม่เสด็จออกก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส เสด็จออกรับฎีกาแทนพระองค์

เวลาที่จะเสด็จออก โปรดให้ตีกลองวินิจฉัยเภรี เรียกผู้ที่จะร้องทุกข์ถวายฎีกามาชุมนุมกันที่หน้าพระที่นั่ง เมื่อพระองค์ทรงรับการถวายฎีกาแล้ว จะพระราชทานเงินบำเหน็จแก่ผู้ที่ถวายฎีกาคนละ 1 สลึง หากชำระความได้ความตามจริงที่ร้องถวายฎีกาจะพระราชทานรางวัลให้อีก 1 สลึง เป็นค่ากระดาษดินสอและค่าจ้างเขียน แต่ถ้าถวายฎีกาเท็จก็จะถูกลงอาญาตามจารีตประเพณี

ภายหลังทรงเห็นว่าประชาชนรับรู้ธรรมเนียมดังกล่าวแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลิกการตีกลองร้องฎีกา และให้สร้างหอสำหรับเก็บกลองวินิจฉัยเภรีไว้ที่ข้างป้อมสิงขรขัณฑ์ ริมประตูเทวาพิทักษ์ ในภายพระบรมมหาราชวัง

ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงขอพระราชทานกลองวินิจฉัยเภรีมาตั้งจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ซึ่งปัจจุบัน คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ศูนย์วิทยาบริการศาลยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม. รอยประวัติศาสตร์ศาลไทย, พ.ศ. 2554.

รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2367-2394, นิตยสารยุทธโกษ ปีที่ 121 ฉบับที่ 3 ประจำเดือนเมษายน-มิถุนายน 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 ธันวาคม 2565