การเมืองเรื่องตุ๊เจ้าในยุคปฏิรูป : กรณีครูบาฝายหินเชียงใหม่

วัดฝายหิน เมืองเชียงใหม่ที่ท่านครูบาโสภา หรือครูบาฝายหินพำนักอยู่

การเมืองของสงฆ์เริ่มมีบทบาทอย่างจริงจังในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะช่วงปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน ขณะที่ฝ่ายอาณาจักรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพระองค์ และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฝ่ายพุทธจักรนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส อันมีแนวทางการปฏิรูปศาสนาไปในแนวทางการปฏิรูประบบเทศาภิบาล

หากผลของการปฏิรูปในวงการสงฆ์นั้น ทำให้เกิดผลกระทบกับคณะสงฆ์ในภูมิภาคหลายพื้นที่ ดังเช่น กรณีของ ครูบาโสภา แห่งวัดฝายหิน เมืองเชียงใหม่ ที่ ประทีป ฉายสี เขียนไว้ใน “การเมืองเรื่องตุ๊เจ้าในเวียงพิงค์เจียงใหม่ในยุคปฏิรูป : กรณี ครูบาโสภา แห่งวัดฝายหิน” (ศิลปวัฒนธรรม, กันยายน 2551) ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)


 

ประเด็นสำคัญของการปฏิรูปในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้เองเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของทางด้านการเมืองและการศาสนา กล่าวคือ ด้านการศาสนาได้ถูกผนวกเข้าสู่ส่วนกลางโดยยึดแม่แบบคณะสงฆ์กรุงเทพฯ เป็นหลักการมีโครงสร้างลดหลั่นแบบราชการ การนำระบบโรงเรียนมาใช้ในการจัดการศึกษาที่อาศัยการถ่ายทอดแบบเดียวกัน และมีเวลาเรียนที่แน่นอน ย่อมเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับการรู้หนังสือมีคุณค่ากว่าการเรียนรู้จากการฟัง หรือมุขปาฐะ [1]

การปฏิรูปในครั้งนี้ไม่ได้นำเฉพาะแบบแผนการปกครองเข้าไปเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังนำอิทธิพลจากส่วนกลางไปถึงท้องถิ่นต่างๆ ให้ทั่วถึงที่สุด โดยที่พุทธศาสนามีสถานะเป็นพุทธแบบทางการ ให้เข้าไปพร้อมกันด้วยมิได้ต่างอะไรจากบทบาทของคณะมิชชันนารี ที่เห็นได้เด่นชัดคือ กระบวนการผลิตซ้ำทางด้านอุดมการณ์ โดยการจัดตั้งสถาบันการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรออกไปเผยแพร่ คือควบคู่กับการระดมคนเข้าสู่สถาบันดังกล่าว

นอกจากนี้พระในเขตหัวเมืองหรือปริมณฑลที่ได้รับการศึกษาตามแบบที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อเรียนจบและได้กลับไปยังภูมิลำเนาของตนแล้วมีทัศนคติเชิงลบกับระบบการศึกษาของสงฆ์แบบเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีทัศนคติในทางลบกับวัฒนธรรมท้องถิ่นเดิมของตนว่าไร้ค่า ยังรวมไปถึงการไม่เคารพครูบาอาจารย์ที่เคยสอนว่าต่ำต้อยกว่า หรือด้อยพัฒนา ซึ่งผลของการปฏิรูปดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างสองวัฒนธรรมอันเป็นที่มาของความขัดแย้งในการบริหารจัดการ

เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่มณฑลพายัพหรือจังหวัดเชียงใหม่ในกรณีของครูบาวัดฝายหิน

