ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
งานพระเมรุมาศและพระเมรุ มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อส่งเจ้านายพระองค์ที่ล่วงลับเสด็จสู่สวรรคาลัย แต่กระนั้นก็มีเหตุขัดข้องในการจัดงานซึ่งกระทบต่อพระเกียรติยศอยู่เสมอ แต่ปรากฏหลักฐานในสมัยกรุงศรีอยุธยา จวบจนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีความขัดแย้งถึงกับประกาศ “ไม่เผาผี”
ใคร “ไม่เผาผี” ใคร? อะไรเป็นเหตุ?
เรื่องนี้ นนทพร อยู่มั่งมี อธิบายไว้ใน “‘พระโกษฐลั่นยินแสยงพอแจ้งเหตุ’ : การ ‘ไม่เผาผี’ ในงานพระเมรุวังหน้า สมัยรัชกาลที่ 1” นิตยสารศิลปวัฒนธรรม พฤศจิกายน 2551 ดังที่คัดย่อบางส่วนมานี้ (เว้นวรรค จัดย่อหน้าใหม่ เพิ่มหัวข้อย่อย และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม เพื่อความสะดวกในการอ่าน)
ไม่เผาผี เพราะเหตุใด?
ก่อนจะ “ไม่เผาผี” นั้นจะต้องมีการ “เผาผี” ก่อนเสมอ ทั้ง 2 คำนี้เป็นภาษาพูดหรือภาษาปากที่แสดงการรับรู้เกี่ยวกับพิธีศพในสังคมไทยซึ่งมีความหมายดังนี้
เผาผี, ปลงศพ คือ ทำให้ซากศพคนตายถูกไฟไหม้เป็นเถ้าไป, คนเอาศพวางลง แล้วเอาฟืนใส่เข้า เอาไฟใส่เข้าให้ไหม้นั้น [1]
ไม่เผาผี เป็นสำนวน หมายถึง คำประกาศตัดญาติขาดมิตรโดยหมายว่า แม้ผู้นั้นจะตายแล้วก็ไม่ให้อภัย [2]
ความหมายของคำ เผาผี เป็นการบอกวิธีการเผาศพอย่างสามัญ ที่ปฏิบัติกันตั้งแต่ราษฎรไปจนถึงเจ้านาย เป็นคำกลางๆ ที่เข้าใจโดยทั่วไป ส่วนคำ ไม่เผาผี มีความหมายในเชิงความสัมพันธ์ทางสังคม เพราะงานศพเป็นโอกาสสุดท้ายที่ญาติมิตรจะแสดงความไว้อาลัย หรือขออโหสิกรรมต่อผู้ล่วงลับ ไม่ว่ายามเมื่อยังมีชีวิตจะขัดแย้งมากน้อยเพียงไรก็ตาม
การไม่เผาผี จึงเป็นมาตรการลงโทษทางสังคม หรือจากเครือญาติขั้นรุนแรงที่สุด
การผลัดแผ่นดินของพระมหากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยา มีทั้งวิธีการสืบราชสมบัติและการแย่งชิงราชสมบัติ หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า การปราบดาภิเษก พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยามี 34 พระองค์ ผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน 33 ครั้ง ด้วยวิธีการสืบราชสมบัติ 21 ครั้ง และวิธีการชิงราชสมบัติ 12 ครั้ง
เมื่อถึงคราวผลัดเปลี่ยนแผ่นดินแต่ละครั้ง ลูกต่างแม่ น้องชาย พี่ชาย มักก่อเหตุแย่งชิงบัลลังก์จากพระมหากษัตริย์ผู้เป็นลูกชาย ซึ่งสืบต่อราชสมบัติ ด้วยวิธีการนำกองกำลังที่ตนมีอยู่เข้าแย่งชิงราชสมบัติ เกิดการต่อสู้รบพุ่งจนเสียชีวิตเลือดเนื้อไพร่พลทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อฝ่ายแย่งชิงได้ชัยชนะ เสนาบดีมุขอำมาตย์จึงตั้งพิธีการปราบดาภิเษก [3]
