เกร็ดนอกพงศาวดาร “การ์ตูนต้องห้าม” ชุดแรกและชุดเดียว วาดสมัยพระจอมเกล้าฯ

ภาพลายเส้นบ้านริมคลองในกรุงสยามลอยอยู่เหนือน้ำทั่วไป

ราชสำนักสยามเป็นที่รู้จักกันว่าคือ “เมืองต้องห้าม” ในสายตาของชาวต่างประเทศ เช่นเดียวกับเมืองต้องห้ามในราชสำนักแมนจู และราชสำนักโมกุล ซึ่งต่างก็ตัดขาดออกจากสังคมเมืองและโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง ที่เรียกต้องห้ามเพราะมีกฎมณเฑียรบาลอันเคร่งครัดรัดกุมบังคับใช้อยู่ เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของพระบรมวงศานุวงศ์และเพื่อพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่คนธรรมดามิอาจล่วงละเมิดได้แม้เพียงการเมียงมองด้วยสายตา ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในราชสำนักในอดีตกาล จึงเป็นของต้องห้ามที่คนภายนอกไม่มีโอกาสล่วงรู้ เช่นภาพความเป็นไปต่างๆ ซึ่งจะถูกเปิดเผยในเรื่องนี้

ผู้เขียนไม่ได้ตั้งใจจะค้นลึกลงไปถึงความเร้นลับเหล่านั้น แต่ในขณะที่ค้นคว้าสอบสวนเหตุการณ์สำคัญตอนหนึ่งในพงศาวดารรัชกาลที่ 4 อยู่นั้น พบว่าช่วงปลายรัชสมัยประมาณปี พ.ศ. 2409 (ค.ศ. 1866) ขณะที่ทุกสิ่งทุกอย่างดูราบรื่นเรียบร้อยดีอยู่แล้ว เกิดมีความระหองระแหงบางอย่างเป็นเรื่องอื้อฉาวทางการทูตระหว่างองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับทูตฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อ “โอบาเรต์” (Aubaret) ผู้วางอำนาจบาตรใหญ่เกินตำแหน่งหน้าที่ ประพฤติตนเป็นอันธพาลหันมาใช้อำนาจในทางมิชอบ จนเกิดความขุ่นข้องมัวหมองพระราชหฤทัย เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธ ไม่ทรงอนุญาตให้เข้าเฝ้าอีกต่อไป

ความเฉาโฉดของโอบาเรต์ไม่เพียงแต่สร้างความเข้าใจผิดทางพระราชไมตรี ที่ทรงมีอยู่กับพระจักรพรรดิ นโปเลียนที่ 3 เท่านั้น ทูตฝรั่งพิเรนคนนี้ยังบังอาจยับยั้งหน่วงเหนี่ยว “เครื่องมงคลราชบรรณาการ” อันมีความหมายยิ่งจากราชสำนักฟองเตนโบล คือ “พระแสงดาบนโปเลียน” ที่พระจักรพรรดิพระราชทานเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือข่มขู่ต่อรองข้อเรียกร้องทางการเมืองที่โอบาเรต์ดำเนินอยู่ในขณะนั้น ทำให้เกิดความชะงักงันทางการทูตกับทางการฝรั่งเศสนับจากนั้น

แต่ก็มีเหตุบังเอิญอีกเช่นกันที่ในระหว่างนั้นมีเจ้าชายชาวฝรั่งเศส 3 พระองค์ ที่เป็นนักผจญภัยขนานแท้เดินทางท่องเที่ยวรอบโลกอยู่ และกำลังผ่านเข้ามาเยือนกรุงสยาม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะเปิดเผยเรื่องฉ้อฉลในพฤติกรรมของทูตฝรั่งเศส จึงมีพระบรมราชานุญาตเป็นกรณีพิเศษ ให้เจ้าชายผู้สูงศักดิ์เหล่านั้น ซึ่งประกอบด้วยดุ๊กแห่งอลองซอง (le duc d’ Alencon) เจ้าชายเดอ กองเด (le prince de Conde) และดุ๊กแห่งปองติแอฟรึ (le duc de Penthievre) พร้อมด้วยเคานต์โบวัวร์ (le comte de Beauvoir) พระสหาย โดยการนำของคุณพ่อโลนาร์ดี (Pere Lonardi) บาทหลวงชาวฝรั่งเศสผู้ที่ทรงคุ้นเคยและโปรดปรานมาก่อน เป็นผู้นำเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด [1]

ความประจวบเหมาะนี่จะอำนวยให้คนแปลกหน้ากลุ่มนี้ได้เข้าไปเยี่ยมเมืองต้องห้ามโดยไม่คาดฝัน!

