ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ครั้งสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า “วัดป่าฝ้าย ปากน้ำประสบ” เป็นที่ค่ายใหญ่ของเนเมียวสีหบดี แม่ทัพพม่าด้านทิศเหนือ (เส้นทางจากเชียงใหม่) ปัจจุบัน วัดป่าฝ้ายอยู่ที่ใด ปากน้ำประสบนั้นเป็นสถานที่ใด และเหตุใดเนเมียวสีหบดีจึงเลือกสถานที่ดังกล่าวนี้เป็นที่ตั้งค่าย
อชิรวิชญ์ อันธพันธ์ ค้นคว้าข้อมูลพื้น สำรวจพื้นที่ และให้คำคอบเรื่องนี้ไว้ในบทของเขาที่ชื่อว่า “วัดป่าฝ้าย ปากน้ำประสบ ค่ายใหญ่เนเมียวสีหบดี กับเรื่องราวของพระพรหม” (ศิลปวัฒนธรรม, กันยายน 2564) ไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเพื่อสำรวจลำน้ำเก่าในแถบภาคกลาง เมื่อ พ.ศ. 2451 พระองค์ได้เสด็จฯ เข้ามายังลำน้ำโพธิ์สามต้น ขึ้นมาถึงวัดวรนายก รังสรรค์เจติยบรรพตาราม (วัดเขาดิน) ได้ทรงบันทึกไว้ว่า
“…ปากช่องข้างบนมาออกใต้โพธิ์สามต้น บ้านเรือนคนยังมีอยู่ตลอดหนทาง การที่แม่น้ำนี้ตื้นเห็นจะได้ตื้นมาเสียช้านาน แผ่นดินพระนเรศวรได้มีจดหมายว่าประชุมทัพที่บางขวดแล้วลำแม่น้ำโพธิ์สามต้นนี้เป็นแม่น้ำเดียวกันกับคลองเมือง ค่ายโปสุพลาตั้งอยู่เหนือวัดเขาดิน ค่ายพระนายกองตั้งที่โพธิ์สามต้น จริงๆ ยังมีรากอิฐที่ก่อกำแพงปรากฏอยู่ แต่ข้างริมแม่น้ำตลิ่งพังไปกลับงอกเป็นเกาะขึ้นเสียในกลางน้ำจึงดูแคบไป…” [1]
แต่ดูเหมือนว่าการเสด็จประพาสในครั้งนั้น พระองค์ไม่ทรงพบกับวัดป่าฝ้ายที่เคยเป็นค่ายใหญ่ของเนเมียวสีบดีหรือโปสุพลา อย่างไรก็ดี บันทึกของพระองค์เป็นลายแทงสำคัญที่ทำให้รู้ว่าปากน้ำประสบนั้นเป็นจุดที่ลำน้ำโพธิ์สามต้นมาบรรจบกันกับแม่น้ำลพบุรี สอดคล้องกับคำว่า “สบ” หรือ “ประสบ” นั้น หมายถึงบริเวณที่ลำน้ำสองสายไหลมาพบหรือบรรจบกัน การที่คนอยุธยาเรียกจุดนี้ว่า “ปากน้ำประสบ” แสดงถึงความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้มากพอสมควร
ลำน้ำโพธิ์สามต้น เป็นคลองที่ไหลจากทิศเหนือของกรุงศรีอยุธยา ในบางช่วงมีการเรียกชื่อคลองที่แตกต่างกัน เช่น ช่วงต้นของลำน้ำที่แยกออกจากคลองเมืองเรียกกันว่าคลองบางขวด ไหลผ่านด้านหลังของวัดสามพิหาร วัดเจดีย์แดงขึ้นไป บ้างก็เรียกว่าคลองบ้านม่วงตรงช่วงที่ผ่านวัดม่วง พอถึงช่วงตำบลโพธิ์สามต้นในเขตบางปะหัน ก็เรียกชื่อเป็นแม่น้ำโพธิ์สามต้น ก่อนจะไปบรรจบกับแม่น้ำลพบุรี อันเป็นเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมต่อไปยังเมืองลพบุรี
นอกจากชื่อลำน้ำที่มีความสำคัญแล้ว “วัดป่าฝ้าย” อาจเป็นชื่อที่บ่งบอกถึงการเป็นย่านตลาดขายผ้าฝ้ายของอยุธยา ดังที่ เดวิด บรูซ จอห์นสตัน เคยมาทำงานวิจัยในนามของมหาวิทยาลัยเยล เรื่อง “สังคมชนบทและภาคเศรษฐกิจข้าวของไทย พ.ศ. 2423-2473” ซึ่งได้มาเก็บข้อมูลในช่วง พ.ศ. 2514-2516 ได้ระบุไว้ในงานวิจัยว่า วัดป่าฝ้าย ปากน้ำประสบนี้เคยเป็นตำบลผลิตผ้าฝ้าย สอดคล้องกับคำว่า “ป่า” ในสมัยอยุธยา มีความหมายถึง “ตลาด” ที่นี่จึงเป็นตลาดค้าขายผ้าฝ้าย ซึ่งถือเป็นสินค้าที่สำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา เอกสารเก่าหลายฉบับ มักจะพบความสำคัญของผ้าว่าเป็นสิ่งที่พระมหากษัตริย์พระราชทานของรางวัลให้แก่ผู้มีความดีความชอบด้วยผ้าผ่อนเป็นสำรับๆ อยู่เสมอ