เจ้านายฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำ มักจบลงที่การถูกสำเร็จโทษ อาจจะด้วยท่อนจันทน์หรือวิธีอื่นๆ ตามแต่ผู้มีชัยจะเห็นสมควร ซึ่งพิธีศพมักจะไม่ถูกกล่าวถึง แต่สันนิษฐานว่า พระศพของเจ้านายจะถูกฝังในบริเวณที่เรียกว่าโคกพระยา หรือหากมีการจัดงานถวายก็คงเป็นแบบเรียบง่ายที่สุด ในบางครั้งมีการจัดงานพระบรมศพหรือพระศพ แต่ก็พบว่าไม่ถูกต้องตามแบบแผนพระราชพิธี อันถือเป็นการลดพระเกียรติยศ
เช่นคราวที่ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงจัดการกับพระบรมศพ พระเจ้าท้ายสระ ที่ยกราชสมบัติให้กับเจ้าฟ้าอภัยพระโอรสจนเกิดเป็นศึกกลางเมืองเมื่อเปลี่ยนรัชกาล [4] ความว่า
“ทรงพระกรุณาตรัสว่า จะเอาพระบรมศพทิ้งน้ำเสีย ไม่เผาแล้ว พระยาราชนายกว่าที่กระลาโหมนั้น กราบทูลเป็นหลายครั้ง พระเจ้าอยู่หัวจึงให้ทำพระเมรุขนาดน้อย ขื่อห้าวาสองศอก ถวายพระเพลิงตามประเพณี” [5]
ข้อความข้างต้นบ่งชี้ว่า หากเจ้านายเป็นศัตรูทางการเมือง จะไม่มีการจัดงานพระบรมศพหรือพระศพ ซึ่งรวมถึงกรณีสำเร็จโทษเจ้านายด้วย แต่กรณีนี้การที่ทรงจัดพระเมรุขนาดน้อยถวาย นับว่าผิดแบบแผนงานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ เพราะถ้าจัดอย่างสมบูรณ์แบบแล้วจะต้องเป็นพระเมรุขนาดใหญ่หรือพระเมรุเอกใช้ขื่อยาว 7 วา [6]
อาจถือได้ว่า เป็นครั้งแรกที่เจ้านายประกาศไม่เผาผีด้วยเหตุผลทางการเมือง ซึ่งจะมีเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ในสมัยต่อมา
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงเป็นพระประมุขฝ่ายวังหน้าและพระอนุชาธิราช เสด็จสวรรคต 3 พฤศจิกายน ปี 2346 ขณะมีพระชนมายุ 60 พรรษา ในเบื้องแรก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โปรดให้เตรียมงานพระบรมศพอย่างสมพระเกียรติ โดยโปรดให้รื้อเอาทองที่หุ้มพระโกศกุดั่นใหญ่กุดั่นน้อยที่ทรงพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอทั้ง 2 พระองค์ มาหุ้มพระโกศกรมพระราชวังบวรฯ และให้มีหมายประกาศโกนผมทั้งแผ่นดิน เว้นแต่คนผมมวย ผมเปีย ผมจุก [7] ซึ่งการประกาศไว้ทุกข์ครั้งนี้ นับว่าเทียบเท่าพระมหากษัตริย์
แต่หลังจากเกิดกรณีพระโอรสทั้ง 2 พระองค์ ในกรมพระราชวังบวรฯ เตรียมก่อกบฏ ทำให้ทรงเปลี่ยนพระราชหฤทัยที่จะจัดงานพระบรมศพคราวนี้
การสวรรคตของกรมพระราชวังบวรฯ เกิดขึ้นท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งระหว่างวังหลวงและวังหน้า ที่ปรากฏเค้าลางจากพระราชพงศาวดารใน พ.ศ. 2339 ฝ่ายวังหลวงจับได้ว่า วังหน้าผลัดเปลี่ยนไพร่พลชุดใหม่ เพื่อหวังชนะการแข่งเรือ จนต้องเลิกแข่งนับแต่บัดนั้น ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ บาดหมางพระทัยไม่ลงมาเฝ้าเป็นเวลากว่า 2 เดือน รวมไปถึงการที่วังหลวงปฏิเสธเพิ่มเงินเบี้ยหวัดให้กับข้าราชการวังหน้า