โอกาสพิเศษนี้เกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง ระหว่างการพำนักอยู่ในกรุงเทพมหานครนาน 9 วัน ระหว่างวันที่ 11-19 มกราคม พ.ศ. 2409

การเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงสยามของชาวยุโรปชุดนี้ ได้รับการเปิดเผยโดยเคานต์โบวัวร์ นักท่องเที่ยวธรรมดาๆ ผู้ไม่เคยคาดหวังโอกาสนั้นมาก่อน เขาเพียงแต่ตั้งใจไว้แต่ต้นว่าจะจดบันทึกช่วยจำสิ่งต่างๆ ที่จะได้พบเห็นไว้เรียบเรียงให้บิดามารดาทางบ้านได้อ่านเท่านั้น [1] เหตุผลทั้งหมดจึงเป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เพื่อทรงวิสาสะคุ้นเคยกับเชื้อพระวงศ์จากฝรั่งเศสในโอกาสที่หาได้ยาก จึงโปรดให้มีขึ้นในที่รโหฐานจริงๆ พระบุคลิกลักษณะและพระราชอัธยาศัยที่แท้จริง ตลอดจนเหตุการณ์บ้านเมืองที่ดำเนินอยู่ จึงถูกนำออกมาจากเมืองต้องห้าม ปรากฏในรูปร้อยแก้วที่ให้รายละเอียดและภาพสเก็ตช์อย่างรวดเร็ว ที่ถูกวาดเก็บไว้ได้ทันท่วงทีในทัศนะของชาวต่างประเทศ ล้วนเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์นอกพงศาวดารที่แปลกที่สุดชุดหนึ่งในรัชกาลนี้ที่เคยพบมา

เพียง 12 เดือนก่อนการมาถึงของคณะเจ้าชายฝรั่งเศสพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือกษัตริย์องค์ที่ 2 เสด็จสวรรคต คณะชาวฝรั่งเศสได้รับเชิญให้เข้าไปถวายบังคมพระบรมศพ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยในพระบวรราชวัง เคานต์โบวัวได้ถ่ายทอดภาพจำลองของพระบรมศพที่บรรจุอยู่ในพระบรมโกศ ในมุมมองที่ชาวตะวันตกนึกไม่ถึงมาก่อน คำบอกเล่าทั้งหมดจึงเป็นสีสันของเมืองไทยที่ผู้บันทึกพบเห็นชีวิตฝ่ายในของราชสำนักที่ผู้คนอยากรู้อยากเห็นอยู่ตลอดเวลา

สิ่งที่ติดออกมาด้วยคือพระราชปฏิพัทธ์และพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และที่เป็นข่าวใหญ่อยู่ในเวลานั้น คือประเด็นที่เกี่ยวกับนโยบายขยายอาณานิคมของฝรั่งเศส และพฤติกรรมฉาวที่ทูตฝรั่งเศสผู้โอหังแสดงอยู่

เรื่องมีอยู่ว่าในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2406 เขมรตกเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส ด้วยสนธิสัญญาที่พระนโรดมลงพระนาม ณ เมืองอุดงมีชัย แต่ด้วยความอาลัยหวงแหนในพระราชอาณาเขตเก่าแก่นี้ รัฐบาลไทยได้ทำ “สัญญาลับ” ขึ้นฉบับหนึ่งกับเขมรในเดือนธันวาคมศกนั้น [2] เพื่อยืนยันรับรองว่าเขมรยังเป็นประเทศราชของไทยอยู่ และเพื่อเป็นการผูกมัดเขมรไว้กับไทยตลอดไป

สัญญาลับฉบับดังกล่าวก่อให้เกิด “สงครามเย็น” ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส

โอบาเรต์ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกงสุลฝรั่งเศสคนใหม่ ใช้ความพยายามที่จะทำให้สัญญาลับระหว่างเขมรกับไทย “เป็นโมฆะ” และบีบบังคับให้ไทยรับรองว่าจะสละสิทธิ์เหนือเขมรตลอดไป ฝ่ายไทยปฏิเสธโดยสิ้นเชิง โอบาเรต์เริ่มใช้เล่ห์เพทุบายอาศัยการนำเรือรบติดอาวุธที่ทันสมัยที่สุด ชื่อเรือปืน “มิตราย” เข้ามาในลำแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อข่มขู่รัฐบาลไทยให้ปฏิบัติตามโดยปราศจากข้อแม้ใดๆ

