21-24 ธันวาคม 2565 : 130 ปี เลิกคติ “ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณ”

ภาพประกอบเนื้อหา - ขบวนม้าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะเสด็จตรวจราชการมณฑลต่าง ๆ ใน พ.ศ. 2449 (ภาพจากหนังสือ เทศาภิบาล พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สนพ.มติชน)

ปัจจุบันข้อมูลเรื่องช่วงเวลาที่แน่นอนของการเสด็จเมืองสุพรรณบุรีครั้งแรกของกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเสด็จตรวจราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือ เมื่อ ร.ศ. 111 (พ.ศ. 2435) ยังไม่พบเอกสารใดๆ ที่ระบุวันที่ที่ชัดเจน แต่มีข้อสารสนเทศจากเอกสารอย่างน้อย 4 ฉบับ ที่อาจนำมาวิเคราะห์และประมวลผลเพื่อตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่าการเสด็จตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรีในครั้งแรกนี้น่าจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 21-24 ธันวาคม พ.ศ. 2435 ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คติ “ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณ” ต้องล้มเลิกไปในที่สุด ดังผู้เขียนจะอธิบายต่อไปนี้

1.เอกสารราชกิจจานุเบกษา เล่ม 9 ลงวันที่ 1 มกราคม ร.ศ. 111 (สมัยนั้นเดือนมกราคมไม่ใช่เดือนลำดับที่ 1 ของปี แบบปัจุบัน) เรื่อง “ข่าวกรมหมื่นดำรงราชานุภาพเสด็จกลับ” มีใจความสำคัญระบุว่า “…เสด็จไปตรวจราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือ ออกจากรุงเทพฯ ณ วันที่ 7 ตุลาคม นั้น ได้เสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ แล้ว ณ วันที่ 24 ธันวาคม แลได้เข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทในวันที่เสด็จถึงกรุงเทพฯ นั้นแล้ว…”

2. จดหมายเวรของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (สาสน์สมเด็จ) ถึงสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ลงวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2479 มีใจความสำคัญระบุว่า “…เมื่อ ร.ศ. 111 (พ.ศ. 2435) หม่อมฉันเปนเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเมื่อขึ้นปีใหม่ พอถึงเดือน ตุลาคม ในปีนั้นก็ไปตรวจหัวเมืองเหนือ ขากลับหมายจะขึ้นเดินบกที่เมืองอ่างทอง ไปเมืองสุพรรณแล้วกลับกรุงเทพฯ จึงสั่งให้เรือไปคอยรับที่เมืองสุพรรณ..” และข้อความ “…ได้ออกจากเมืองอ่างทองวันรุ่งขึ้นเวลาเช้า แต่ทางยังลำบากจริงดังแกว่า ต้องขี่ม้าราว 8 ชั่วโมงจึงไปถึงเมืองสุพรรณ…” (ภายหลังเนื้อความจากจดหมายฉบับนี้ถูกนำไปขยายเป็นนิทานโบราณคดีเรื่อง “เรื่องห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ”)

3. จดหมายเวรของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (สาสน์สมเด็จ) ถึงสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ลงวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2483 เนื้อความตอนท้ายของจดหมายระบุว่า “หญิงพูน เธอชวนหม่อมฉันให้แต่งนิทานโบราณคดี หม่อมฉันลองแต่งดูสักสองสามเรื่อง คัดสำเนาส่งมาถวายทรงอ่านเล่นเรื่อง 1 พร้อมกับจดหมายฉบับนี้” ซึ่งนิทานแนบท้ายจดหมายฉบับดังกล่าวคือ “เรื่องห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ” ใจความสำคัญของนิทานเรื่องนี้ให้เงื่อนงำเกี่ยวกับช่วงเวลาไว้ดังนี้

