วัดราชโอรสฯ ที่รัชกาลที่ 3 ทรงผูกพันถึงกับรับสั่งว่า “ตายแล้ว” จะมาอยู่ที่นี้

ต้นพิกุล วัดราชโอรสฯ
ต้นพิกุล วัดราชโอรสฯ ที่มีเรื่องเล่าว่า รัชกาลที่ 3 เคยรับสั่งว่า “ตายแล้ว” จะมาอยู่ที่นี้ (ภาพจาก www.matichonacademy.com)

รัชกาลที่ 3 ทรงมีความผูกพันกับ วัดราชโอรสฯ หรือวัดจอมทอง ตั้งแต่ครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ จนมีเรื่องเล่ากันว่า พระองค์เคยมีรับสั่งว่า “ถ้าข้าตายแล้ว ข้าจะมาอยู่ที่ต้นพิกุล [ที่วัดแห่ง] นี้”

วัดราชโอรสฯ เป็นวัดเก่าของชุมชนดั้งเดิมที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในพระราชพงศาวดารระบุว่า “เป็นวัดข้าหลวงเดิมได้ทรงกระทำมาแต่ยังเป็นกรมอยู่” หมายความว่า รัชกาลที่ 3 ทรงปฏิสังขรณ์วัดเก่านี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2360 เมื่อยังดำรงพระยศเป็น กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ครั้งสร้างวัดเสร็จแล้วโปรดให้มีงานฉลองเมื่อ พ.ศ. 2374

การบูรณะปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ ในแต่งกลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติฯ ที่เสมียนมีแต่งทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 3 ตอนหนึ่งกล่าวถึงการสร้างวัดราชโอรสฯไว้ว่า

วัดไหนไหนก็ไม่ลือระบือยศ   เหมือนวัดราชโอรสอันสดใส

เป็นวัดเดิมเริ่มสร้างไม่อย่างใคร   ล้วนอย่างใหม่ทรงคิดประดิษฐ์ทำ

ทรงสร้างด้วยมหาวิริยาธึก   โอฬารึกพร้อมพริ้งทุกสิ่งขำ

ล้วนเกลี้ยงเกลาเพราเพริศดูเลิศล้ำ   ฟังข่าวคำลือสุดอยุธยา

จะรำพันสรรเสริญก็เกินสมุด   ขอยกหยุดพองามตามเลขา

กำหนดสร้างพระอาวาสโดยมาตรา   ประมาณช้านับได้สิบสี่ปี [สั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]

สาระสำคัญในกลอนเพลงยาวๆ นี่กล่าวถึง “วัดราชโอรสฯ” เป็น “วัดเดิมเริ่มสร้าง” ที่ใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งหมด “สิบสี่ปี”

ที่ว่า “เป็นวัดเดิมเริ่มสร้างไม่อย่างใคร” นั้น การทรงสร้างวัดราชโอรสฯ ชั้นเดิมมิได้เกี่ยวข้องแก่ราชการ จึงทรงพระราชดำริเปลี่ยนแปลงแบบอย่างสร้างตามพอพระราชหฤทัย มักเอากระบวนแบบอย่างจีนมาใช้มาก แต่สร้างโดยฝีมืออันประณีต

พ.ศ. 2363 การก่อสร้างวัดราชโอรสฯ ยังไม่แล้วเสร็จ รัชกาลที่ 2 โปรดให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ยกกองทัพไปขัดตาทัพรอพม่าที่เมืองกาญจนบุรี เมื่อพม่าไม่ยกทัพเข้ามา จึงเสด็จยกทัพกลับเมื่อ พ.ศ. 2364

พ.ศ. 2365 จอห์น ครอว์เฟิร์ด ได้เห็นการก่อสร้างวัดราชโอรสฯ แล้วมีบันทึกลงวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2365 ว่า