ภูมิหลัง

นครพิงค์เชียงใหม่ หรือมณฑลพายัพในขณะนั้นยังเป็นหัวเมืองอิสระ หรือประเทศราชที่มีเจ้าหลวงเสมือนเป็นเจ้ามหาชีวิตเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด เมื่อมีการปฏิรูปคณะสงฆ์จากส่วนกลางได้ส่งผลกระทบต่อบรรดาหัวเมืองต่างๆ โดยถ้วนหน้ากัน โดยที่วัดธรรมยุตในหัวเมืองมีบทบาทในการเป็นศูนย์กลางการจัดการศึกษาและปฏิรูปคณะสงฆ์ ไม่เว้นเฉกเช่นมณฑลพายัพ โดยทางส่วนกลางได้มอบหมายให้พระนพิสีพิศาลคุณ หรือชาวบ้านทั่วไปรู้จักท่านในนามว่า “มหาปิง” เป็นตัวแทนในการวางระเบียบคณะสงฆ์ให้กับมณฑลพายัพอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของท่าน [2]

โดยท่านมีภูมิลำเนาเป็นชาวบ้านลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด แห่งเวียงพิงค์เชียงใหม่ ท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัยตั้งแต่บวชเป็นสามเณรที่สำนักวัดหัวข่วง เมืองเชียงใหม่ และได้รับการศึกษาสูงสุดถึงชั้นเปรียญธรรม 5 ประโยค และเป็นศิษย์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งถือได้ว่าเป็นวิธีการที่ถูกต้อง ที่ใช้ยุทธศาสตร์ที่เห็นว่าจะไม่มีใครรู้ดีเท่ากับคนพื้นถิ่นเดียวกัน เพื่อที่จะก่อให้เกิดความเรียบร้อยและบรรลุเป้าหมาย

ครูบาโสภา หรือครูบาฝายหิน

คณะสงฆ์ในเชียงใหม่ขณะนั้นเป็นพระในสังกัดมหานิกายเป็นส่วนมาก โดยมีท่านครูบาโสภา หรือครูบาฝายหินเป็นประธานสังฆราชาแห่งมณฑล หรือสมัยนั้นเรียกว่าพระสังฆราชาทั้ง 7 อันเป็นตำแหน่งพระเถระของเจ้าหลวงอินทวิชยานนท์เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในขณะที่ให้ความเคารพสูงสุด อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาแห่งคุ้มเจ้าหลวง ตลอดจนพระญาติวงศ์เสมอมา ในขณะที่พระนพิสีพิศาลคุณนั้นเป็นพระธรรมยุติกนิกาย ดังนั้นความขัดแย้งจึงได้เริ่มขึ้น

การปฏิรูปนำไปสู่ความขัดแย้ง

ถึงแม้ว่าพระนพิสีพิศาลคุณจะมีสมณศักดิ์หรือคุณวุฒิที่สูงกว่าภายใต้สัญญาบัตร แต่ตัวท่านเองนั้นก็มีชาติภูมิเป็นชาวเชียงใหม่ ก็ย่อมไม่เป็นที่พอใจแก่บรรดาพระภิกษุที่มีอาวุโสกว่าเป็นธรรมดา การเข้ามาจัดระเบียบคณะสงฆ์ในเวียงพิงค์นี้ท่านได้เริ่มเอาการศึกษาสมัยใหม่เป็นตัวนำ เป็นต้นว่าการเทศนาเป็นภาษาไทยกลางแผนใหม่ ด้วยน้ำเสียงที่คมชัดและลึกซึ้งทำให้ชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วเวียงพิงค์และเป็นที่ประทับใจของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ นับตั้งแต่พ่อเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าแม่ทิพเนตร พญาราชเสนา รวมทั้งสาวกสาธุชนทั่วไป โดยเฉพาะการแสดงพระธรรมเทศนาที่วัดหอธรรมที่ท่านเคยจำพรรษาอยู่ ในขณะที่พระสังฆราชาของเวียงพิงค์ของเจ้าหลวงนั้นก็เริ่มขาดความสนใจเพราะคนส่วนใหญ่ต้องการของใหม่ที่แปลกหูแปลกตา ซึ่งเป็นของธรรมดา [3]