ในที่สุดก็ทำได้สำเร็จ ฝ่ายไทยยอมจำนนโดยดุษฎีในเดือนเมษายน พ.ศ. 2408 นับเป็นการใช้กำลังทหารต่างชาติเป็นครั้งแรกกลางเมืองบางกอก ตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์ตั้งมา

ความเป็นปฏิปักษ์อย่างพร้อมเพรียงกันต่อฝรั่งเศส ซึ่งมีโอบาเรต์เป็นตัวแทนจึงระเบิดขึ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ แม้ว่าปกติจะเข้าเฝ้าได้ง่ายมาก และคุ้นเคยกับโอบาเรต์เป็นพิเศษอยู่แล้ว กลับให้การต้อนรับเขาอย่างเย็นชาและชิงชัง เพื่อเป็นการตอบโต้

โอบาเรต์จึงแสดงปฏิกิริยาหน่วงเหนี่ยวไม่ยอมมอบ “ของขวัญ” (เป็นพระแสงดาบ 2 เล่ม ซึ่งมีความหมายอย่างยิ่ง เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของผู้นำโลกที่สนับสนุนให้เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นสืบทอดราชบัลลังก์ในสมัยต่อมา-ผู้เขียน) ของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ซึ่งมีมาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อการเจรจากับตัวแทนฝรั่งเศสดูไม่เป็นผลอีกต่อไป ในที่สุดจึงมีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้จัดส่งคณะทูตพิเศษไปเจรจาความถึงในกรุงปารีส เพื่อทูลเสนอต่อพระจักรพรรดิโดยตรงในเรื่องการปักปันเขตแดนเขมร และเพื่อประณามความประพฤติของโอบาเรต์

ราชทูตไทยชุดนี้นำโดยพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) บุตรชายคนโตของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ และทูตอื่นๆ อีก 3 ท่าน ส่วนล่ามภาษาฝรั่งเศสคือบาทหลวงโลนาร์ดีคนเดิม จะสังเกตได้ว่าคุณพ่อโลนาร์ดีเป็นสาธุคุณชาวฝรั่งเศสที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ไว้วางพระราชหฤทัยที่สุดในขณะนั้น คณะทูตชุดนี้จึงเป็นชุดที่ 2 ที่ได้ไปถึงฝรั่งเศสในรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าคณะราชทูตชุดแรกในปี พ.ศ. 2404 แต่กลับมีการกล่าวถึงน้อยมาก แม้ในหน้าประวัติศาสตร์ไทยก็ตาม [3]

ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดในที่เกิดเหตุบางตอนของเคานต์โบวัวร์ ที่ผู้เขียนสามารถเรียบเรียงและจับภาพไว้ได้จาก “ต้นฉบับ” จริง…

13 มกราคม 1866

เวลาที่รอคอยก็มาถึง พวกเราถูกนำมาหน้าพระที่นั่งทำให้สามารถมองเห็นคิงมงกุฎเสด็จผ่านเจ้าหญิงและเจ้าชายน้อยๆ หลายองค์ พวกเขารีบหมอบลงทันที และไม่กล้าแม้แต่จะสบตาผู้ซึ่งเป็นที่รักของพวกเขา พระโอรสธิดาจำนวนกว่า 10 องค์ช่างน่ารักน่าเอ็นดู พวกเขามีเศียรทีโกนจนเตียนโดยรอบ เหลือพระเกศาไว้เป็นจุกตรงกลางโดยล้อมด้วยพวงมาลัยสีขาว ปักติดไว้ด้วยหมุดทองคำที่หัวเป็นพลอยเม็ดใหญ่ พวกเขาปล่อยท่อนบนลำตัวไว้เปลือยเปล่า แต่คล้องพระศอไว้ด้วยสายสร้อยขนาดใหญ่หลายเส้น ประดับอยู่ด้วยเพชรนิลจินดาหลายขนาด สวมผ้าผืนใหญ่ที่ขมวดไว้เบื้องหลัง และมีกำไลขนาดใหญ่ประดับเพชรพลอยสวมอยู่ที่ข้อเท้าทั้งสอง

