ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
คณะนักโบราณคดีของจีนขุดค้นซากฐานของบ้านหลังหนึ่ง ในหมู่บ้านหย่างเสา มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน พบซากบ้านโบราณ อายุเก่าแก่กว่า 5,000 ปี พร้อมคูน้ำ และโบราณวัตถุ
หลี่ซื่อเหว่ย เจ้าหน้าที่จากสถาบันมรดกวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลเหอหนาน ระบุว่าบ้านหลังนี้อาจเคยเป็นอาคารขนาดใหญ่ที่มีกำแพงดินอัด และอาจมีพื้นที่มากกว่า 130 ตารางเมตร สันนิษฐานว่ามาจากยุควัฒนธรรมหย่างเสาตอนปลาย อารยธรรมยุคหินใหม่ในแถบตอนกลางของลุ่มแม่น้ำเหลือง (แม่น้ำฮวงโห) ถือเป็นต้นธารสำคัญของอารยธรรมจีนในสมัยต่อมา และเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากเทคโนโลยีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาขั้นสูง
หลี่ซื่อเหว่ย กล่าวว่า “นับเป็นการค้นพบซากบ้านขนาดใหญ่ครั้งแรก หลังจากมีการขุดค้นแหล่งโบราณคดีหมู่บ้านหย่างเสาในปี 1921 โดยการค้นพบนี้มอบข้อมูลใหม่สำหรับการศึกษาประเภท รูปทรง และเทคนิคการสร้างบ้านในยุคดังกล่าว”
คณะนักโบราณคดียังขุดพบคูระบายน้ำ 4 แห่ง และโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมจำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมถึง “ขวานหยก” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจทางการทหาร
หลี่ซื่อเหว่ย ระบุว่าการค้นพบซากบ้านโบราณแสดงให้เห็นว่าชุมชนยุควัฒนธรรมหย่างเสามีประชากรจำนวนมาก การพัฒนารุ่งเรือง และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการป้องกันที่สมบูรณ์ ซึ่งมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาความซับซ้อน และกระบวนการกำเนิดอารยธรรมในลุ่มแม่น้ำเหลืองในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์
ย้อนกลับไปเมื่อ ค.ศ. 1921 คณะนักโบราณคดีได้ทำการสำรวจขุดค้นแหล่งโบราณคดีหมู่บ้านหย่างเสาในอำเภอเหมี่ยนฉือเป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดของงานโบราณคดีจีนสมัยใหม่ ขณะที่การขุดค้นซึ่งกำลังดำเนินการอยู่นี้ ถือเป็นการขุดค้นทางโบราณคดี ครั้งที่ 4 ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 2020 และยังคงดำเนินงานจนถึงปัจจุบัน
หมายเหตุ : เนื้อหานี้เรียบเรียงขึ้นจากรายงานในบริการข่าวสารภาษาไทยของสำนักข่าวซินหัว “จีนพบซาก ‘บ้าน’ เก่าแก่กว่า 5,000 ปี พร้อมคูน้ำ-โบราณวัตถุ” เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2565