แต่เหตุการณ์มิได้หยุดแต่เพียงเท่านี้ เหตุแห่งความขัดแย้งอยู่ที่วันหนึ่งพระนพิสีพิศาลคุณได้ชักชวนให้ครูบาจากวัดต่างๆ เข้ามาสังกัดธรรมยุติกนิกายแบบเดียวกับท่าน ปรากฏว่ามีผู้ที่เห็นด้วยกับท่านและเข้าร่วมประชุม เช่น ครูบาน้อย เจ้าอาวาสวัดเชียงมั่น กับวัดหัวข่วงและวัดอื่นๆ รวมถึงเจ้าคณะอำเภอต่างๆ ในเชียงใหม่ แต่ผลปรากฏว่ามีเพียงไม่กี่วัดเท่านั้นที่จะเข้าร่วม เนื่องจากเจ้าอาวาสส่วนใหญ่ให้ความเคารพและศรัทธาต่อพระสังฆราชาของตนมาก ซึ่งมีถึง 7 พระองค์ ตามขัตติยราชประเพณี

และอีกประเด็นหนึ่งที่พระเถระชั้นผู้ใหญ่ไม่ชอบ คือเจ้าคุณนพิสีพิศาลคุณเองก็เคยเป็นสามเณรพื้นเมืองเชียงใหม่แห่งสำนักวัดหัวข่วงมาก่อน ท่านครูบาฝายหินนั้นท่านทรงดำรงตำแหน่งสังฆราชาประมุขแห่งมหานิกายพื้นเมืองอยู่ก่อนแล้ว การที่เจ้าคุณนพิสีพิศาลคุณได้รับการศึกษาอย่างดีจากเมืองหลวงและเจริญก้าวหน้ามานั้น ก็ถูกมองว่า หาได้กตัญญูต่อครูบาอาจารย์ของตน แม้ว่าจะไม่ได้เป็นศิษย์ครูบาท่านโดยตรงก็ตาม

แม้ในสายตาของท่านเจ้าคุณนพิสีพิศาลคุณจะเห็นว่านิกายพื้นเมืองเดิมที่มีอยู่เป็นของที่ไร้คุณค่าก็ตาม แต่บรรดาลูกศิษย์ของท่านครูบาฝายหินแห่งมหานิกายเดิมนั้นต่างก็แกร่งในวิชาการแบบพื้นเมืองทั้งสิ้น ได้แก่ พระครูสุกัณศีล (ศรีโหม้) ภายหลังท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะอำเภอเมือง พระโพธิรังษี เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ องค์ที่ 5 พระครูญาณรังษี (อุดทา) แห่งวัดทุงยู ภายหลังท่านได้เป็นพระอภัยสารทะ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ องค์ที่ 4 และท่านพระคัมภีรธรรม (อินทจักรก้อนแก้ว) ภายหลังได้รับสมณศักดิ์เป็นพระอภัยสารทะ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ องค์ที่ 3 ซึ่งท่านเหล่านี้ต่างก็หนุ่มแน่นและทรงภูมิเช่นเดียวกับมหาปิง จึงไม่เข้าร่วมประชุมกับมหาปิง [4] และไม่ได้ปรากฏตัวที่วัดหอธรรมตามที่ได้นัดไว้เลย

เมื่อส่วนกลาง ปะทะ มณฑล

การที่เจ้าคุณนพิสีพิศาลคุณได้เชิญพระเถระผู้ใหญ่ไปประชุมร่วมกันที่วัดหอธรรม แต่ปรากฏว่าไม่มีพระภิกษุอาวุโสองค์ใดเข้าร่วมหรือปรากฏตัวที่วัดหอธรรมเลย เหมือนว่าท่านเจ้าคุณนพิสีพิศาลคุณถูกตบหน้าอย่างแรงนั่นเอง ท่านเจ้าคุณฯ ตอบโต้โดยการทำหนังสือร้องเรียนไปยังสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ที่กรุงเทพฯ ว่า ครูบาอุ่นเรือน โสภโณ เจ้าอาวาสวัดฝายหิน ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ เป็นผู้ยุยงส่งเสริมความกระด้างกระเดื่อง ไม่ยอมร่วมมือในการวางระเบียบการปกครองคณะสงฆ์แผนใหม่ตามที่พระองค์มีพระบัญชาไป