เบื้องหลังเป็นแถวนางกำนัลในของกษัตริย์ นางสนมจำนวนหลายสิบคนถือหีบหมากประดับเพชร บ้างประคองหีบบุหรี่ บ้างถือพระแสงประจำพระองค์ บ้างก็ถือถาดและกระโถนทองคำ เดินนวยนาดออกมาเป็นขบวน พวกนางส่งยิ้มอันสง่างามมายังพวกเรา ช่างไม่มีความสมดุลกันเลย ระหว่างกษัตริย์ผู้ชราภาพ ที่ห้อมล้อมอยู่ด้วยนางสนมรุ่นสาวหลายสิบคน กษัตริย์ทรงเป็นศูนย์กลางในที่ชุมนุมนั้น ทรงสวมพระมหามงกุฎเป็นรูปพีระมิดทองคำ สวมฉลองพระองค์เสื้อคลุมยาวที่ประดับตกแต่งไปด้วยเพชรนิลจินดานับร้อยเม็ด ทรงพระชนมายุประมาณ 63 พรรษา มีสภาพเหมือนคนเมื่อยล้าจากการทำงานหนักมาหลายสิบปี

สามารถตรัสภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว แต่ก็มีคำภาษาละตินและคำไทยปนออกมาตลอดเวลา การสนทนาของเราก็เริ่มต้นขึ้น ทรงกล่าวถึงพระราชกรณียกิจของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส และความสัมพันธ์กับกรุงสยามมาแต่โบราณกาล แล้วทรงหันพระพักตร์ไปคายหมากจากพระโอษฐ์ 2-3 ครั้งทุกๆ 1 นาที ทรงเปลี่ยนเป็นหมากคำใหม่จากกล่องทองคำฝังเพชรที่วางอยู่ใกล้ๆ

ท้องพระโรงกลางเป็นตึกแบบตะวันตก แต่มีเครื่องตกแต่งแบบตะวันออกปนอยู่มาก นอกจากนั้นเห็นได้ว่ามีของบรรณาการจากกษัตริย์ในยุโรปวางอยู่ทั่วไปหมด ของบางอย่างที่พวกเรามองข้ามไปในยุโรปกลับมีความหมายที่นี่ พระราชดำรัสดูเคร่งขรึมเป็นพิธีรีตอง แต่ก็ทรงพระสรวลอยู่ตลอดเวลา เรามองเห็นขวดน้ำอัดลม ขวดน้ำหอมโอ เดอ โคโลญจ์ และถ้วยกาแฟชุด อยู่ในตู้ต่างๆ ทำให้มองดูคล้ายบ้านผู้ดีอังกฤษกลายๆ ได้ยินมาว่ามักจะมีพ่อค้าหัวใสจากยุโรปนำของมาเสนอขายพระองค์อยู่เสมอ บ้างก็โฆษณาว่าของแบบนั้นแบบนี้ใช้ในราชสำนักยุโรป

ก่อนได้เวลาถวายบังคมลา กษัตริย์หันไปตรัส 2-3 คำ กับนางกำนัลที่นั่งเหนียมอายอยู่ใกล้ๆ พวกเธอหันไปหยิบขวดเหล้าซึ่งวางอยู่ในตู้ ภายใต้ภาพวาดขนาดใหญ่ฝีมือเจโรม จิตรกรผู้โด่งดังของพวกเรา (คือภาพวาดทูตไทยถวายสาส์น ที่พระราชวังฟองเตนโบล-ผู้เขียน)

หนึ่งในดรุณีแรกรุ่นที่งดงามที่สุดในรินน้ำจัณฑ์ตามกระแสรับสั่ง ในขณะที่กษัตริย์ต้องการให้พวกเราชนแก้วด้วย หลังจากนั้นมีพระราชดำรัสให้นางกำนัลนำบัตรพระนามาภิไธยมาแจกให้พวกเราคนละใบ ทรงให้ความเป็นกันเองกับพวกเรามาก เราถวายบังคมลา ก็ยังทรงพระกรุณาตรัสสั่งให้ขุนนางในที่นั่นพาพวกเราไปชมในเมือง