ที่ตั้งของวัดป่าฝ้าย ปากน้ำประสบ
วัดป่าฝ้ายกับปากน้ำประสบตั้งอยู่ที่ใด? เมื่อหลายสิบปีก่อนเคยมีความเข้าใจกันว่า วัดป่าฝ้ายอันเป็นที่ตั้งของค่ายพม่า มีพื้นที่ส่วนหนึ่งถูกยุบรวมเข้ากับวัดวรนายกรังสรรค์เจติยบรรพตาราม หรือวัดเขาดิน [2] ซึ่งเป็นวัดที่ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ในปัจจุบันได้มีการค้นพบว่า วัดป่าฝ้ายเป็นวัดร้างที่อยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคลริมแม่น้ำฝั่งตรงข้ามวัดวรนายกรังสรรค์เจติยบรรพตาราม
คุณลุงสุบิน ช่างโก๊ะ เป็นเจ้าของบ้านที่ดูแลพื้นที่วัดป่าฝ้ายในปัจจุบันไว้ และได้อนุญาตให้ผู้เขียนเข้าไปสำรวจซากวัดป่าฝ้ายที่เหลืออยู่ภายในบ้าน โดยปรากฏซากวัดที่ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกนั้นเป็นพื้นที่อุโบสถเก่า มีการสร้างศาลาขึ้นใหม่เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวน 4 องค์ โดยองค์ประธานซึ่งมีขนาดใหญ่สุดมีการตั้งชื่อว่า “พระพุทธพรหมมนีศรีอโยธยา” นอกจากนี้ ด้านข้างขององค์พระประธานยังมีชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายจำนวนหนึ่งวางอยู่เป็นหลักฐานว่าตรงจุดนี้เคยเป็นที่ตั้งของวัดเก่าสมัยอยุธยาจริง
ส่วนที่สอง อยู่ในพื้นที่ของบ้านที่อยู่ถัดไปอีกหลังห่างกันเพียงซอยเล็กๆ คั่น ที่นี่เป็นบ้านในกรรมสิทธิ์ของครอบครัวคุณสุบินเช่นเดียวกัน เนื่องจากบริเวณด้านหลังของบ้านหลังที่ 2 มีซากชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายหลายชิ้นที่มีลักษณะค่อนข้างสมบูรณ์มากกว่าพื้นที่บ้านหลังแรก วางรวมกันอยู่บนเนินโคกที่คาดกันว่าน่าจะเคยเป็นที่ตั้งของวิหารวัดป่าฝ้าย
ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายที่วางกองรวมกันนี้ มีทั้งชิ้นส่วนหน้าตัก ลำตัว และเศียรขนาดใหญ่ที่อยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์พอที่จะเห็นเค้าโครงพระพักตร์ได้ค่อนข้างชัดว่าเป็นศิลปะแบบอู่ทองรุ่นที่ 2 บ่งบอกถึงอายุของวัดแห่งนี้ว่าเก่าแก่ถึงช่วงอยุธยาตอนต้น และอาจเป็นวัดที่เก่าที่สุดกว่าวัดใดๆ ในย่านนั้นด้วย
อีกทั้งตำแหน่งของวัดป่าฝ้าย ตั้งอยู่ตรงปากคลองโพธิ์สามต้นที่มาบรรจบกับแม่น้ำลพบุรี อันเป็นที่มาของชื่อที่ชาวอยุธยาเรียกว่า “ปากน้ำประสบ” ซึ่งก็คือที่ที่ลำน้ำสองสายมา “พบ” หรือ “ประสบ” กัน จึงมักเรียกชื่อวัดกับย่านต่อกันดังที่ปรากฏชื่อ “วัดป่าฝ้าย ปากน้ำประสบ” ให้เป็นที่รับรู้กันว่าวัดนี้ตั้งอยู่ ณ แห่งใด