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุให้กรมสังฆการีในสมัยนั้นได้กราบอาราธนาครูบาฝายหิน (อุ่นเรือน โสภโณ) ไปชี้แจงข้อกล่าวหาที่กรุงเทพฯ

ขอไปปะกับเจ้าหน้อยเหียกำเต๊อะ (ขอได้ไปพบเจ้าน้อยเสียทีเถิด)

ข่าวการที่ครูบาฝายหินถูกตั้งข้อหาได้แพร่สะพัดในวงการคณะสงฆ์เชียงใหม่เป็นอย่างมาก ต่างวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา แต่สำหรับครูบาฝายหินแล้วท่านหาได้หวั่นไหวไม่ แม้แต่แม่เจ้าทิพเนตรชายาของเจ้าอินทวโรรสได้แนะนำให้ท่านเขียนหนังสือตอบโต้ไปแทนการเดินทางไปกรุงเทพฯ ด้วยตัวท่านเอง เนื่องจากขณะนั้นท่านอายุมากแล้วคือ 73 ปี เกรงว่าท่านจะเจ็บป่วยระหว่างการเดินทาง แต่ท่านได้กล่าวกับแม่เจ้าทิพเนตรชายาของเจ้าหลวงว่า [5]

“อาตมาอยู่ตี้ไหน ถ้าตึ๊กตี้ต๋ายหัวก่อยู่ตั๊ดฟ้าอย่างเดวกั๋น ขอหื้อได้ไปปะกับเจ้าหน้อยเหียกำเต๊อะ”

(อาตมาอยู่ที่ไหน ถ้าถึงเวลาที่จะตายแล้วหัวก็อยู่ตรงฟ้าเหมือนกัน ขอให้ได้ลงไปเฝ้าเจ้าน้อยเสียทีเถิด)

เจ้าน้อย หรือเจ้าหน้อยของท่าน (ตามภาษาพื้นเมืองล้านนา) คือพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในรัชกาลที่ 5 การเดินทางในครั้งนี้ท่านได้เดินทางโดยเรือ ล่องแก่งแม่ปิง โดยมีพระผู้ใกล้ชิดคอยอุปัฏฐาก 5 รูป คือ 1. ท่านครูบาคันธา เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องของท่าน 2. ครูบาอินทจักรก้อนแก้ว เจ้าอาวาสวัดเชตวัน 3. พระครูศรีโหม้ เจ้าอาวาสวัดศรีดอนไชย 4. ครูบาพระปลัดคำซาว เจ้าอาวาสวัดฝายหินองค์ต่อมา และ 5. ครูบาพระปลัดปัญญา เจ้าอาวาสวัดสันป่าขุย ตำบลสันปูเลย อำเภอดอยสะเก็ด และคณะผู้ติดตามอีกหลายท่าน

เมื่อท่านได้เดินทางถึงเมืองหลวงแล้วจุดหมายของท่านคือการได้พบเจ้าน้อยที่ท่านอยากพบก็บรรลุสมดังประสงค์โดยที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีได้ทรงทราบการเดินทางของท่าน และพระองค์ก็ได้ไปเฝ้าครูบายังที่พำนัก คือตำหนักวัดเบญจมบพิตร

ท่านครูบาได้กราบทูลเรื่องราวความยุ่งยากต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการวางระเบียบคณะสงฆ์ ที่ดำเนินการโดยเจ้าคุณนพิสีพิศาลคุณ อีกทั้งได้ดูหมิ่นสงฆ์มหานิกายว่าหย่อนยานพระธรรมวินัยและขาดระเบียบวินัยนานัปการ อีกทั้งไม่เคารพนับถือตัวท่านในฐานะที่เป็นประมุขฝ่ายสงฆ์ฝ่ายเหนือที่ได้รับแต่งตั้งจากเจ้ามาก่อนที่มหาปิงจะมาศึกษาเล่าเรียนจะได้มหาเปรียญเสียอีก