วันรุ่งขึ้นคณะของเราและข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมคารวะที่สถานกงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงสยาม ได้พบปะกับเมอซิเออร์โอบาเรต์ และกัปตันเรือผู้ต้อนรับเราอย่างอบอุ่น ก่อนที่เราจะถามท่านกงสุลถึงข่าววิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ที่ได้ยินมา ท่านกลับเป็นฝ่ายเริ่มในทันที และขอความเห็นใจในเรื่องดังกล่าวท่านเล่าว่าคิงมงกุฎทรงรู้เห็นเป็นใจกับพระเจ้านโรดมทำสัญญาลับขึ้นมาฉบับหนึ่ง เพื่อยกเลิกสัญญาที่ถูกกฎหมายของฝ่ายฝรั่งเศส โดยสัญญาลับนี้เพิ่งมาถึงบางกอกอย่างมิดชิด มีสายของฝรั่งเศสแจ้งว่าทั้งหมดนี้เป็นความจริง แม้แต่กงสุลอังกฤษเองก็ให้ท้ายสยามในทำนองแบบมีพิรุธ เพื่อยับยั้งการเป็นผู้นำของฝรั่งเศสในภูมิภาคนี้

ท่านกงสุลบอกพวกเราว่าเขมรต้องอยู่ในอาณัติของฝรั่งเศส มิฉะนั้นเขาคงต้องถูกปลดออกไป ในที่สุดอินโดจีนก็คือเค้กก้อนโตที่ฝรั่งเศสและอังกฤษไม่มีวันพบได้อีกในยุโรป พวกเรายังไม่ลืมส่วนที่เสียไปในแอฟริกาและดินแดนอาหรับ แต่ก็ยังโชคดีที่มียูนนานและเมืองจีนเหลืออยู่ ข้าพเจ้าคิดว่าถ้าจำเป็นต้องอยู่ในภูมิภาคนี้ต่อไปอาจจะต้องเคารพกติกาที่ทำไว้กับสยามอย่างจริงใจ และเราควรจะประนีประนอมคู่แข่งของเรา (อังกฤษ) ให้มีความจริงใจเช่นกัน

กงสุลของเราได้ “ตัดสินใจ” เองด้วยเหตุผลส่วนตัวที่จะไม่ทูลเกล้าฯ ถวายพระแสงดาบของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แด่คิงมงกุฎ โดยบอกว่าท่านจะทูลเกล้าฯ ถวายสิ่งของทั้งหมดนี้ก็ต่อเมื่อเรื่องเมืองเขมรได้รับการจัดแจงให้เป็นที่เรียบร้อยเสียก่อน

ในคืนนั้นเองพวกเราได้ยินมาว่าคิงมงกุฎมีพระราชวินิจฉัยให้ส่งราชทูตไปกรุงปารีส เพื่อเจรจาเรื่องดินแดนในฝันที่ทุกคนต้องการกันนักหนา

บ่ายวันหนึ่งขุนนางได้นำพวกเราไปชมละครกลางแจ้ง (เข้าใจว่าเป็นเรื่องรามเกียรติ์-ผู้เขียน) นักแสดงโดยมากแต่งตัวคล้ายคนในวังนั่นเอง เห็นมีตัวละครที่เล่นเป็นกษัตริย์รวมอยู่ด้วย การแสดงโอเปร่าของชาวสยามนี้ช่างเหมือนชีวิตในวังจริงๆ

การแสดงรามเกียรติ์ที่คณะได้ไปชม

วันหนึ่งเราได้ยินมาว่าเวลานี้เป็นช่วงที่คิงมงกุฎทรงวิตกกังวลที่สุด ทรงอยู่ในระหว่างการร่างพระราชสาส์นสำคัญที่จะพระราชทานไปกับราชทูตสำหรับถวายพระจักรพรรดิของเราในปารีส ทรงนัดประชุมขุนนางชั้นผู้ใหญ่หลายคืน แต่พอถึงตอนเช้าก็ทรงฉีกพระราชสาส์นนั้นทิ้งเสีย เพราะยังไม่เป็นที่ถูกพระทัย แล้วก็ทรงเริ่มเขียนใหม่อีกในวันรุ่งขึ้น ใครจะคิดว่าเป็นเวลาเจ็ดวันเจ็ดคืนที่ทุกคนต้องทนทุกข์ทรมาน เพื่อพระราชสาส์นเพียงฉบับเดียวเท่านั้น ที่ทุกฝ่ายเฝ้ารอคอยจนกว่าจะสำเร็จ