ในครั้งนี้ กรมพระราชวังบวรฯ ไม่ลงมาเฝ้าอีกเลย ทำให้พระยาเกษตร (บุญรอด) ขุนนางฝ่ายวังหน้า นำปืนขึ้นป้อมตระเตรียมไพร่พล ส่วนวังหลวงเมื่อทราบข่าวก็ปฏิบัติเช่นกัน จนเกือบจะรบกลางเมือง ท้ายสุดเหตุการณ์คลี่คลายลง เมื่อสมเด็จพระพี่นางทั้ง 2 พระองค์เข้ามาเกลี้ยกล่อม [8]
อีกเหตุการณ์หนึ่ง เมื่อครั้งกรมพระราชวังบวรฯ ทรงเป็นแม่ทัพยกไปตีทัพพม่าที่ล้อมเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2345 ขณะนั้นพระองค์ทรงพระประชวรหนัก ต้องประทับที่เมืองเถิน จึงทรงให้กรมพระราชวังหลังเป็นแม่ทัพขึ้นไปราชการศึกที่เชียงใหม่แทนและได้ชัยชนะ ส่วนทัพหลวงนำโดยกรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราช กับทัพของเจ้าอนุเมืองเวียงจันทน์มาถึงเชียงใหม่ หลังจากที่ทัพพม่าแตกไปแล้วถึง 7 วัน ทำให้กรมพระราชวังบวรฯ ทรงตำหนิทัพหลวงเป็นอันมาก
พระองค์จึงทรงปรับโทษทัพหลวงและทัพเวียงจันทน์ ด้วยการให้เร่งทัพขึ้นไปโจมตีทัพพม่าที่เมืองเชียงแสน ส่วนทางพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกลับไม่ทรงตำหนิทัพหลวง แต่ทรงตำหนิกรมพระราชวังหลังว่า ไม่ติดตามโจมตีทัพพม่าให้ราบคาบ ซึ่งกรมพระราชวังบวรฯ ทรงแก้ต่างให้ว่า เป็นเพราะพระองค์ประชวร ทำให้กรมพระราชวังหลังทรงรีบกลับมาดูแลพระอาการ [9]
รัชกาลที่ 1 ทรงขัดแย้ง กรมพระราชวังบวรฯ
ความขัดแย้งปรากฏเค้าลางที่รุนแรงขึ้น ตามพระราชพงศาวดารกล่าวถึงพระราชดำรัสของกรมพระราชวังบวรฯ เป็นอุบายให้แก่พระโอรสทั้ง 2 พระองค์ คือ พระองค์เจ้าลำดวน และ พระองค์เจ้าอินทปัต ในช่วงบั้นปลายพระชนมชีพของพระองค์ถึง 2 ครั้ง
ในครั้งแรกขณะที่ทรงพระประชวรหนัก ทรงใคร่จะทอดพระเนตรพระที่นั่งต่างๆ ที่ทรงสร้างไว้ให้สบายพระราชหฤทัย เมื่อเสด็จขึ้นพระเสลี่ยงทำตามพระประสงค์ ทรงกล่าวว่า “ของนี้อุตส่าห์ทำด้วยความคิดและเรี่ยวแรงเป็นหนักหนา หวังว่าจะได้อยู่ชมให้สบายนานๆ ก็ครั้งนี้ไม่ได้อยู่แล้ว จะได้เห็นครั้งนี้เป็นที่สุด ต่อไปก็จะเป็นของท่านผู้อื่น” [10]
ครั้นต่อมาหลังจากที่พระอาการประชวรมากขึ้น พระองค์เสด็จขึ้นพระเสลี่ยงมา วัดมหาธาตุ เพื่อนมัสการลาพระพุทธรูปพระประธานในพระอุโบสถ แล้วมีพระราชบัณฑูรดำรัสเรียกพระแสงเพื่อจะทรงอุทิศถวายเป็นราวเทียน (หลังจากหายสาบสูญไปหลายสิบปี มีการนำ “พระแสงราวเทียน” ออกมาจัดแสดงเป็นครั้งแรก ในพิธีสมโภช 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2566 ถึง 2 มกราคม 2567 – กอง บก.)