นอกจากท่านครูบาแล้วพระเถระที่ได้ติดตามอุปัฏฐากครูบาระหว่างการเดินทางต่างกราบทูลให้พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทราบถึงความยุ่งยากต่างๆ ที่เกิดขึ้น พร้อมกันนั้นได้ขอร้องให้พระองค์ทรงนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาให้องค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทราบด้วยเถิด

พระราชชายาเจ้าดารารัศมีได้นำเรื่องการปฏิรูปคณะสงฆ์เวียงพิงค์ที่วุ่นวายนี้ขึ้นกราบบังคมทูลองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตามที่ท่านครูบาได้ร้องขอ อีกทั้งต้องพระประสงค์ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีเองด้วยที่ไม่อยากเห็นบ้านเกิดเมืองนอนของพระองค์ต้องเดือดร้อนวุ่นวายโดยเฉพาะเรื่องของคณะสงฆ์เวียงพิงค์ อันเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงมาตั้งแต่โบราณกาล

ซึ่งเมื่อหลังจากที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลแล้ว องค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ครูบาฝายหินและคณะผู้ติดตามเข้าเฝ้า ณ พระบรมมหาราชวัง ซึ่งท่านครูบาได้เล่าให้ศิษยานุศิษย์ของท่านฟังหลังจากที่ท่านกลับสู่เวียงพิงค์เชียงใหม่แล้วว่า

“กอนในหลวงเปิ้นหันอาตมาก๋ำลังจะขึ้นขั้นไดไปเฝ้าเปิ้นตี้วังเต้าอั้น เปิ้นก่อฝั้งลงมาจู๋งมืออาตมาขึ้นไปตางบน ปอไปแผวตางบนแล้วก่อเข้ามาโอบกอดอาตมาเหมือนเปิ้นเปิงอกเปิงใจ๋เจ้นล้ำตี้ได้ปะ”

(เมื่อพระองค์ทรงเห็นอาตมากำลังจะขึ้นไปเข้าเฝ้าพระองค์ที่วังของพระองค์เท่านั้น พระองค์ทรงรีบลงมาหาอาตมาและจูงมือขึ้นบนพระราชฐาน และเมื่อถึงข้างบนแล้วพระองค์ยังได้ทรงโอบกอดอาตมาเพื่อแสดงความปลาบปลื้มยินดียิ่งนักที่ได้เห็นหน้าอาตมา) [6]

นอกจากนี้พระองค์ยังได้มีพระราชดำรัสอีกว่า

“ได้เห็นหน้าครูบาเชียงใหม่ หัวไม่ถึงฟ้าเหลืออีกสองนิ้วเท่านั้น ดีใจเหลือเกินที่ได้พบในครั้งนี้ จะขึ้นเชียงใหม่สักครั้งก็ไม่ถึง จะได้กราบไหว้บ้าง เป็นบุญมากที่ได้มาให้กราบไหว้ถึงเมืองหลวง”

เมื่อพระองค์ทรงไต่ถามเรื่องราวต่างๆ จนเป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้วจึงได้ไต่ถามเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีได้กราบบังคมทูลก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความเป็นมาของการแต่งตั้งพระสังฆราชาทั้ง 7 ของเจ้าหลวงอินทวิชยานนท์ ที่ชาวเวียงพิงค์เชียงใหม่ยังให้ความเคารพอย่างมากอีกทั้งยังไม่มีการยุบหรือแต่งตั้งใหม่ โดยมีท่านครูบาฝายหินเป็นประมุขสังฆราชาอยู่ด้วย