พวกเราเชื่อว่าฝรั่งเศสได้ค้นพบขุมทรัพย์ถูกที่แล้ว ในส่วนตัวข้าพเจ้าคิดว่าศักดิ์ศรีในชัยชนะของเราคือผลกำไรจากการค้าขาย ในดินแดนที่อุดมสมบูรณ์นี้ ประชาชนที่นี่เทิดทูนบูชากษัตริย์มากเกินไปจนไม่มีทางที่พวกเขาจะทรยศพระองค์ได้ แต่หากว่ามีหนทางยึดครองดินแดนที่ขึ้นอยู่กับสยามเพื่อผลประโยชน์อื่นๆ ก็อาจจะเป็นสิ่งที่น่าทำที่สุด

บาทหลวงโลนาร์ดีเป็นบุคคลที่ทำให้ชาวสยามรู้จักการถ่ายรูป แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมด เพราะท่านยังเป็นผู้นำไฟฟ้าไปสู่ราชสำนัก พรุ่งนี้แล้วที่เราจะออกเดินทางกลับไปสิงคโปร์โดย เรือชื่อเจ้าพระยา เมื่อกษัตริย์ทรงทราบว่าเราจะไปเข้าจริง ก็มีพระราชดำริให้นำคณะเจ้าชายทั้ง 3 เข้าเฝ้าเพื่ออำลา

17 มกราคม 1866

พวกเราถูกนำไปสู่ท้องพระโรงใหญ่ในพระที่นั่งชื่อ อนันตสมาคม ขุนนางกระซิบบอกเราว่า การที่คิงมงกุฎทรงเชิญมาในวันนี้เป็นกรณีพิเศษที่ไม่มีใครมีวาสนาบ่อยนัก บัดนี้ทรงมีความคุ้นเคยกับพวกเรามากขึ้น ตรัสว่า ‘ฉันพอใจพวกเธอมาก จะให้รูปไว้เป็นที่ระลึก’ เรามารู้ตอนหลังว่าทรงส่งพระรูปไปให้พระประมุของค์สำคัญๆ ในต่างประเทศเท่านั้น การพระราชทานพระรูปของพระองค์ให้พวกเราจึงเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงที่สุด ทรงนำคณะเราเข้าไปในห้องๆ หนึ่งทางด้านหลัง อันเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ราชสำนักฝ่ายใน’ ของพระบรมมหาราชวังที่แท้จริง

พระโอรสธิดาและเจ้านายฝ่ายในเป็นจำนวนมากอยู่ในที่นั้น ทุกพระองค์มีความตื่นเต้นตกใจที่เห็นคนแปลกหน้าอย่างเราโผล่เข้ามา กลุ่มผู้หญิงราว 20 คนขวัญหายในการมาเยือนอย่างกะทันหันของเรา ทั้งหมดทิ้งตัวลงหมอบกระแตอยู่กับพื้น ข้าพเจ้าคาดคะเนดูว่ามีจำนวนไม่ต่ำกว่า 160 คน เป็นผู้หญิงทั้งสิ้น พวกที่หมอบไม่ทันก็หนีไปหลบอยู่หลังบันได และมีอีกหลายสิบคนวิ่งขึ้นบันไดไปเหมือนผึ้งแตกรัง สักพักหนึ่งก็โผล่แต่นัยน์ตาแหวกม่านออกมาจ้องดูเราเหมือนดวงตากวางป่าในยามวิกาล กล่าวได้ว่าคณะของเราและพวกผู้หญิงมีความตกใจพอๆ กัน

มีอยู่นางเดียวที่ไม่หนีไปไหน เธอเป็นหญิงวัยกลางคนท่าทางสง่างาม ตกแต่งเรือนร่างด้วยเพชรพลอยงามระยิบ กษัตริย์เดินตรงไปยังกลุ่มเจ้าจอมรุ่นใหญ่ แล้วจูงมือเจ้าจอมคนหนึ่งออกมายืนเคียงข้างพระองค์ จากนั้นจึงอนุญาตให้พวกเราสัมผัสมือ (เช็กแฮนด์) กับนางด้วย พวกเราทำตามเพื่อแสดงความเคารพในคำสั่ง ทรงปรบมือให้ทุกคนหลบเข้าไปข้างในทันที ตรัสว่า เจ้าจอมมารดาผู้นี้ให้ลูกแก่ฉัน 3 คนและนางเป็นภรรยาที่ดีคนหนึ่ง