ตามบรรดาวัดที่เราได้เห็นมาแล้วในกรุงเทพฯ ไม่มีวัดไหน จะทำด้วยฝีมือประณีตงดงามเท่าวัดนี้ ขณะที่เราไปนั้นวัดกำลังก่อสร้างอยู่ เราได้มีโอกาสเห็นลำดับแห่งการก่อสร้าง เช่น องค์พระประธาน ก็เห็นหล่อขึ้นแล้ว แต่บางส่วนวางเรียงรายอยู่ในโรงงานแห่งหนึ่ง รอไว้ประกอบเมื่อภายหลัง ได้ทราบว่าโลหะที่ใช้ในการนี้ คือ ดีบุก สังกะสี ทองแดง เจือด้วยธาตุอื่นๆ อีกบ้างโดยไม่มีส่วนที่แน่นอนเพราะจักเป็นการยากอยู่บ้างที่จะกำหนดส่วน

เมื่อใครๆ ก็มาทำบุญหยอดโน่นหยอดนี่ลงไปตามแต่จะศรัทธาไม่มีการห้ามหวง องค์พระที่หล่อขึ้นเป็นตอนๆ นี้ข้างในกลวง เนื้อหนาประมาณ 2 นิ้ว (ฟุต) เวลาเอาออกจากพิมพ์ดูขรุขระ แต่ข้อนี้ไม่สำคัญ เพราะถึงอย่างไรก็จะต้องลงรักปิดทองอีกชั้นหนึ่ง พระพุทธรูปองค์นี้จะทำเป็นพระนั่ง หน้าตัก 10 ฟิต ซึ่งถ้าจะทำเป็นพระยืนก็จะสูงถึง 22 ฟิต

แผนผังวัดก็คล้ายๆ กับวัดอื่น ๆ คือเป็นรูปสี่เหลี่ยม ตึกกลาง (คือโบสถ์) ซึ่งจะไว้พระประธานเป็นห้องเดียวแต่ใหญ่งาม เห็นมีแท่นรองที่จะประดิษฐานพระประธานอยู่แล้ว ทำด้วยหินอ่อนจีนสลักภาพต้นไม้และสัตว์ หลังคาโบสถ์ดูแปลกแต่ใช่ว่าไม่งาม ใช้กระเบื้องซึ่งเคลือบน้ำยาเขียว

บริเวณรอบๆ โบสถ์เป็นสวน ปลูกต้นไม้ประดับและต้นไม้ผล กุฎิพระเป็นแบบใหม่ เพราะแทนที่จะเป็นเครื่องไม้ กุฏิในวัดนี้ก่อเป็นตึกหมด ใช้อิฐฉาบปูน ทำให้รู้สึกว่าเหมือนบ้านเรือนน้อยๆ ในประเทศอังกฤษ กุฏิเหล่านี้ อยู่รวมกันในด้านหนึ่งแห่งพื้นที่บริเวณวัด มีอยู่ 50 หลังด้วยกัน เรียงเป็นแถว ที่ปลายแถวเป็นกุฏิเจ้าคณะ ใหญ่กว่ากุฏิอื่นๆ” [จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]

จากบันทึกของครอว์เฟิร์ด จะเห็นว่าเมื่อ พ.ศ. 2365 งานก่อสร้างดำเนินต่อเนื่องไปมากแล้ว และกำลังคืบหน้าไปเรื่อยๆ การก่อสร้างที่ต้องใช้ถึง 14 ปี ส่วนหนึ่งจึงเป็นไปเพื่อสร้างสรรค์ศิลปสถาปัตยกรรมแบบใหม่ที่ไม่เคยมีการทำมาก่อน ดังกลอนเพลงยาวของเสมียนมีที่ว่า “เป็นวัดเดิมเริ่มสร้างไม่อย่างใคร”

ส่วนรายละเอียดความงามนั้น กลอนเพลงยาวยอพระเกียรติรัชกาลที่ 3 ที่พระยาไชยวิชิต (เผือก) แต่งทูลเกล้าฯ ให้รายละเอียดไว้ ตามที่ได้ยกมาตอนหนึ่งดังนี้

อันวัดวาอาวาสประหลาดสร้าง   ยักย้ายหลายอย่างโบสถ์วิหาร

ช่อฟ้าหางหงส์ทรงบุราณ   ไม่ทนทานว่ามักจะหักพัง

พระอารามนามราชโอรส   หน้าบันชั้นลดลายฝรั่ง

……..