แต่ทว่าในปัจจุบัน ปากแม่น้ำโพธิ์สามต้นเหลือเพียงลำรางเล็กๆ ระยะสั้นปรากฏให้เห็นตรงเชิงสะพานฝั่งตรงข้ามวัดวรนายกรังสรรค์เจติยบรรพตารามเท่านั้น เพราะลำคลองที่เหลือถูกบ้านเรือนและถนนถมทับจนหมดสภาพความเป็นคลองไปอย่างสิ้นเชิง แต่ก็ยังมีหลักฐานการมีตัวตนของคลองเส้นนี้อยู่บนแผนที่ของกรมแผนที่ทหารบก ที่ได้ทำการสำรวจและจัดทำขึ้นใน พ.ศ. 2485 อันเป็นช่วงเวลาที่คลองช่วงนี้ยังคงปรากฏอยู่ คือเป็นเส้นทางเดียวกับแม่น้ำโพธิ์สามต้น ที่ไหลลงสู่แม่น้ำลพบุรีจนเกิดเป็นสามแยกปากน้ำประสบนั้นเอง
ปากน้ำประสบ ในประวัติศาสตร์สงครามครั้งเสียกรุงฯ
จากบันทึกในพงศาวดารพม่า ก่อนที่กองทัพของเนเมียวสีหบดีจะลงมาตั้งค่ายที่ปากน้ำประสบ ฝ่ายอยุธยาได้ส่งกองทัพขึ้นไปตั้งรับอยู่ก่อนแล้ว โดยมีพระยาสุรเทพอำมาตย์เป็นแม่ทัพบก กับพระยาพระคลังเป็นแม่ทัพเรือคุมกำลังไปทางแม่น้ำลพบุรี (พม่าเรียกแม่น้ำปิง) ขึ้นไปตั้งรับเหนือปากน้ำประสบราว 1,000 เส้นเศษ [3] ส่วนกองทัพของเนเมียวสีหบดีในตอนนั้น หลังจากที่ตีหัวเมืองเหนือไว้ในอำนาจได้ทั้งหมดแล้ว จึงเคลื่อนทัพลงมาปะทะกับกองทัพของกรุงศรีอยุธยา
หลักฐานจากเอกสารคำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่ากองทัพของอยุธยาที่ยกขึ้นไปทางเชียงใหม่ ได้ถอยลงมาตั้งรับทัพพม่าที่เมืองชัยนาท [4] เมื่อพิจารณาจากเส้นทางทัพของอยุธยาที่ตั้งรับพม่าในเขตเมืองชัยนาทนี้ ค่อนข้างสอดคล้องกับที่กล่าวไว้ในพงศาวดารพม่า กล่าวคือทัพของเนเมียวสีหบดีสามารถตีกองทัพกรุงศรีอยุธยาที่ขึ้นไปตั้งรับจนแตกพ่ายทั้งทัพบกทัพเรือ จากนั้นก็ใช้เส้นทางคลองบางแก้ว ซึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าในเขตจังหวัดอ่างทอง คลองบางแก้วนี้จะมาเชื่อมต่อกันกับแม่น้ำลพบุรีในเขตอำเภอบางปะหัน แล้วล่องลงมาจนถึงบ้านปากน้ำประสบ
ที่ปากน้ำประสบ ใช่ว่าจะมีเพียงวัดป่าฝ้าย ที่เป็นจุดตั้งค่ายใหญ่ของกองทัพพม่าเพียงแห่งเดียว พงศาวดารพม่ากล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “เมื่อสีหะปะเต๊ะแม่ทัพตีทัพอยุธยามีไชยชะนะทั้งทัพบกทัพเรือแล้ว ก็มิได้หยุดพักพลทหารแลช้างม้า ก็เลยยกไปตีกรุงศรีอยุธยา ครั้นเดือน 3 ขึ้น 5 ค่ำ จุลศักราช 1127 ก็ถึงตำบลบ้านปากน้ำปสกๆ นี้ตั้งอยู่ทิศอิสาณกรุงศรีอยุธยาไปประมาณ 400 เส้น แล้วสีหะปะเต๊ะแม่ทัพก็ตั้งค่ายใหญ่ลงที่ตำบลปากน้ำปสกนั้น 9 ค่าย 2 ฟากลำแม่น้ำปิงโดยแน่นหนามั่นคง…” [5]
เอกสารของพม่าเน้นชื่อสถานที่ว่า “บ้านปากน้ำปสก” นั่นแสดงว่าอาณาเขตการตั้งค่ายนี้ครอบคลุมทั้งตำบลเป็นเนื้อที่บริเวณกว้าง ซึ่งไม่มีเพียงแค่วัดเท่านั้น ทั้งหมู่บ้าน ย่านตลาดของชุมชน คือสถานที่ที่พม่าเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่พม่าเลือกตั้งค่ายในจุดนี้คือชัยภูมิของตำบลปากน้ำประสบ ซึ่งเป็นจุดรวมของเส้นทางคมนาคมทางน้ำด้านตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงศรีอยุธยา อันเป็นเส้นทางลำเลียงไพร่พล เสบียงอาหาร ยุทธปัจจัยต่างๆ จากหัวเมืองแถบลพบุรี ทั้งยังเป็นจุดที่สามารถป้องกันการส่งกำลังเสริมจากหัวเมืองรอบนอกที่อาจยกมาช่วยได้อีกด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลที่พม่าจำเป็นต้องความคุมเส้นทางนี้ไว้