พอตรัสเสร็จก็ปลีกพระองค์ไปจูงมืออีกคนออกมาให้พวกเรารู้จัก ตรัสอีกว่า เจ้าจอมมารดาคนนี้ให้ลูกฉันถึง 10 คน เธอเป็นคนที่ดีที่สุด ขณะที่มีพระราชดำรัสในเรื่องอื่นๆ กับพวกเรา เจ้านายฝ่ายใน พระโอรสธิดา และนางกำนัลเป็นจำนวนมากก็ทยอยออกมาห้อมล้อมพระองค์ ดูคล้ายกับเทพธิดาที่ห้อมล้อมเทพเจ้าอยู่ในสรวงสวรรค์

ข้าพเจ้าจำได้ว่าพวกเราคำนับทุกคนในที่นั่น และตั้งใจกับตัวเองว่าทันทีที่มีโอกาสจะจดบันทึกประสบการณ์อันน่าตื่นเต้นทั้งหมดไว้บนแผ่นกระดาษ เพื่อมิให้ตกหล่นหลงลืมไป สำหรับข้าพเจ้าแล้วรู้สึกว่าราชสำนักสยามที่ได้เห็นเป็นเมืองที่ไม่ได้อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง มันช่างเหมือนดินแดนในเทพนิยาย ที่ชาวยุโรปเราอ่านกันในหนังสือนิทานอาหรับราตรีมากกว่า

20 มกราคม 1866…

คณะของเราพร้อมกันบนเรือเมล์เจ้าพระยา เพื่อเดินทางสู่สิงคโปร์ บนเรือวันนี้เราถูกแนะนำให้รู้จักคณะราชทูตสยามที่กำลังจะอาศัยเรือลำเดียวกัน เพื่อเดินทางไปต่อเรือเมล์ที่ท่าเมืองสิงคโปร์สำหรับการเดินทางสู่ประเทศฝรั่งเศส ไม่น่าเชื่อว่าราชทูตท่านนี้กำลังจะนำพระราชสาส์นสำคัญที่สุดของคิงมงกุฎ และคำประณามกงสุลฝรั่งเศสที่เราเพิ่งอำลา ไปสู่พระจักรพรรดิของเราในเวลาไม่ช้านี้ ก่อนที่เรือจะยกสมอออกจากท่า ได้มีเรือบดหลายลำนำหมู่ภรรยาทั้งหลายของท่านราชทูตสยาม คะเนว่าจำนวนประมาณ 30-35 คนขึ้นมาร่ำลาท่านอย่างอาลัยอาวรณ์ เป็นภาพสุดท้ายที่ทำให้เราตื้นตันมากกับเมืองที่เรากำลังจะจากไปนี้”

เมษายน ค.ศ. 1866 (พ.ศ. 2409) คณะราชทูตไทยเดินทางถึงกรุงปารีส พระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ได้เข้าเฝ้าพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ในทันที เพื่อถวายฎีกา พร้อมกับกราบบังคมทูลเรื่องราวอันยืดยาวในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คำร้องขอทำให้พระจักรพรรดิได้ทรงสดับด้วยพระองค์เองถึงสถานการณ์ และความไม่พอใจของไทยในเรื่องสนธิสัญญาฝรั่งเศส-เขมร ค.ศ. 1863 (พ.ศ. 2406)

อีก 3 เดือนต่อมานายโอบาเรต์ทูตฝรั่งเศส ก็ถูกปลดออกจากตำแหน่ง และเดินทางกลับกรุงปารีส ต่อมาได้กลายเป็นคนวิกลจริต เป็นที่รังเกียจของสังคมในปันปลายชีวิต

อีก 5 เดือนต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต ภาพลักษณ์ของเมืองไทยและเหตุการณ์ร่วมสมัยในครั้งนั้นถูกตีพิมพ์เผยแพร่ทันเวลา ในปีที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ สิ้นพระชนม์นั่นเอง

บันทึกการเดินทางของเคานต์โบวัวร์ได้รับการยกย่องโดยนักโบราณคดียุโรป ว่าเป็นแหล่งข้อมูล “แบบไม่เป็นทางการ” ที่น่าเชื่อถือที่สุด ชิ้นหนึ่งจากยุคนั้นตราบจนทุกวันนี้

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หนังสืออ้างอิง :

[1] le Comte de Beauvoir. Voyage Autour du Monde (เรืjองสยาม หน้า 459-536), Paris, 1868

[2] เพ็ญศรี ดุ๊ก, ศ.ดร. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 19. ราชบัณฑิตยสถาน, 2539

[3] _______. การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย. ราชบัณฑิตยสถาน, 2542


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2565