แท่นศิลาน่านั่งบริกรรม   บำเพ็ญธรรมกรรมฐานที่ศูนย์

พระศรัทธาเป็นเดิมเพิ่มพูน   ยกหนุนศาสนาสารพัด

เหลือมนุษย์สุดสร้างได้อย่างนี้   เป็นยอดทานบารมีโพธิสัตว์

พวกผู้ดีได้อย่างไปสร้างวัด   เป็นทรงนอกออกอัดทุกวันมา [สั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]

แสดงว่าในมุมของงานศิลปสถาปัตยกรรม ไม่ว่าจะป็นความแปลกใหม่ ความงามของวัดราชโอรสฯ คงเป็นที่ยอมรับในจึงเป็นเหตุให้ “พวกผู้ดีได้อย่างไปสร้างวัด เป็นทรงนอกออกอัดทุกวันมา”

นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับ “ความผูกพัน” ของรัชกาลที่ 3 กับวัดราชโอรสฯ ว่าในสมัยที่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่นั้น มักเสด็จมาที่วัดราชโอรสฯ เป็นประจำ ทั้งนี้ คงเป็นเพราะทรงมีความเคารพเลื่อมใส และคุ้นเคยกับพระสุธรรมเทพเถร (ทอง) ผู้เป็นเจ้าอาวาสเป็นพิเศษ

อีกทั้งทรงมีความผูกพันกับวัดที่พระองค์ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ บางครั้งเสด็จมาในเวลาค่ำๆ ให้มหาดเล็กพายเรือเลียบไปตามแนวลำคลองและคูของวัดซึ่งมีกุฏิเรียงราย หากทอดพระเนตรแสงไฟและทรงสดับเสียงท่องบ่นสาธยาย ก็จะทรงให้หยุดเรือพระที่นั่ง และทรงให้เคาะหน้าต่าง เมื่อพระภิกษุโผล่ออกมาก็จะทรงเอาน้ำมันมะพร้าวถวาย หากผ่านไปกุฏิใดไม่มีแสงไฟและเสียงท่องหนังสือก็จะเสด็จผ่านไป เหตุการณ์เช่นนี้มีอยู่เสมอ ทั้งยามว่างจากราชกิจก็มักจะพาผู้ใกล้ชิดมาพักผ่อน นมัสการสนทนากับเจ้าอาวาส พายเรือเล่นรอบๆ วัด รอบๆ เกาะเป็นที่สนุกสนาน (หนังสือวัดราชโอรสฯ : 2525 : หน้า 137)

นอกจากนี้ ยังมีคำบอกเล่าเกี่ยวกับพระแท่นที่ประทับโคนต้นพิกุลในบริเวณโบสถ์วัดราชโอรสฯ อีกเรื่องหนึ่งดังนี้ (หนังสือวัดราชโอรสฯ : 2525: หน้า 51-52)

ในบริเวณกำแพงแก้วที่ลานมุมซ้ายด้านหน้าโบสถ์มีต้นพิกุลใหญ่ต้นหนึ่งเล่ากันมาว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เมื่อเสด็จมาคุมงานก่อสร้าง หรือตรวจงานก่อสร้าง หรือเสด็จประพาสวัดนี้ จะเสด็จประทับบนพระแท่นหินที่วางอยู่โคนต้นพิกุลนี้เป็นประจำ และเคยมีรับสั่งว่า

“ถ้าข้าตายแล้ว ข้าจะมาอยู่ที่ต้นพิกุลนี้”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

สุจิตต์ วงษ์เทศ. “วัดสำคัญ 3 วัด ในชุมชน ‘ข้าหลวงเดิม’ ” ใน, แม่น้ำลำคลองสายประวัติศาสตร์. สำนักพิมพ์มติชน. พิมพ์ครั้งที่ 3, เมษายน 2544.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2565