“…ฉันออกไปตรวจหัวเมืองต่างๆ ทางฝ่ายเหนือ ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาขึ้นไปถึงเมืองพิษณุโลก สวรรคโลก สุโขทัย เมืองตาก แล้วกลับลงมาทางเมืองกำแพงเพชร มาประจบทางขาขึ้นที่เมืองนครสวรรค์ แล้วล่องลงมาถึงเมืองอ่างทอง หยุดพักอยู่ 2 วัน สั่งเจ้าเมืองกรมการให้หาม้าพาหนะ กับคนหาบหามสิ่งของ เพื่อจะเดินทางบกไปเมืองสุพรรณบุรี…” และข้อความ “…เมื่อฉันพักอยู่ที่เมืองสุพรรณครั้งนั้น มีเวลาไปเพียงที่เจดีย์วัตถุที่สำคัญ เช่นวัดมหาธาตุและวัดพระป่าเลไลยก์ สระน้ำสรงราชาภิเษก และไปทำพลีกรรมที่ศาลเทพารักษ์หลักเมือง…” และข้อความ “…ทางจากเมืองอ่างทองไปเมืองสุพรรณเป็นทางไกล และในเวลานั้นยังไปลำบากสมดังพระยาอ่างทองว่า ขี่ม้าไปตั้งแต่เช้าจนเย็น ฉันรู้สึกเพลียถึงออกปากถามคนขี่ม้านำทางว่าเมื่อไรจะถึงหลายหน จนจวนพลบค่ำจึงไปถึงทำเนียบที่พัก ณ เมืองสุพรรณบุรี”

4. พระนิพนธ์เรื่อง “เทศาภิบาล” โดย สมเด็จฯ ดำรงราชานุภาพ เมื่อ พ.ศ. 2495 มีใจความสำคัญระบุว่า “…ข้าพเจ้าจึงขึ้นไปตรวจหัวเมืองเหนือ ในสมัยนั้นยังไม่มีรถไฟสายเหนือ ต้องลงเรือเก๋งพ่วงเรือไฟไปตั้งแต่ออกจากกรุงเทพฯ ขึ้นไปทางเรือจนถึงอุตรดิตถ์ แล้วเดินบกไปเมืองสวรรคโลก ลงเรือมาสุโขทัย แล้วเดินบกไปเมืองตาก ลงเรือล่องจากเมืองตากกลับลงมาจนถึงเมืองอ่างทอง ขึ้นเดินบกไปเมืองสุพรรณบุรีเป็นที่สุด แล้วกลับทางเรือมาถึงกรุงเทพฯ ในเดือนธันวาคม…”

ข้อจำกัดของเอกสารทั้ง 4 ฉบับ มีดังนี้ เอกสารในข้อ 1 มิได้ระบุว่าเดินทางออกจากเมืองสุพรรณวันไหน เอกสารในข้อ 2-4 เป็นเอกสารที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เขียนขึ้นจากความทรงจำในช่วงพระชนม์มายุระหว่าง 74-90 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่อาจมีความทรงจำผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้ แต่อย่างไรก็ตามเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าท่านทรงเป็นนักประวัติศาสตร์ที่มีระเบียบในการจัดการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ อย่างดีเยี่ยมผู้หนึ่ง และเนื้อหาจากเอกสารทั้ง 3 ฉบับก็มีความสอดคล้องกัน ซึ่งอาจทำให้ข้อจำกัดของเอกสารในข้อ 2-4 ในเรื่องความทรงจำสามารถมองข้ามไปได้เช่นกัน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

เมื่อนำสารสนเทศจากใจความสำคัญในเอกสารข้างต้นมาวิเคราะห์ประมวลผลเข้าด้วยกัน ผู้เขียนขอตั้งข้อสันนิษฐานเรื่องช่วงเวลาในการเสด็จตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรีครั้งแรกของกรมหมื่นดำรงราชานุภาพจากเมืองอ่างทองถึงสุพรรณบุรีและกรุงเทพ ดังนี้

– วันที่ 19-20 ธันวาคม พ.ศ. 2435 ประทับอยู่เมืองอ่างทอง และเป็นช่วงที่พระยาอินทรวิชิต (เถียร) เจ้าเมืองอ่างทองทัดทานมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณ อันเป็นที่มาของนิทานโบราณคดีเรื่อง “เรื่องห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ”

– วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2435 เดินทางด้วยการขี่ม้าจากเมืองอ่างทองถึงเมืองสุพรรณบุรีเวลาค่ำ

– วันที่ 22-23 ธันวาคม พ.ศ. 2435 ออกตรวจราชการและรับฟ้องเรื่องราวต่างๆ จากราษฎร ทอดพระเนตรโบราณสถานต่างๆ เช่น วัด(พระศรีรัตน)มหาธาตุ วัด(พระ)ป่าเลไลยก์ สระน้ำสรงราชาภิเษก และศาลเจ้าพ่อหลักเมือง

– วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2435 ออกจากสุพรรณเวลาเช้าโดยเดินทางทางเรือ และเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ ในวันเดียวกัน (ผู้เขียนสันนิษฐานว่าเดินทางกลับทางคลองบางปลาม้า ผ่านลาดชะโด ผักไห่ บางปะอิน อยุธยา และกรุงเทพ เนื่องด้วยรถไฟสายสายใต้(เพชรบุรี)เพิ่งมาสร้างและเปิดเดินรถเมื่อ พ.ศ. 2446)

การเสด็จตรวจราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือ ระหว่างวันที่ 7 ตุลาคม ถึง 24 ธันวาคม พ.ศ. 2435 ของกรมหมื่นดำรงราชานุภาพในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในครั้งนี้ ได้นำมาสู่การปฏิรูปการปกครองจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ดังปรากฏในรายงานการประชุมเสนาบดีสภา ครั้งที่ 99 เมื่อวันที่ 19 มกราคม ร.ศ. 111 (พ.ศ. 2435) อย่างไรก็ตามเมืองสุพรรณบุรีมิได้ถูกจัดเข้าอยู่ในมณฑลเทศาภิบาลใดๆ ในคราวนั้น จนกระทั่งวันที่ 4 มีนาคม ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ที่ประชุมเสนาบดีสภาได้มีมติให้จัดเมืองสุพรรณบุรีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลกรุงเทพ

และต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งมณฑลนครไชยศรี ใน ร.ศ. 114 (พ.ศ. 2438) เมืองสุพรรณบุรี ก็ถูกโอนมาขึ้นอยู่กับมณฑลนครไชยศรีที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ หลังจากนี้การแบ่งเขตการปกครองท้องถิ่นของเมืองสุพรรณบุรีก็เริ่มเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น ใน ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) มีการจัดตั้ง 4 อำเภอเริ่มแรกคือ คือ อำเภอบ้านทึง (เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอนางบวช พ.ศ. 2444 และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นอำเภอสามชุกในปี พ.ศ. 2482) อำเภอเมือง (เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอท่าพี่เลี้ยง พ.ศ. 2459 และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นอำเภอเมืองสุพรรณบุรีในปี พ.ศ. 2481) อำเภอบางปลาม้า และอำเภอบางลี่ (เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอสองพี่น้อง พ.ศ. 2444)

ต่อมาในปลาย ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445)  มีการตั้งอำเภอใหม่ขึ้นอีก 2 อำเภอ คือ อำเภอจรเข้สามพัน (เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภออู่ทอง พ.ศ. 2482) และอำเภอสีจัน (เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอศรีปะจันต์/ศรีปจันต์ตามพระราชดำริในเดือนเดียวกันกับคราวตั้งอำเภอ) และอำเภอสุดท้ายที่ถูกตั้งขึ้นในยุคของมณฑลเทศาภิบาล ตั้งขึ้นใน ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2454) คือ อำเภอเดิมบาง (เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอเดิมบางนางบวช พ.ศ. 2482) ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2475 รัชกาลที่ 7 มีพระบรมราชโองการให้ยุบเลิกมณฑลนครไชยศรี และให้โอนย้ายเมืองต่างๆ ของมณณฑลนครไชยศรีเข้าไว้ในการปกครองของมณฑลราชบุรี เมืองสุพรรณบุรีจึงอยู่ภายใต้การปกครองของมณฑลราชบุรีนับแต่นั้นมาจนสิ้นสุดระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลในปลายปี พ.ศ. 2476

ความเชื่อในเรื่อง “ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณ” นี้มิได้หมดไปทีเดียว นับแต่การเสด็จเมืองสุพรรณบุรีครั้งแรกของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ใน พ.ศ. 2435 ถึงแม้พระองค์จะเสด็จตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรีอีก 2 ครั้ง ใน ร.ศ. 117 (พ.ศ. 2441)  และ ร.ศ. 122 (พ.ศ. 2446) แล้วก็ตาม ดังที่ปรากฏข้อความในนิทานโบราณคดีเรื่อง “เรื่องห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ” ว่า “…ปีหนึ่ง(ผู้เขียน พ.ศ. 2447)ฉันกราบทูลเชิญเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรี ตรัสว่า “ฉันก็นึกอยากไป แต่ว่าไม่บ้านะ” ฉันกราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าไปเมืองสุพรรณหลายปีแล้ว ก็ยังรับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ได้” ทรงพระสรวลตรัสว่า “ไปซิ”…

และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ให้ข้อสรุปของการล้มเลิกหรือสิ้นสุดคติความเชื่อดังกล่าวไว้ในตอนท้ายของนิทานเรื่องนี้ว่า “…ตั้งแต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เสด็จประพาสเมืองสุพรรณแล้ว ก็ไม่มีใครพูดถึงคติที่ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณ เดี๋ยวนี้คนที่รู้ว่าเคยมีคติเช่นนั้นก็เห็นจะมีน้อยตัวแล้ว จึงเขียนนิทานรักษาโบราณคดีเรื่องนี้ไว้มิให้สูญไปเสีย”

จึงอาจกล่าวได้ว่าการเสด็จเมืองสุพรรณบุรีครั้งแรกของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อ 130 ปีที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 21-24 ธันวาคม พ.ศ. 2435 โดยไม่หวั่นวิตกต่อคำทัดทานของพระยาอินทรวิชิต (เถียร) เจ้าเมืองอ่างทอง นั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ความเชื่อในเรื่อง “ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณ” ค่อยๆ ลดอิทธิพลลงทั้งในส่วนของข้าราชการและระดับชั้นเจ้านาย และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บรรจุชื่อเมืองสุพรรณไว้ในโปรแกรมการเสด็จประพาสต้น พ.ศ. 2447 ส่งผลให้เจ้านายเชื้อพระวงศ์ท่านอื่นๆ เริ่มกล้าเสด็จมายังเมืองสุพรรณบุรีมากขึ้น และส่งผลต่อเนื่องมาในหลายๆ ด้าน นำไปสู่การสิ้นสุดของคติความเชื่อ “ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณ” ในที่สุด

อย่างไรก็ตามที่มาที่ไปของคติความเชื่อเรื่อง “ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณ” ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องค้นคว้ากันต่อไปว่ามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องระดับชั้นเจ้านายที่เกิดขึ้นในเมืองสุพรรณก่อนหน้านั้น

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 9 ตอนที่ 28 วันที่ 9 ตุลาคม 1892 หน้า 233 ข่าวพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นดำรงราชานุภาพเสด็จเมืองเหนือ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2435/028/233.PDF

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 9 ตอนที่ 40 วันที่ 1 มกราคม 1892 หน้า ๓๕๕ ข่าวกรมหมื่นดำรงราชานุภาพเสด็จกลับ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2435/040/355_PDF

รายงานการประชุมเสนาบดีสภารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.ศ. 111

รายงานการประชุมเสนาบดีสภารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.ศ. 112

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 16 ตอน 13 วันที่ 26 มิถุนายน 118 หน้า 163 รายงานข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครไชยศรี http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2442/013/163.PDF

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 34 ตอน ๐ก วันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2460 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนชื่ออำเภอ

สาส์นสมเด็จ พุทธศักราช 2479, วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2479 ดร https://vajirayana.org/สาส์นสมเด็จ-พุทธศักราช-๒๔๗๙/มีนาคม/วันที่-๑๑-มีนาคม-พศ-๒๔๗๙-ดร

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 55 ตอน ๐ก วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามจังหวัด และอำเภอบางแห่ง

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56 ตอน ๐ก วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2482 พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง

สาส์นสมเด็จ พุทธศักราช 2483, วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2483 ดร, คำนำนิทานโบราณคดี และเรื่องห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ https://vajirayana.org/สาส์นสมเด็จ-พุทธศักราช-๒๔๘๓

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 48 ตอน 0ก วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2474 หน้า 576 พระบรมราชโองการ ประกาศ ยุบรวมท้องที่บางมณฑลและบางจังหวัด

ฐานข้อมูลชมรมนักโบราณคดี(สมัครเล่น)เมืองสุพรรณ นายแพทย์ นิคม มีอินทร์ / สมยศ ดวงประทีป


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 ธันวาคม 2565