ดังนั้น ค่ายพม่าจึงมิได้มีขอบเขตจำกัดอยู่ที่วัดป่าฝ้ายเพียงแห่งเดียวอย่างที่กล่าวไว้ตอนต้น เพราะไพร่พลเรือนหมื่นไม่สามารถที่จะมาแออัดกันอยู่เพียงวัดแห่งเดียวได้ ยังมีวัดอื่นๆ ทั้งสองฟากแม่น้ำลพบุรีในตำบลปากน้ำประสบที่พม่าเข้ายึดและสร้างค่ายไว้ด้วย วัดที่อยู่ในรัศมีของบริเวณปากน้ำประสบนอกจากวัดป่าฝ้าย ที่สามารถสืบหาได้ปัจจุบัน มีดังนี้
1. วัดวรนายกรังสรรค์เจติยบรรพตาราม ชื่อเดิมคือ “วัดเขาดิน” เป็นวัดเก่าสมัยอยุธยา ได้รับการปฏิสังขรณ์โดยเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อมาได้บูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งโดยเจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์) สมุหนายกในสมัยรัชกาลที่ 4
2. วัดกร่าง ปัจจุบันมีสภาพเป็นวัดร้าง ตั้งอยู่ตรงปากน้ำประสบเช่นเดียวกัน แต่จะอยู่คนละฟากแม่น้ำโพธิ์สามต้น ตรงข้ามกับวัดป่าฝ้าย และตรงข้ามกับวัดวรนายกรังสรรค์เจติยบรรพตาราม ฝั่งแม่น้ำลพบุรี
3. วัดสบสวรรค์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัดป่าฝ้าย ริมฝั่งแม่น้ำลพบุรีด้านทิศตะวันตก วัดนี้มีชัยภูมิเป็นจุดสำคัญไม่แพ้วัดป่าฝ้าย เพราะตั้งอยู่ใกล้ปากคลองเกาะเลิ่งที่มาประสบกับแม่น้ำลพบุรี คลองเกาะเลิ่งนี้เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อไปยังแม่น้ำป่าสักซึ่งเป็นเส้นทางที่ไปถึงเมืองสระบุรี วัดนี้มีประวัติว่าได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2305 ทั้งยังมีตำนานเกี่ยวกับเจ้าหญิงเชื้อพระวงศ์กษัตริย์อยุธยาเสด็จประพาสทางชลมารค และเรือพระที่นั่งล่มลงจนเจ้าหญิงพระองค์นี้ทรงจมน้ำสิ้นพระชนม์ เพราะไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วยเนื่องจากติดกฎมณเฑียรบาลที่ว่า ห้ามมิให้แตะต้องพระวรกายเจ้าหญิง จากนั้นได้มีการอัญเชิญพระศพของเจ้าหญิงขึ้นถวายพระเพลิง ณ ที่ตรงนั้น สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์จึงโปรดให้สร้างวัดขึ้น ณ ที่ถวายพระเพลิงพระศพ ชื่อว่า “วัดศพสวรรค์” ทำให้ชาวบ้านแถบนั้นเรียกบริเวณปากคลองเกาะเลิ่งที่มาสบกับแม่น้ำลพบุรีนี้ว่า “ปากน้ำประสบ” ด้วยเช่นเดียวกัน วัดแห่งนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5
ดังนั้น ทั้ง 4 วัดนี้ จึงรวมอยู่ในพื้นที่ของค่ายใหญ่เนเมียวสีหบดี สอดคล้องกับพงศาวดารพม่าว่าตั้งค่ายเรียงรายสองฟากแม่น้ำรวมกันถึง 9 ค่าย มีอาณาบริเวณกว้างขวางเป็นอย่างมาก แต่ที่ในพงศาวดารของไทยมักจะระบุชื่อ “วัดป่าฝ้าย” ปากน้ำประสบว่าเป็นค่ายใหญ่ของพม่าเพียงวัดเดียว อาจเป็นเพราะชาวอยุธยารับรู้กันดีอยู่แล้วว่าตำบลปากน้ำประสบ มีศูนย์กลางชุมชนอยู่ที่วัดป่าฝ้าย และอาจเป็นจุดที่แม่ทัพใหญ่อย่างเนเมียวสีหบดีบัญชาการอยู่