พระองค์ทรงเห็นว่าการที่ส่วนกลางเข้าไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงระบบโดยทันทีโดยไม่มีสาเหตุดังที่ว่านี้ย่อมไม่เป็นการสมควรกระทำอย่างยิ่ง ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้ทรงร่วมพระปฏิสันถารในครั้งนี้ด้วยและได้ทรงชี้แจงเรื่องนโยบายคณะสงฆ์ส่วนกลางให้ทราบ และได้ทรงขอให้ท่านครูบาและคณะได้ช่วยเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในด้านการศึกษา โดยให้วัดเป็นศูนย์กลางการเรียนวิชาการแผนใหม่แบบส่วนกลาง (ปริยัติธรรม) เพื่อช่วยให้ประชาชนได้รู้หนังสือมากขึ้น เพื่อสอดคล้องกับการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน ให้มีความเป็นอารยะดังเช่นประเทศตะวันตก

ซึ่งท่านครูบาและคณะก็กราบบังคมทูลว่าจะดำเนินการให้ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้ เมื่อมีความเข้าใจตรงกันแล้วองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสย้ำว่า [7]

“หวังใจว่าครูบาเชียงใหม่คงจะช่วยด้วยความเต็มใจและขอแสดงความเคารพต่อการแต่งตั้งของพระเจ้าอินทวิชยานนท์เจ้าหลวงเชียงใหม่ และขอให้ท่านเป็นเจ้าคณะสงฆ์เชียงใหม่ต่อไปเถิด”

เมื่อวันที่ฟ้าสดใส : ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร

และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่องค์แรก

วันรุ่งขึ้นหลังจากได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อหารือข้อราชการแล้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้มีพระบัญชาให้อธิบดีกรมสังฆการีเสนอชื่อพระราชาคณะจากส่วนกลางที่ครูบาฝายหินเห็นชอบเพื่อจะเดินทางไปร่วมวางระเบียบคณะสงฆ์เวียงพิงค์ ซึ่งท่านครูบาเองท่านได้เจาะจง “พระธรรมวโรดม (จ่าย)” เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรฯ พร้อมกันนี้ท่านครูบาได้รับพระราชทานสัญญาบัตรและพัดยศเป็น [8] “เจ้าคุณพระอภัยสารทะ สังฆปาโมกข์” เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่ศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เสมือนหนึ่งว่าท่านได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการนั่นเอง

ข่าวท่านครูบาฝายหินได้รับพระราชทานสัญญาบัตรและพัดยศในครั้งนี้นับเป็นเรื่องปีติยินดีแก่ชาวเชียงใหม่ในครั้งนั้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากศิษยานุศิษย์ของท่านต่างมีความกังวลในตัวท่านต่างๆ นานาเกี่ยวกับการลงไปเมืองบางกอกเพื่อรับฟังข้อกล่าวหา เมื่อมีข่าวที่น่ายินดีเช่นนี้ปรากฏขึ้นเสมือนหนึ่งว่าฝันร้ายนั้นได้หายไปสิ้น และมหาชนชาวเชียงใหม่ต่างรอคอยการกลับสู่มาตุภูมิของท่านอย่างใจจดใจจ่อเพื่อรอต้อนรับท่านอย่างสมเกียรติ

และวันที่ท่านเดินทางมาถึงโดยทางเรือและเข้าเทียบท่าที่วัดชัยมงคล ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ มหาชนชาวเชียงใหม่และพระภิกษุสามเณรจากทุกสารทิศได้มาต้อนรับการกลับมาของท่าน และได้นำครูบานั่งคันหามกางสัปทนแห่รอบเมืองเชียงใหม่ การกลับมาของท่านในครั้งนี้ท่านได้จำพรรษาที่วัดเชียงยืน ตำบลช้างเผือก และเป็นเจ้าอาวาสวัด 2 แห่ง คือ วัดฝายหิน เชิงดอยสุเทพบ้านเกิดของท่าน กับวัดเชียงยืนที่พำนักแห่งนี้

