ทำไมขงเบ้งถูกเรียกขานว่า “ฮกหลง (ฝูหลง)” หรือ “ว่อหลง” ?

ขงเบ้ง ภาพพิมพ์สมัยราชวงศ์หมิง

พงศาวดารสามก๊กจี่ ภาคจ๊กก๊ก บทประวัติขงเบ้ง เผยซงจือทำอรรถาธิบายโดยอ้างอิงข้อความจาก “เซียงหยางจี้ (บันทึกเมืองเซียงหยาง)” ว่า “เล่าปี่ไปขอคำแนะนำเรื่องสภาวการณ์บ้านเมืองจากสุมาเต๊กโช (ซือหม่าเต๋อเชา) สุมาเต๊กโชกล่าวว่า ‘ปัญญาชนหรือบัณฑิตทั่วไป ไหนเลยจะรู้สภาวการณ์ที่แท้จริงของยุคสมัย? อัจฉริยบุคคลจึงจะเข้าใจความจริงแห่งยุคสมัยได้ ปัจจุบันนี้ก็มีแต่ฮกหลง (ฝูหลง-มังกรซุ่ม) กับฮองซู (เฟิ่งฉู-หงส์อ่อน) เท่านั้น’

เล่าปี่ถามว่า ‘คือใคร?’ ตอบว่า ‘ขงเบ้งกับบังทอง (ชื่อรองว่าบังซื่อหยวน)’ สุมาเต๊กโชเรียกขงเบ้งว่าฮกหลงเพราะขณะนั้นขงเบ้งเป็นปัญญาชนเปี่ยมความรู้ที่เก็บตัวไม่ยอมไปรับราชการ

ฮกหลง (มังกรซุ่ม) มีความหมายคล้ายกับว่อหลง (มังกรหลับ, มังกรไสยาสน์) ซึ่งหมายถึงขงเบ้งมีความรู้และสติปัญญาเป็นยอดแห่งยุคแต่กลับมีปฏิปทาไม่แสวงยศศักดิ์ เก็บตัวทำไร่ไถนาอยู่

ขงเบ้งมีสมญาว่า “ว่อหลง-มังกรหลับ” นั้นมีคำอธิบายอีกอย่างหนึ่งอยู่ในนิยายสามก๊ก (สามก๊กเอี้ยนหงี) ตอนที่ 36 เขียนไว้ว่า เนื่องจากโจโฉจับแม่เป็นตัวประกัน ชีซี (สี่ว์ซู่) จึงจำจากเล่าปี่ไปสวามิภักดิ์ต่อโจโฉ ก่อนออกเดินทางได้เสนอตัวขงเบ้งต่อเล่าปี่ว่า “จูกัดเหลียง (จูเก่อเลี่ยง-ขงเบ้ง) ทำนาอยู่กับจูกัดกิ๋น (จูเก่อจวิน) นองชายที่ลำหยง (หนันหยาง) ขับขานโศลกบท ‘เหลียงฟู่หยิน-รำพันเหลียงฟู่’ อยู่เสมอ ถิ่นที่เขาอยู่มีภูเขาชื่อว่อหลงกัง (สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลังเรียกเขาโงลังกั๋ง) จึงตั้งสมญาตนเองว่า ว่อหลงเซียนเซิง (บัณฑิตอาวุโสแห่งว่อหลงกัง)”

ขงเบ้งไม่เคยออกจากถิ่นที่อยู่ แต่กลับวิเคราะห์สถานการณ์บ้านเมืองได้ชัดเจน นอกจากเป็นเพราะรอบรู้อ่านหนังสือมากและมีปัญญาเหนือคนทั้งหลายแล้ว ยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภูเขาว่อหลงกัง (โงลังกั๋ง) ซึ่งเขาเลือกเป็นถิ่นที่อยู่

ว่อหลงกังอยู่ที่เมืองหนันหยางในยุคนั้น ในยุคราชวงศ์ฮั่นเมืองหนันหยางมีความสำคัญทั้งในด้านการทหารและการคมนาคม ใน “หลงจงตุ้ย-ถกยุทธศาสตร์หลงจง” ซึ่งอธิบายให้เล่าปี่ฟัง ขงเบ้งใช้วิสัยทัศน์อันกว้างไกลวิเคราะห์ความสำคัญด้านภูมิยุทธศาสตร์ของมณฑลเก็งจิ๋วซึ่งปกครองเมืองหนันหยางอยู่ว่า “เก็งจิ๋วด้านเหนืออาศัยแม่น้ำฮั่นกับแม่น้ำเหมี่ยน ได้ประโยชน์ราบรื่นไปจนถึงทะเลหนันไห่ ตะวันออกเชื่อมต่อแดนอู๋ไคว่ (มณฑลเจียงซูและเจ้อเจียง) ตะวันตกทะลุถึงปาสู่ (มณฑลเสฉวน) เป็นถิ่นสำคัญทางยุทธศาสตร์”

การเลือกถิ่นเก็บตัวที่เมืองหนันหยางนี้จึงสามารถวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองและการชิงชัยของขุนศึกทั้งหลายได้รอบด้าน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ที่มา :

เฉิงเสี่ยวฮั่น. “ทำไมขงเบ้งถูกเรียกขานว่า ‘ฮกหลง (ฝูหลง)’ หรือ ‘ว่อหลง’?” 101 คำถามสามก๊ก. หลี่ฉวนจวินและคณะ, เขียน. ถาวร สิกขโกศล, แปล. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. .105-107


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2560