กรุงศรีอยุธยาได้ส่งกองทัพยกขึ้นมาตีค่ายของเนเมียวสีหบดี 2 ครั้ง โดยใช้เส้นทางแม่น้ำโพธิ์สามต้นขึ้นไปถึงปากน้ำประสบ และต้องเข้าปะทะกับทหารพม่าที่ค่ายวัดป่าฝ้ายเป็นด่านแรก แต่ไม่ทันที่จะเข้าตีค่ายได้ทั้งหมดก็ถูกทัพพม่าตีแตกกลับมาทั้ง 2 ครั้ง โดยเฉพาะครั้งหลังสุดที่พระราชพงศาวดารระบุว่า มีชาวพระนครทั้งคฤหัสถ์และสมณะชวนกันตามกองทัพออกไปดูเขารบกัน เมื่อถูกพม่าตีแตกทั้งทหารทั้งชาวบ้านที่ชวนกันออกไปดูการรบก็โดนพม่าไล่ล่าฆ่าฟันตายเกลื่อนกลาด พวกที่รอดตายได้ถอยหนีกลับลงมาที่ตำบลโพธิ์สามต้น [6] นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผู้บันทึกพงศาวดารฝั่งอยุธยาจะจดจำวัดป่าฝ้าย ในฐานะที่เป็นค่ายใหญ่ของเนเมียวสีหบดีเพียงแห่งเดียว
หลังจากที่ทัพอยุธยาตีค่ายพม่าที่ปากน้ำประสบไม่สำเร็จ พม่าได้ทราบว่าใกล้จะถึงช่วงฤดูน้ำหลาก อีกทั้งยังได้รับคำสั่งจากมังมหานรธา แม่ทัพฝ่ายใต้ว่าต้องอยู่ล้อมกรุงศรีอยุธยาต่อไป เนเมียวสีหบดีจึงแบ่งกำลังเป็น 2 ทัพ เคลื่อนทัพจากค่ายใหญ่ที่ปากน้ำประสบ ทัพหนึ่งให้แยกลงไปหาที่ดอนตั้งค่ายทางทิศตะวันออกของกรุงฯ ส่วนอีกทัพหนึ่งเคลื่อนลงมาทางแม่น้ำโพธิ์สามต้น แล้วตั้งค่ายใหญ่ทางทิศเหนือของกรุงศรีอยุธยา [7] ที่ตำบลโพธิ์สามต้นต่อไป
…………
…ด้วยชัยภูมิที่ดีเยี่ยมนี้เอง จึงทำให้เนเมียวสีหบดีเลือกที่จะสร้างค่ายใหญ่ ณ ชุมชนปากน้ำประสบ เพื่อควบคุมเส้นทางคมนาคมทางน้ำ พร้อมทั้งปิดล้อมอยุธยาให้ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ซึ่งเป็นการบั่นทอนศักยภาพและกำลังของกรุงศรีอยุธยาให้อ่อนลงไปเรื่อยๆ อันเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนในการกุมความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ของทัพพม่าที่เหนือกว่ากรุงศรีอยุธยา
เชิงอรรถ
[1] “พระราชหัตถเลขาเรื่อง เสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า เมื่อ พ.ศ. 2451,” ใน ครบ 100 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชร วันที่ 18 สิงหาคม พุทธศักราช 2549. (จังหวัดกำแพงเพชร, 2550), น. 187.
[2] สุเจน กรรพฤทธิ์. 2310 อวสานกรุงศรี. (สำนักพิมพ์สารคดี, 2560), น. 84-85
[3] นายต่อ แปล. มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า. (สำนักพิมพ์มติชน, 2545), น. 234.
[4] “คำให้การชาวกรุงเก่า,” ใน ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง. พิมพ์ครั้งที่ 2. (สำนักพิมพ์แสงดาว, 2561), น. 134-135.
[5] นายต่อ แปล. มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า. น. 234-235.
[6] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 3, พิมพ์ครั้งที่ 11. (สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2559), น. 236.
[7] นายต่อ แปล. มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า. น. 242
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 ธันวาคม 2565