ภูมิหลังท่านครูบา

ครูบาฝายหิน หรือเจ้าคุณอภัยสารทะ นามเดิมของท่านมีชื่อว่า “ควาย” ตามที่บิดามารดาท่านตั้งให้ เป็นชาวบ้านเชิงดอยสุเทพ โดยบรรพบุรุษของท่านเป็นชาวเชียงแสนที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยพระยากาวิละ ในยุคที่เรียกว่า “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” (เก็บผักใส่ตะกร้า เก็บข้าใส่เมือง) ท่านถือกำเนิดเมื่อวันอังคาร ปีมะโรง พ.ศ. 2375 ในยุคของเจ้าหลวงพุทธวงศ์ หรือเจ้าหลวงแผ่นดินเย็น เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ 4

เมื่อเจริญวัยบิดามารดาได้นำท่านไปเป็นลูกศิษย์ของพระสุธรรมกิติเถระ เจ้าอาวาสวัดป่าแดงหลวง หรือสำนักรัตนมหาวิหารแห่งสิงหลนิกายบนม่อนดอยเล็กๆ ใต้บ้านของท่าน โดยที่พระสุธรรมกิติเถระรูปนี้ท่านมีความปราดเปรื่องในทางวิปัสสนาธุระ (นั่งกรรมฐานเพื่อชำระจิตให้สะอาด) และคันถธุระ (พระธรรมคำสอนภาษาบาลี) จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ท่านครูบาฝายหินท่านจะปราดเปรื่องเรื่องภาษาบาลีและภาษามคธ แม้กระทั่งวัตรปฏิบัติอันเคร่งครัดที่ทำให้ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบสมควรแก่การสักการะแก่สาธุชนทุกชนชั้น

เมื่อท่านครูบาได้มาเป็นศิษย์พระสุธรรมกิติเถระแล้ว ท่านได้รับชื่อใหม่ที่อาจารย์ของท่านเปลี่ยนให้เป็น “อุ่นเฮือน” (ภาษาพื้นเมืองล้านนา) หรืออุ่นเรือน อันเป็นนามมงคลที่หมายถึงผู้นำความสุขมาสู่บ้านเรือนหรือครอบครัว ครั้นเมื่อถึงเวลาอุปสมบท หรือที่ภาษาล้านนาเรียกว่า “เป๊กเป๋นตุ๊เจ้า” ท่านได้รับฉายาว่า [9] “โสภโณ” ซึ่งนามเรียกของท่านที่ปรากฏโดยทั่วไปจะรู้จักกันในนามครูบาฝายหินบ้าง เจ้าคุณอภัยฯ บ้าง หรือไม่ก็ครูบาโสภา แต่ชื่ออุ่นเรือนของท่านกลับไม่ค่อยปรากฏว่ามีใครเรียกหรือคุ้นเคยมากนัก

…………

ท่านครูบาฝายหินมีศิษย์ที่ใกล้ชิดชื่อพระครูปลัดคำซาว เจ้าอาวาสวัดฝายหินองค์ต่อมา ซึ่งได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับท่านมานับตั้งแต่การลงไปเข้าเฝ้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ 5 และท่านครูบาฝายหินได้มรณภาพเมื่อ พ.ศ. 2458 ด้วยโรคชรา สิริอายุได้ 83 ปี [10]

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] พระไพศาล วิสาโล. (2546). พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกวิกฤต. น. 50

[2] ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง. (2538). เพ็ชรลานนา (2). น. 180.

[3] เรื่องเดียวกัน, น. 184.

[4] เรื่องเดียวกัน, น. 185.

[5] เรื่องเดียวกัน อ้างแล้ว.

[6] อ้างแล้ว, น. 186.

[7] อ้างแล้ว, น. 187.

[8] เรื่องเดียวกัน.

[9] เรื่องเดียวกัน, น. 181.

[10] เรื่องเดียวกัน อ้างแล้ว.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 ธันวาคม 2565