ครั้นเจ้าพนักงานติดจุดเทียนถวายตามพระประสงค์แล้ว พระองค์ทรงปรารภจะเอาพระแสงแทงพระองค์ถวายพระ แต่พระองค์เจ้าลำดวนเข้าแย่งพระแสงไว้ได้ ทำให้ทรงทอดพระองค์ลง ทรงพระกรรแสงแช่งด่าพระองค์เจ้าลำดวนต่างๆ และเจ้านายในที่นั้นพากันทูลเชิญพระองค์ขึ้นพระเสลี่ยงกลับ
ระหว่างทางมีพระดำรัสว่า “สมบัติทั้งนี้พระองค์ได้กระทำศึกสงครามกู้แผ่นดินขึ้นได้ ก็เพราะพระองค์ทั้งสิ้นไม่ควรจะให้สมบัติตกไปได้แก่ลูกหลานวังหลวงผู้ใดมีสติปัญญาก็ให้เร่งคิดเอาเถิด” [11]
ภายหลังพระดำรัสครั้งนี้ ทำให้พระโอรสทั้ง 2 พระองค์ ร่วมกับพระยากลาโหม (ทองอิน) ที่กรมพระราชวังบวรฯ รักเหมือนบุตรบุญธรรม พากันรวบรวมผู้คนฝึกซ้อมเตรียมก่อการ และแผนการนี้อาจเป็นที่ระแคะระคายแก่ฝ่ายตรงข้าม เห็นได้จากฝ่ายวังหลวงต้องถวายการอารักขาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกอย่างเข้มงวด ขณะเสด็จฯ วังหน้า เพื่อมาเยี่ยมพระอาการ
หลังจากกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคต บรรยากาศของความหวาดระแวงยิ่งปรากฏ เพราะบรรดาเจ้านายวังหลวงทุกพระองค์ที่ตามเสด็จสรงน้ำและทรงเครื่องพระบรมศพ ล้วนขัดดาบเข้าไปทั้งสิ้น [12]
ระหว่างงานพระบรมศพ ทางวังหลวงได้จับกุมพระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัต ร่วมกับพระยากลาโหม (ทองอิน) มาไต่สวน ทราบว่าทั้งหมดจัดหาคนมีฝีมือมาชุบเลี้ยงซ่องสุมไพร่พล เพื่อเตรียมการประทุษร้ายในวันถวายพระเพลิง เจ้านายทั้ง 2 พระองค์ถูกถอดจากอิสริยยศเป็นเพียงหม่อมลำดวน หม่อมอินทปัต ก่อนนำไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ รวมทั้งผู้ร่วมก่อการทั้งหมดถูกประหารชีวิตในคราวเดียว…
กรณีเจ้านายวังหน้าคิดก่อกบฏ ทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระราชดำริที่จะ “ไม่เผาผี” คือ ไม่จัดงานถวายพระเพลิงพระบรมศพกรมพระราชวังบวรฯ ตรัสว่า “กรมพระราชวังบวรรักลูกยิ่งกว่าแผ่นดินให้สติปัญญาให้ลูกกำเริบจนถึงคิดประทุษร้ายต่อแผ่นดิน เพราะผู้ใหญ่ไม่ดีจะไม่เผาผีแล้ว” [13]
ทำให้เหล่าขุนนางทั้งหลายทัดทานว่า การไม่ทำพระเมรุถวายพระเพลิงไม่สมควร เพราะราษฎรที่ไม่ทราบความจริงจะพากันติเตียนได้ จึงทรงเปลี่ยนพระทัยและรับสั่งด้วยว่า “ขุนนางให้เผาก็จะเผา แต่จะทำพระเมรุนั้นจะทำบูชาพระบรมธาตุ เมื่อสมโภชพระบรมธาตุแล้วจึงจะเผาต่อภายหลังกันความนินทา” [14]
เหตุการณ์นี้ยังคล้ายกับสมัยกรุงศรีอยุธยาครั้งที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมีพระราชดำริไม่จัดงานพระบรมศพพระเจ้าท้ายสระ และแม้จะจัดก็ไม่ได้เป็นไปตามแบบแผนการถวายพระเกียรติ ครั้งนี้ก็เช่นกัน พระเมรุถูกใช้เป็นเครื่องสมโภชพระบรมธาตุตามพระราชประสงค์ เพื่อกันข้อครหาจากเหล่าราษฎรมากกว่าถวายพระเกียรติแก่พระอนุชาธิราช พระเมรุถูกสร้างใน พ.ศ. 2347 และดำเนินการไปตามพระราชดำรัสทุกประการ
การถอดพระยศเจ้านายในความผิดฐานกบฏ เป็นประหนึ่งธรรมที่ปฏิบัติกันมานับแต่ต้นราชวงศ์ ต่างกับสมัยกรุงศรีอยุธยาเจ้านายหลายพระองค์ถูกสำเร็จโทษขณะที่ยังไว้พระยศ เช่น เจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศร พระโอรสของพระเจ้าท้ายสระ พ่ายศึกกลางเมืองต่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจนถูกกำจัด หรือกรณีเจ้านาย 3 พระองค์ หรือเจ้าสามกรม พระโอรสของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศร่วมกันก่อกบฏในพระบรมมหาราชวัง ถูกพระเจ้าอุทุมพรสำเร็จโทษ แต่ไม่ปรากฏว่ามีการถอดพระยศแต่อย่างใด [15] การใช้มาตรการนี้กำจัดศัตรูทางการเมืองสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงไม่จำเพาะชีวิตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการบั่นทอนพระเกียรติยศในอีกทางหนึ่ง
และที่ยิ่งกว่านั้นคือการประกาศ “ไม่เผาผี” ที่ถือเป็นการตัดญาติขาดมิตรแม้ว่าจะจัดงานพระบรมศพถวายก็ตาม
อ่านเพิ่มเติม :
- ความหมองหมางระหว่างพระเจ้าอยู่หัววังหลวง และกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
- คำร่ำลืออาถรรพ์ “วังหน้า” กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ ตรัสสาปแช่ง
- “พระแสงราวเทียน” ของ “วังหน้าพระยาเสือ” สมบัติชาติที่สูญหาย คืนสู่วัดมหาธาตุฯ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เชิงอรรถ :
[1] แดนบีช แบรดเลย์. อักขราภิธานศรับท์. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2514), น. 432.
[2] พจนานุกรมฉบับมติชน. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), น. 696.
[3] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, บรรณาธิการ. อยุธยา : Discovering Ayutthaya. พิมพ์ครั้งที่ 5. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าแห่งประเทศไทย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2550), น. 242-243, 246.
[4] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), น. 236-237. กล่าวว่า เมื่อครั้งก่อนสิ้นแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระทรงมอบราชสมบัติให้กับเจ้าฟ้าอภัย ซึ่งเป็นพระราชโอรส แต่ฝ่ายสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระอนุชาของพระเจ้าท้ายสระไม่ทรงยินยอม ต่อมาเจ้าฟ้าอภัยได้ขึ้นราชาภิเษก สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลจึงได้ปราบปรามจนสามารถปราบดาภิเษกเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมโกศในเวลาต่อมา
[5] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับพระจักรพรรดิพงษ์เจ้ากรม (จาด) และ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2543), น. 238.
[6] คำให้การขุนหลวงหาวัด, พิมพ์ครั้งที่ 1. (นนทบุรี : โครงการเลือกสรรหนังสือมหาวิทยาลัยสุโขทัย ธรรมาธิราช, 2547), น. 227.
[7] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1. น. 91.
[8] เรื่องเดียวกัน, น. 77-78.
[9] เรื่องเดียวกัน, น. 88, 90.
[10] เรื่องเดียวกัน, น. 93.
[11] เรื่องเดียวกัน. น.๙๓.
[12] เรื่องเดียวกัน, น. 91.
[13] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1. น. 95.
[14] เรื่องเดียวกัน, น.95
[15] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับพระจักรพรรดิพงษ์เจ้ากรม (จาด) และ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), น. 237, 247.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 ธันวาคม 2565